ผ่าระบบลาดตระเวน พิทักษ์”เสือ”ห้วยขาแข้ง

ผ่าระบบลาดตระเวน พิทักษ์”เสือ”ห้วยขาแข้ง

วิภาวี จุฬามณี

ขอขอบคุณบทความจาก www.khaosod.co.th

 

1.ตามรอบเสือ 2.รอยเท้าเสือ 3.ดมฉี่เสือ 4.ภาพถ่ายเสือในป่าห้วยขาแข้ง 5.ดร.ศักดิ์สิทธิ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็น 6.ลอยเล็บเสื้อ

1.ตามรอบเสือ
2.รอยเท้าเสือ
3.ดมฉี่เสือ
4.ภาพถ่ายเสือในป่าห้วยขาแข้ง
5.ดร.ศักดิ์สิทธิ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
6.ลอยเล็บเสื้อ

 

 

 

 

 

“หยุดตรงนี้ก่อนครับ” เสียงเรียกเบาๆ ทว่าเคร่งขรึมของพี่อ่อนสา เจ้าหน้า ที่พิทักษ์ป่า ประจำสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ จ.อุทัยธานี ทำให้ผู้ร่วมทีมอีกนับ 10 คน ต้องชะลอฝีเท้า มองดูเขาที่กำลังกางเสารับคลื่นวิทยุชูขึ้นเหนือหัว

เจ้าหน้าที่หนุ่มส่ายเสารับสัญญาณไปมาอย่างช้าๆ เงี่ยหูฟังอยู่ครู่หนึ่ง เมื่อเห็นว่าไม่มีสิ่งผิดปกติจึงพับเก็บไว้ แล้วบอกให้ทุกคนออกเดินต่อ

“เครื่องรับคลื่นวิทยุจับสัญญาณจากปลอกคอที่ติดไว้กับเสือได้ แต่จู่ๆ ก็หายไป มันคงไม่อยู่แถวนี้แล้ว”

พี่อ่อนสาว่าพลางเดินนำหน้า บางจังหวะแวะหยุดชี้ให้ดูร่องรอยที่เสือโคร่งเจ้าถิ่นทิ้งไว้ ทั้งรอยเท้า รอยเล็บ และกลิ่นฉี่แสดงอาณาเขต

การเดินป่าในวันนี้ เป้าหมายคือนำเจ้าหน้าที่จากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง 7 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย และไทย มาเรียนรู้ “ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ” (Smart Patrol System) ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทดลองใช้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แหล่งอาศัยสำคัญของเสือโคร่งในประเทศไทย จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

โครงการฝึกอบรมดังกล่าว เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ สถาบัน Global Tiger initiative (GTI) สถาบันสมิธโซเนียน และธนาคารโลก มีระยะเวลาการฝึกอบรมตั้งแต่วันที่ 5-21 ม.ค. ที่ผ่านมา และ มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจากประเทศข้างต้นเข้าร่วมกว่า 30 คน

ช่วงแรกของการฝึกอบรมเป็นการบรรยายให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ของเสือโคร่งในปัจจุบัน โดย น.ส.บุษบง กาญจนสาขา หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ

อาจารย์บุษบงกล่าวว่า ภายในไม่กี่ศตวรรษมานี้ ประชากรเสือโคร่งทั่วโลกลดลงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีเสือโคร่งเหลืออยู่ราว 3,500 ตัว จำแนกได้เป็น 9 สายพันธุ์ แต่มี 3 สายพันธุ์ที่สูญสิ้นไปจากโลกนี้แล้ว ได้แก่ เสือโคร่งบาหลี (Bali tiger) เสือโคร่งแคส เปียน (Caspian tiger) และเสือโคร่งชวา (Javan tiger) ส่วนที่เหลือก็อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากถูกล่าเพื่อการค้า ป่าที่อยู่อาศัยถูกทำลาย และสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือโคร่ง อาทิ กวาง หมูป่า ควายป่า กำลังถูกมนุษย์ล่าอย่างหนัก

1.ข้อมูลการกระจายของเหยื่อโคร่งที่ปนะมวลผลแล้ว 2.เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจาก 7 ประเทศอาเซียน 3.เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจากเวียดนามร่วมกิจกรรม 4.จีพีเอส อุปกรณ์สำคัญของชุดลาดตระเวน 5.ฟังบรรยายวิกฤตเสือโคร่ง

 

1.ข้อมูลการกระจายของเหยื่อโคร่งที่ปนะมวลผลแล้ว

2.เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจาก 7 ประเทศอาเซียน

3.เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจากเวียดนามร่วมกิจกรรม

4.จีพีเอส อุปกรณ์สำคัญของชุดลาดตระเวน

5.ฟังบรรยายวิกฤตเสือโคร่ง

 

 

 

“ป่าที่เหมาะจะเป็นที่อยู่อาศัยของเสือต้องมีน้ำและสัตว์ที่เป็นอาหารอย่างเพียงพอ ปัจจุบันมีเสืออาศัยอยู่เพียงใน 13 ประเทศของเอเชีย ประเทศเหล่านี้กำลังเผชิญหน้ากับการเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว การลดลงของพื้นที่ทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งผลลัพธ์คือ ประชากรเสือกำลังใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้” หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า กล่าวแสดงความกังวล

ส่วนการฝึกภาคปฏิบัตินั้น เจ้าหน้าที่ทุกคนจะได้ลงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เพื่อศึกษาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และวิถีชีวิตของเสือโคร่งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย อธิบายถึงที่มาและความสำคัญของระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพว่า เริ่มมาตั้งแต่การจัดทำโครงการจัดการผืนป่าตะวันตก เมื่อปี 2543 ซึ่งกรมอุทยานต้องการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ให้เดินป่าแล้วมีข้อมูลกลับมาอย่างเป็นระบบ จึงเริ่มฝึกให้เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องจีพีเอส และทำฐานข้อมูลแบบง่ายๆ

ต่อมาช่วงปี 2548 การทำงานของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างอ่อนแอ ไม่มีวินัย เพราะไม่ได้ลาดตระเวนอย่างจริงจัง จึงคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้มีความเข้มแข็งทั้งทางร่างกายและจิตใจ ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพนี้จึงถูกนำมาใช้ เริ่มที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นแห่งแรก ช่วงแรกใช้โปรแกรม MIKE ให้เจ้าหน้าที่กรอกแบบฟอร์มการลาดตระเวนอย่างง่ายๆ และเปลี่ยนมาใช้โปรแกรม MIST ซึ่งใช้กันแพร่หลายในหลายประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ช้าง และแรด เป็นต้น

สําหรับโปรแกรม “MIST” (spatial Management Information System) หรือ “ระบบการจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่” นั้น เป็นโปรแกรมที่ช่วยในการจัดเก็บข้อมูลการลาดตระเวน และประมวลผลออกมาในรูปของตัวเลข แผนที่เส้นทางการเดินลาดตระเวน รวมถึงปัจจัยคุกคามที่เกิดขึ้นในพื้นที่

อธิบายง่ายๆ คือ ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ลาดตระเวนจะต้องกรอกข้อมูลต่างๆ ลงในแบบฟอร์ม ได้แก่ สถานที่ วันเวลาในการลาดตระเวน ข้อมูลสัตว์ป่า และร่องรอยที่พบ กิจกรรมการเคลื่อนไหวของมนุษย์ เช่น การล่าสัตว์ ทำไม้ กิจกรรมการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การจับกุม การทำประวัติ และจะต้องถ่ายภาพประกอบด้วย

หลังการลงพื้นที่ ข้อมูลภาคสนามทั้งหมดนี้ จะได้รับการตรวจสอบความถูกต้อง และมีเจ้าหน้าที่อีกส่วนนำข้อมูลบันทึกลงในโปรแกรม MIST ก่อนนำมาสรุปเป็นรายงานประจำเดือน หรือรายงานผลระดับพื้นที่ และใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการประชุมร่วมกันระหว่างหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์และตัวหน้าชุดลาดตระเวนของแต่ละหน่วย รวมถึงใช้เป็นข้อมูลในการลาดตระเวนครั้งต่อไป

ข้อดีของระบบนี้ คือทำให้เห็นพื้นที่ครอบคลุมและความเข้มข้นของการลาดตระเวน เห็นการกระจายและความเข้มข้นของปัจจัยคุกคาม เห็นการกระจายและความหนาแน่นของสัตว์ป่าเป้าหมาย นอกจากนี้ยังเห็นผลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เป็นรายบุคคล รวมถึงจำนวนวันและระยะทางการลาดตระเวนของแต่ละทีมในแต่ละครั้ง ซึ่งน่าจะนำมาเป็นมาตรฐานใหม่ในการพิจารณาความดีความชอบโดยดูจากผลงาน ไม่ใช่ดูจากเป็นคนของใคร อย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

“หลังเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้ เราเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทำงานเข้มข้นขึ้น เพราะจำนวนวันและความครอบคลุมของพื้นที่ลาดตระเวนถูกบันทึกไว้หมด นอกจากนี้ จำนวนปางพักพราน และห้างยิงสัตว์ ยังลดลงตามลำดับ เพราะเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเป็นระบบมากขึ้น ขณะที่สัตว์ป่า เช่น วัวแดง ซึ่งเป็นอาหารของเสือก็ถูกยิงถูกล่าน้อยลงด้วย” ดร.อนรรฆ บรรยายประสิทธิภาพ

แม้ระบบที่ดีจะช่วยให้การพิทักษ์สัตว์ป่ามีประสิทธิภาพมากขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานก็เป็นสิ่งสำคัญ ดร.อนรรฆ เล่าว่า สาเหตุที่ทำให้การลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพต่ำ ส่วนหนึ่งเกิดจากรัฐบาลไม่มีงบประมาณสำหรับการลาดตระเวน การลาดตระเวนแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าอาหารเอง ทั้งๆ ที่เงินเดือนก็น้อยอยู่แล้ว และบางครั้งเครื่องมือ อาวุธ ก็ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่มีใครอยากไป

“เรื่องนี้รัฐบาลต้องสนใจ เมื่อไรพลิกตรงนี้ได้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ถ้าไม่ปลูกความภาคภูมิใจในงาน การพิทักษ์ป่าก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลย” ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ให้ความเห็น

ด้านคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่อย่าง ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ ผู้ทำวิจัยเรื่องนิเวศวิทยาของเสือโคร่ง และประเมินประชากรเหยื่อของเสือโคร่งในป่าห้วยขาแข้งมาเป็นเวลานาน กล่าวถึงสถานการณ์ของเสือโคร่งในไทยว่า การสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2553 เมืองไทยมีเสือโคร่งอยู่ 190-250 ตัว เฉพาะในป่าห้วยขาแข้งมีอยู่ 64 ตัว

มาตรการสำคัญที่ใช้อนุรักษ์เสือโคร่งในห้วยขาแข้ง คือการนำระบบลาดตระเวนแบบใหม่มาใช้ เนื่องจากในอดีต คือการให้เจ้าหน้าที่เขียนรายงานมา บางครั้งทำจริง บางครั้งไม่ได้ทำ แต่การลาดตระเวนแบบใหม่จะมีหลักฐานชัดเจน แก้ปัญหาได้ตรงจุด และเป็นข้อมูลสำคัญให้ผู้บริหารเห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร และเห็นว่าเจ้าหน้าที่ภาคสนามทำงานเต็มที่แล้ว ถ้ามีปัญหาผู้บริหารจะได้ให้การสนับสนุน

“เราเอาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาใช้ตั้งแต่ปี 2548 และเอาการวิจัยมาเป็นตัววัดว่า การลาดตระเวนแบบนี้มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน และพบว่าสถาน การณ์เสือโคร่งในพื้นที่เริ่มดีขึ้น จากที่เราเคยพบเสือ 40 กว่าตัว เป็น 60 กว่าตัวในปัจจุบัน” ดร.ศักดิ์สิทธิ์ชี้ผล

ส่วนปัญหาเรื่องการขาดแคลนเครื่องมือ และงบประมาณ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ปฏิเสธว่าไม่ใช่ปัญหา ตราบใดที่เจ้าหน้าที่ยังมี “หัวใจ” ตระหนักว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ มีความสำคัญต่อผืนป่า และสัตว์ป่าของประเทศมากแค่ไหน

“เราต้องมองข้ามความขาดแคลนทั้งเรื่องคน และอุปกรณ์ แล้วทำงานให้เต็มที่เท่าที่เราจะทำได้ ถ้ามัวแต่รอให้ทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม งานพิทักษ์ป่าก็เริ่มไม่ได้เสียที แม้ทั้งทีมจะมีปืนอยู่แค่กระบอกเดียว แต่ทุกคนก็มีมีด และต้องทำงานให้ได้เหมือนๆ กัน” หัวหน้าโครงการวิจัยเสือแห่งป่าห้วยขาแข้งย้ำหนักแน่น

สำหรับงานอนุรักษ์สัตว์ป่า นอกจากระบบที่มีคุณภาพ “หัวใจ” ที่มีคุณภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ