ความสุขของพระยาพนานุจร

 

พระยาพนานุจร

พระยาพนานุจร
ผู้วางรากฐานการศึกษาวนศาสตร์

“ความสุขคือผลแห่งร่างกายอันสดใส จิตใจผ่องแผ้วปราศจากมลทิน มีความรู้ความเข้าใจในศิลปวิทยา พร้อมด้วยความศรัทธา เชื่อมั่นในศาสนา ด้วยกาย วาจา ด้วยน้ำจิต จงทำให้เป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่เพื่อนมนุษย์และสัตว์อื่นให้น้อยที่สุด และให้เป็นประโยชน์แก่เขามากที่สุดเท่าที่จะทำได้” นี่เป็นนิยามความสุขของพระยาพนานุจร รัฐมนตรีกระทรวงเกษตราธิการสมัยก่อตั้งโรงเรียนป่าไม้ และเป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานการศึกษาวิชาวนศาสตร์ของไทยคนหนึ่ง
หากมีโอกาสถามผู้บริหารระดับสูงหรือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติว่า ใครคือบุคคลที่สำคัญที่สุดในการทำหน้าที่คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ คำตอบที่ได้รับก็คือผู้พิทักษ์ป่าซึ่งปฏิบัติงานคุ้มครองป่าไม้ สัตว์ป่า แนวปะการัง ตามพื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน และพื้นที่คุ้มครองอื่นๆ บุคคลผู้ซึ่งเป็นหลักประกันในการรักษาความยั่งยืนในระบบนิเวศของประเทศ ในเมื่อได้รับหน้าที่ที่สำคัญในการดูแลรักษาสมบัติอันล้ำค่าของมวลมนุษย์ เช่นนี้ เหตุใดผลตอบแทน สวัสดิการ ของเขาเหล่านั้นกลับน้อยนิด โดยเฉพาะผู้พิทักษ์ป่าที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งเป็นแนวหน้าในการการปฏิบัติงานลาดตระเวนป่า(The thin green line) ฟันเฟืองตัวเล็กๆกับภารกิจสำคัญเพื่อคนทั้งชาติแลกกับค่าจ้างเดือนละไม่กี่ พันบาท บางเดือนค่าจ้างก็ตกเบิกเลื่อนเวลาไปอีกหลายเดือน สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาลอะไรก็ไม่มี อาวุธปืนที่ใช้ป้องกันชีวิตตัวเองก็เก่าคร่ำคร่า โอกาสที่จะบรรจุรับราชการก็น้อยเต็มที และก็ไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่กับตัวผมเองผมก็ผ่านการเป็นลูกจ้างชั่วคราวมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 5 ปี โชคดีที่ไม่บาดเจ็บพิกลพิการเป็นภาระให้ทางบ้านเลี้ยงดูอีก จนบางครั้งก็คิดว่าเราน่าจะทำอะไรได้เต็มศักยภาพได้มากกว่าการเป็นลูกจ้าง ซึ่งโอกาสที่จะบรรจุรับราชการแทบไม่มี ก็เลยตัดสินใจออกไปทำงานเอกชน แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตของงานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองพิทักษ์ ทรัพย์สินที่มีค่า ทำงานบริษัทอยู่ 2 ปี เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการรักษาความปลอดภัยมาพอสมควร ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการสาขาบริษัทรักษาความปลอภัยประจำภาคตะวันออก ระหว่างนั่งทำงานในห้องทำงานส่วนตัวได้ดูรายการสารคดีเกียวกับธรรมชาติ ได้เห็นป่า สัตว์ป่า ภูเขา ลำธาร น้ำตก ก็เกิดคำถามกับตัวเองว่านี่เรามานั่งทำอะไรอยู่ที่นี่ เสียดายความรู้และประสบการณ์ที่มี ห้องแอร์นี่คงจะไม่ใช่ห้องทำงานของเราแน่ ห้องทำงานของเราควรจะอยู่ข้างนอก อยู่ในป่าโน่นเเน่ะ จากนั้นชีวิตผมก็หวนคืนสู่ป่าอีกครั้ง
ครั้งหนึ่งได้เป็นผู้แทนประธานพิธีปิดการฝึกของพนักงานลาดตระเวนป่า ผมไม่ได้เตรียมสคริปต์ไว้ พอดีเปิดหนังสือพบข้อความของพระยาพนานุจรข้างต้น คิดว่าเหมาะสมที่จะนำมาถ่ายทอดให้เหล่าวีรบุรุษผู้พิทักษ์ป่าในอนาคต(หากถูก ยิงเสียชีวิต) ได้เตือนสติตนเองและสอนให้น้องๆ รุ่นหลังรู้ว่าความสุขของผู้พิทักษ์ป่าไม่ใช่อาชีพเท่ๆ(ที่ไม่มีจะกิน) แต่ความสุขของพวกเราคือการคุ้มครองธรรมชาติจากน้ำมือมนุษย์ และคุ้มครองมนุษย์จากภัยธรรมชาติด้วย เป็นความสุขในความหมายเดียวกันกับความสุขของพระยาพนานุจร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เหมือนกับการทำงานอาชีพอื่นๆ ต้องมีคุณธรรมข้อสำคัญคือความอดทน “อด จากสิ่งที่ต้องการจะได้แต่ไม่ได้รับ และ ทน ต่อสิ่งที่ไม่ต้องการแต่ต้องได้รับมา” ทั้งกายและใจ

พลวีร์ บูชาเกียรติ