ยังมีนักฆ่าที่แฝงตัวอยู่ในผืนป่า: A different killer lurking in the forest

ไทยแรนเจอร์ขอแสดงความไว้อาลัยแด่ผู้พิทักษ์ป่าผู้จากไป

ไทยแรนเจอร์ขอแสดงความไว้อาลัยแด่ผู้พิทักษ์ป่าผู้จากไป

ขอขอบคุณบทความจาก wcs ประเทศไทย และ bangkokpost

ยูแอ วัย 18 ปี ไม่อาจตัดใจกลับออกมาจากงานศพได้ แม่และเพื่อนๆ ของสาวกะเหรี่ยงผู้นี้ต่างคะยั้นคะยอให้เธอกลับ แต่เธอตอบ “ไม่ ฉันอยากอยู่ต่ออีกหน่อย” ดวงตาของเธอเปียกรื้นไปด้วยน้ำตา ยูแอกำลังตั้งครรภ์ และมีกำหนดคลอดปลายเดือนนี้ ร่างของสามีเธอ นายอานทอง งามยิ่ง ตั้งอยู่ด้านนอกเมรุเผาศพ กำลังจะเข้าพิธีฌาปนกิจตามธรรมเนียมของพระพุทธศาสนา ยู แอเฝ้าแต่จ้องมองร่างนั้นพร้อมกับสะอื้น “ฉันไม่รู้จะทำยังไงกับชีวิตตัวเองแล้วตอนนี้” เธอเอ่ยอย่างแผ่วเบาหลังจากพอจะสงบจิตสงบใจลงได้บ้าง สองสัปดาห์ก่อนหน้า นี้ ยูแอยังปลื้มปีติเมื่อเธอและสามีหนุ่มของเธอได้รับข่าวดีจากแพทย์ในอุ้มผาง ว่า ลูกของเขาและเธอจะคลอดในวันที่ 30 กันยายน แต่ในคืนวันที่ 12 กันยา นายอานทอง เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ได้เสียชีวิตด้วยลูกปืน AK-47 ที่ทะลุเข้ากลางอก ระหว่างปะทะกับกลุ่มพรานล่าเสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ณ เขตชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศพม่าในจังหวัดตาก

 เหยื่อรายใหม่ของนายพราน

เหตุการณ์ปะทะกับพรานล่าเสือโคร่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา การล่าเสือโคร่งในพื้นที่ 18,000 ตารางกิโลเมตรของผืนป่าตะวันตก (WEFCOM) เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้นมีเจ้าหน้าที่ถูกพรานสังหารไปแล้วไป 4 นาย และบาดเจ็บอีก 6 นาย ผืนป่าแห่งนี้ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง รวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 6,400 ตร.กม. และเป็นผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย หัวหน้าสมปอง ทองสีเข้ม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ให้ความสนใจกับเหตุการณ์ล่าสัตว์ป่าครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษ “ทุกวันนี้มีปัญหาพรานล่าสัตว์ป่าหนักขึ้นกว่าแต่ก่อน” เขากล่าวกับทีมงานสเปกตรัม เมื่อทีมงานได้เข้าไปเยือนในพื้นที่ป่าลึกสุดเขตตะวันออกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร “เราได้ทำงานกันอย่างหนักมาโดยตลอดเพื่อที่จะปกป้องสัตว์ป่าในพื้นที่” หัวหน้าสมปองกล่าว และเล่าไปถึงครั้งแรกที่พบนายพรานที่เข้ามาล่าเสือโคร่งในพื้นที่ โดยเฉพาะในทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง เพิ่งจะมีข่าวมาเมื่อสามปีก่อนนี้ว่ามีพรานล่าเสือโคร่งอยู่ในพื้นที่ เมื่อต้นปี 2553 หัวหน้าสมปองและทีมเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่ามีเสือโคร่งถูกฆ่าตายแล้วอย่างน้อยสามตัวในพื้นที่ห้วยขาแข้ง ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการเขตทุ่งใหญ่นเรศวรออกไปเพียง 10 กม. เสือที่ถูกฆ่าสามตัวนั้นเป็นแม่เสือโคร่งและลูกอีกสองตัว แต่สิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสะเทือนใจที่สุดคือเสือเหล่านั้นถูกวางยา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการสุ่มฆ่าแบบไม่เลือก และในครั้งนั้นพรานก็ได้เอาชิ้นส่วนทุกอย่างของแม่เสือโคร่งไป ทิ้งไว้แต่เพียงซาก

 

จากการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติม เชื่อว่าเป็นผลงานชาวบ้านบางกลุ่มที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ป่า และยังไม่มีการเข้าจับกุมจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เจ้าหน้าที่พบหลักฐานการวางยาเพิ่มเติม พบสัตว์ป่าบางชนิด รวมถึงเก้งที่ถูกผสมยาและใช้เป็นเหยื่อล่อ วิธีการเช่นนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อกว่า 15 ปีก่อน เมื่อมีการพบแร้งฝูงหนึ่งตายทั้งฝูงหลังจากกินซาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้เชื่อว่าซากสัตว์ดังกล่าวถูกผสมยาเบื่อไว้

ประมาณปลายปี 2553 พบช้างตัวเต็มวัยสองตัวถูกฆ่าและผสมยาเบื่อไว้ สันนิษฐานว่าช้างทั้งสองตัวถูกฆ่าเพื่อใช้เป็นเหยื่อล่อเสือโคร่ง เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสามแห่ง ได้แก่ ทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง และอุ้มผาง สนธิกำลังเข้าตรวจสอบกรณีดังกล่าว และกลางปี 2554 ก็เกิดเหตุปะทะกับกลุ่มนายพรานล่าเสือโคร่ง

วันที่ 6 มิถุนายน 2554 กลุ่มชาวเขาเผ่าม้งจำนวน 6-7 คนเดินทางเข้าสู่ทุ่งใหญ่นเรศวรเพื่อดูลาดเลากำลังของเจ้าหน้าที่ในหน่วยพิทักษ์ป่าแห่งหนึ่ง วันรุ่งขึ้น มีชาวม้งกลับออกไปหนึ่งคน แต่ที่เหลือไม่ได้กลับออกมาด้วย ในวันที่ 24 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้งนำโดยนายพลวีร์ บูชาเกียรติ รายงานว่ามีเหตุปะทะกับนายพรานกลุ่มหนึ่ง แล้วการออกไล่ล่าเพื่อติดตามตัวกลุ่มนายพรานดังกล่าวก็เริ่มต้นขึ้นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสะกดรอยติดตาม จนในที่สุดก็สามารถจับกุมชาวม้งได้หนึ่งคนซึ่งถูกยิงได้รับบาดเจ็บ และชาวเวียดนามอีกหนึ่งคนในรีสอร์ทแห่งหนึ่งในอำเภออุ้มผางสิ่งที่สร้างความสะเทือนใจแก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าก็คือ ภาพถ่ายของพรานชาวม้งกับร่างของเสือโคร่งตัวหนึ่ง เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเปรียบเทียบลายของเสือโคร่งกับที่ปรากฏในฐานข้อมูลแล้วพบว่า เสือโคร่งตัวดังกล่าวเคยพบในพื้นที่ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ไม่ใช่เสือโคร่งในประเทศพม่าตามที่ผู้ต้องสงสัยกล่าวอ้าง“จากการที่พวกพรานเข้ามาดูลาดเลาพวกเราก่อน แสดงให้เห็นว่าพวกมันมีการเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี ซึ่งทำให้ผมเชื่อว่า เรากำลังเผชิญหน้าอยู่กลับแก๊งนายพรานมืออาชีพ” หัวหน้าสมปองกล่าว“แต่นี่เป็นแค่พรานกลุ่มเดียวที่เราวางแผนออกติดตาม เราไม่รู้เลยว่าในป่าจะยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกไหม” เมื่อจับกุมผู้ต้องสงสัยสองรายส่งดำเนินคดีแล้ว ในที่สุดทั้งสองก็ถูกพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลาห้าปีและสี่ปี จากนั้น เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าก็ออกติดตามหาตัวพรานที่เหลือต่อไป หนึ่งในเทคนิคที่ผู้พิทักษ์ป่านำมาใช้คือ “การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol)” ซึ่งเป็นกลยุทธ์การปฏิบัติงานของทีมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโดยใช้อุปกรณ์ GPS และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบและรายงานความผิดปกติต่างๆ ที่พบในพื้นที่ป่าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ หัวหน้าสมปองให้ข้อมูลว่า เทคนิคใหม่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่านี้ค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพ และบรรดาพรานป่าก็เหมือนจะถูกกวาดล้างไปได้เป็นเวลาประมาณ 18 เดือน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของเขาไปปะทะกับกลุ่มพรานม้งเมื่อต้นเดือนนี้

 

วันที่ 5 กันยายน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหัวยขาแข้งรายงานเหตุปะทะกับกลุ่มพรานม้ง และได้เรียกกำลังเสริมไปช่วยติดตามจับกุม จากนั้น เจ้าหน้าที่ก็ได้พบซากเหยื่อล่อ ไม่ว่าจะเป็นเก้ง หมี หมูป่า และชะนี บนพื้นป่าในหัวขาแข้ง เจ้าหน้าที่ติดตามแกะรอยกลุ่มนายพรานจนได้ทราบว่า กลุ่มพรานดังกล่าวได้หลบหนีเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจำนวน 13 นายติดตามแกะรอยกลุ่มนายพรานเมื่อเข้าสู่พื้นที่เขตฯ อุ้มผาง คืนวันที่ 12 กันยายน เจ้าหน้าที่ไม่พบว่ากลุ่มนายพรานมีอาวุธ ขณะที่กำลังเตรียมการเข้าจับกุมนั้นเอง ทันใดนั้นกลุ่มพรานก็เปิดฉากยิงสาดกระสุน AK-47 เข้าใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ จากการปะทะ ส่งผลให้นายอานทองและเจ้าหน้าที่ร่วมทีม นายบุญศิลป์ อินทปัญญา อายุ 51 ปี ถูกยิงเสียชีวิต และเจ้าหน้าที่อีกสองนายได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนนายพรานเสียชีวิตหนึ่งคน เจ้าหน้าที่ติดตามกลุ่มนายพรานที่เหลือต่อ อีกสองสามวันต่อมาจับกุมได้อีกสองคน และไม่น่าเชื่อว่า หนึ่งในนั้นเป็นเพื่อนของพ่อของนายอานทอง อดีตสหายที่เคยต่อสู้กับรัฐเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาในระหว่างเหตุการณ์ประท้วงโดยกลุ่มคอมมิวนิสต์เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน

 

หัวหน้าสมปองเล่าว่า “พ่อของอานทองให้การยืนยันเมื่อได้เห็นพรานคนนั้น ตอนที่ทั้งสองได้พบกัน เขาเฝ้าแต่ถามสหายเก่าของเขาว่า ‘ฆ่าลูกชายผมทำไม’” จนถึงขณะนี้ ตำรวจอุ้มผางก็ยังคงช่วยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าติดตามนายพรานอีกสองคนที่เหลือ ทางด้าน พ.ต.ท.วิรัติ พ่วงอินทร์ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอำเภออุ้มผาง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามกลุ่มนายพราน และตามรายงานของสายข่าวแจ้งมาว่า ทั้งสองน่าจะหลบหนีและซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านชาวม้งแห่งหนึ่งในเขตชายแดนฝั่งพม่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดต่อกับตำรวจของพม่าเพื่อขอความช่วยเหลือ ตำรวจไทยได้ให้ภาพถ่ายของพรานสองคนดังกล่าวไว้กับตำรวจพม่า และหวังว่าทางพม่าจะสามารถค้นหาและจับกุมตัวได้ในไม่ช้า สองสามวันต่อมาขณะรอข่าวการจับกุมนายพราน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอีกนายหนึ่งถูกยิงเข้าที่ต้นคออาการสาหัส และเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลศิริราช หลังจากที่ปะทะกับนายพรานกลุ่มหนึ่ง ในครั้งนี้ พบหลักฐานการวางยา พร้อมด้วยซากชะนี 10 ตัว ที่คาดว่าจะนำมาใช้เป็นเหยื่อล่อ

ปฏิบัติการตามขั้นตอน

ในผืนป่าตะวันตก โดยเฉพาะในใจกลางผืนป่าคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางที่มีอาณาเขตเชื่อมต่อกันนั้น เสือโคร่งและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆ ถูกนำมาใช้เป็นดัชนีชี้วัดเพื่อกำหนดเป้าหมายในการป้องกันและเพื่อประเมินการดำเนินงานอนุรักษ์ในพื้นที่ ทั้งนี้ เนื่องจากสัตว์ป่าเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสือโคร่ง คือสัตว์ที่เป็นเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ (Flagship Species) ซึ่งจัดว่าเป็นชนิดพันธุ์ที่ขึ้นอยู่กับการอนุรักษ์ หมายความว่า สัตว์เหล่านี้ต้องการการปกป้องเพื่อที่จะอยู่รอด การอยู่รอดของสัตว์ป่าเหล่านี้มีความสำคัญต่อความสำเร็จของการป้องกันและอนุรักษ์พื้นที่ป่าโดยภาพรวม เสือโคร่งอยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหาร การอยู่รอดและการดำรงอยู่ของเสือโคร่งจึงมีความหมายต่อการอยู่รอดและการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์อื่นๆ และต่อการอยู่รอดของผืนป่า

ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยและอาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ WCS และ WWF ได้ทำงานศึกษาวิจัยเสือโคร่งเพื่อจัดทำฐานข้อมูลที่จะเอื้อต่อการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์ได้ดียิ่งขึ้นงานศึกษาวิจัยดังกล่าวนำทีมโดย ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ นักวิจัยรุ่นบุกเบิกผู้มีประสบการณ์ในการติดตามประชากรเสือโคร่งมากว่า 20 ปี ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้รับทราบข้อมูลว่า มีเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ทั่วทั้งผืนป่าประมาณ 100-120 ตัว และประมาณ 60-65 ตัวอาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สามแห่ง คือ ทุ่งใหญ่นเรศวร (ด้านตะวันออกและด้านตะวันตก) และห้วยขาแข้ง ส่วนประชากรเสือโคร่งที่เหลือพบในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ คลองลาน และป่าอนุรักษ์อื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง ดร.อนรรฆกล่าวว่า จำนวนประชากรดังกล่าวถือได้ว่าสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

กลุ่มนักวิจัยด้านสัตว์ป่าเข้าใจดีถึงอันตรายของการล่าที่มีต่อประชากรเสือโคร่ง กลางปี 2543 นักวิจัยจึงได้พัฒนาระบบการตรวจวัดปัจจัยคุกคามโดยการนำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาใช้ ตัวอย่างเช่น ในทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ทีมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจำนวนเก้าทีมได้รับมอบหมายให้ออกลาดตระเวนในพื้นที่ป่า กระนั้น ก็ยังคงมีข้อจำกัดด้านขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน ผืนป่าตะวันตกมีลักษณะภูมิประเทศที่ทุรกันดารยากต่อการเข้าถึง และจำนวนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าก็มีอยู่อย่างจำกัด นอกจากนี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานบางแห่งยังมีชุมชนทั้งที่อยู่ติดกับพื้นที่และอยู่ภายในพื้นที่ และการล่าสัตว์ก็เป็นสิ่งที่ยั่วยวนใจนักล่าที่มีประสบการณ์

 

สำหรับทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,520 ตร.กม. หัวหน้าสมปองมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเพียงประมาณ 100 นาย ซึ่งหมายความว่า เจ้าหน้าที่แต่ละนายต้องรับผิดชอบพื้นที่ป่ามากกว่า 15 ตร.กม. ดร.อนรรฆกล่าวว่า ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาการล่าสัตว์ป่า แต่ยังคงต้องอาศัยการจัดหาทรัพยากรและกำลังคนที่เพียงพอเพื่อให้ระบบดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แม้จะรู้ ว่า การล่าสัตว์ป่าอาจเชื่อมโยงกับเครือข่ายอาชญากรรมในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ดร.อนรรฆก็เชื่อว่า หากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามีกำลังและความพร้อมในการปกป้องพื้นที่ของตน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะสามารถจัดการกับปัจจัยคุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.อนรรฆ กล่าวว่า ขนาดของพื้นที่ป่านั้นมีมากกว่าทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ ด้วยอัตราส่วนเจ้าหน้าที่หนึ่งนายต่อพื้นที่ป่าโดยเฉลี่ย 15 ตร.กม.นี้ ถือว่าเป็นระดับกำลังคนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ อย่างเช่น อินเดีย ตัวอย่างอุทยานแห่งชาติคาซิรังกาในรัฐอัสสัม มีเจ้าหน้าที่ถึง 600 นายในการปกป้องพื้นที่ป่าน้อยกว่า 1,000 ตร.กม. ซึ่งหมายความว่า เจ้าหน้าที่แต่ละนายมีพื้นที่ที่จะต้องดูแลน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับเจ้า หน้าที่ในผืนป่าตะวันตก และนี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ว่า ทำไมเสือโคร่งที่มีอยู่ราว 100 ตัวจึงได้รับการปกป้องที่ดีกว่า ดร.อนรรฆให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในอุทยานแห่งชาติจิตวันของเนปาล มีการระดมเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาช่วยป้องกันพื้นที่ป่า เจ้าหน้าที่ประมาณ 1,000 นายลาดตระเวนในพื้นที่ประมาณ 1,000 ตร.กม. ซึ่งทำให้เสือโคร่งโดยประมาณ 100 ตัวอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัย “หากเรามีกำลังคน เราคงไม่ต้องวิตกกังวลถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่มีแบบนั้น เราต้องทำงานหนักกันจนเกินกำลังเพื่อที่จะปกป้องพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง” ดร.อนรรฆกล่าว “นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า เราประสบความสำเร็จในการป้องกันพื้นที่ด้วยการลาดตระเวน”

ดร.อนรรฆให้ความเห็นว่า ภารกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดของกรมอุทยานฯ คือการจัดการทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ดียิ่งขึ้น อย่างเช่น ในพื้นที่ที่ยังบริสุทธิ์ซึ่งเป็นหัวใจของผืนป่ามรดกโลกนี้ควรให้ความสำคัญ เป็นอันดับหนึ่ง และควรได้รับกำลังคนที่เพียงพอ แม้พรานป่าจะลอบเข้ามาในพื้นที่ แต่ด้วยการผนึกกำลังลาดตระเวน เจ้าหน้าที่จะสามารถติดตามและจับกุมได้อย่างรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต้องได้รับการฝึกและสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อให้สามารถ ปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ในปัจจุบัน อาวุธที่มีอยู่นั้นล้าสมัยและมักจะใช้การไม่ได้เนื่องจากมีสภาพเก่าแก่และ ชำรุด “ผมอยากจะบอกว่า เรามีระบบที่ลงตัวแล้ว ซึ่งเราก็ควรจะได้รับในสิ่งที่จำเป็นต้องมี” ดร.อนรรฆกล่าว “ผืนป่าใดก็ตามที่มีเสือ ก็เป็นการบ่งบอกเราอยู่แล้วว่า ผืนป่าเหล่านั้นได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะต้องถูกทำโทษทุกครั้งที่มีเสือถูกฆ่าจึงเป็น เรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น”

 

“การติดตามบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ผ่านระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพและการรายงาน อย่างโปร่งใสต่างหากที่จะช่วยแก้ปัญหา ไม่ใช่การลงโทษ เราต้องการสิ่งเหล่านี้ เพราะการอนุรักษ์สัตว์ป่าเป็นอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์ และต้องอาศัยความโปร่งใสในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เห็นพ้องกับดร.อนรรฆว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม โดยกล่าวว่า ทางกรมอุทยานฯ กำลังวางแผนจะพูดคุยในประเด็นดังกล่าวกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับเงินสนับ สนุนเพิ่มเติม ดร.ธีรภัทรกล่าวว่า เสือโคร่งมีความสำคัญสูงสุดต่อระบบนิเวศในผืนป่าตะวันตก และทางกรมฯ จะทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะปกป้องสัตว์ป่าชนิดนี้

นอกเหนือจากการส่งเสริมการบริหารจัดการเขตรักษาพันธุ์ต่างๆ แล้ว กรมอุทยานฯ จะพยายามตรวจสอบแผนปฏิบัติการ และกำหนดเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งจนถึงปี 2565 โดยเน้นให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าควบคู่ไปกับการให้การศึกษาในชุมชนใกล้เคียง ดร.ธีรภัทรยังเชื่อว่า การล่าสัตว์ป่าในผืนป่าแห่งนี้โยงใยไปถึงเครือข่ายข้ามพรมแดน โดยทางกรมอุทยานฯ ได้พยายามที่จะประสานความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เพื่อที่จะปราบปรามกลุ่มอาชญากรเหล่านี้ “แต่ในระยะยาว เรื่องนี้เกี่ยวกับจิตสำนึกของสาธารณชน หากประชาชนห่วงใยสัตว์ป่าและผืนป่า พวกเขาก็จะไม่ล่าสัตว์” ดร.ธีรภัทรกล่าว

 

จากคอลัมน์ “A different killer lurking in the forest” จาก Bangkok Post

URL http://www.bangkokpost.com/news/investigation/372044/a-different-killer-lurking-in-the-forest

บทความเรื่องนี้แปลโดยได้รับอนุญาตจาก บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในต้นฉบับภาษาอังกฤษ บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) จะไม่รับผิดชอบในส่วนของการแปลหรือการเปลี่ยนแปลงข้อมูล

แปลโดย ณัฐินี เจรจาศิลป์ / สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย