ขึ้นเงินเดือนพิทักษ์ป่า ของขวัญปีใหม่ 2555 จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

วันนี้(29  ธ.ค.) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า จากการพยายามผลักดันเรื่องการดูแลสวัสดิการของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ลูกจ้างพิทักษ์ป่ารายวัน สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่เดิมมีค่าตอบแทนแค่เดือนละ 4,200  บาท แต่ต้องทำงานเสี่ยงภัยในป่าสารพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเผชิญหน้ากับผู้ที่ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ล่าสัตว์ นั้น ล่าสุด นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ได้ไปชี้แจงให้คณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ ในร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณปี 2555 ทั้งชุดใหญ่และชุดเล็ก โดยได้ให้ข้อมูลการปฏิบัติงาน และขอให้กรรมาธิการฯช่วยสนับสนุนเรื่องงบประมาณค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนป่า ปรากฏว่า ทางคณะกรรมาธิการฯสนับสนุนงบประมาณในส่วนดังกล่าวเต็มที่ โดยไม่ตัดในส่วนที่กรมอุทยานนำเสนอไปเลย

นายธีรภัทร กล่าวว่า ในภาพรวมกรมอุทยานแล้วกรมอุทยานแห่งชาติฯได้เสนอ ของบประมาณประจำปี 2555 ไปทั้งหมด 2 หมื่นล้านบาท แต่คณะกรรมาธิการฯ พิจารณารอบแรกได้ตัดงบประมาณทิ้งไปเหลือ 8,900 ล้านบาท ถูกตัดไปช่วยเหลือเหตุน้ำท่วมอีก 10% หรือราว 500  ล้านบาท โดยได้ของบประมาณในส่วนนี้ไปประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งจะมีผลทำให้ ในปีใหม่ที่จะถึงนี้ กรมอุทยานฯสามารถเพิ่มค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่พิทักป่า ที่ทำหน้าที่ลาดตระเวนป่า จากเดิมประมาณ 4,200 บาท จะเพิ่มเป็นประมาณ 7,500- 8,000 บาท หรือเกือบ 100% จากค่าตอบแทนเดิม และจะเพิ่มพนักงานราชการ ตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่า ซึ่งจะมีความมั่นคงในหน้าที่การงานมากขึ้นอีกประมาณ 1,000 ตำแหน่ง โดยจะเอาลูกจ้างรายวันเหล่านี้มาสอบ ซึ่งเมื่อเป็นพนักงานราชการแล้ว เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจะมีสวัสดิการ และความมั่นคงในหน้าที่การงานมากขึ้น ขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่จะดีขึ้นด้วย

“ความจริงแล้วท่านอธิบดีอยากจะให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ได้มีเงินตอบแทนเดือนละ 9,000 บาท เป็นอย่างน้อย แต่งบประมาณที่ได้รับมา หากให้คนละ 9,000 บาท งบประมาณจะไม่เพียงพอ แต่ถ้าเป็นระหว่าง 7,500-8,000 บาท ก็จะครอบคลุมถึงทุกคน โดยขณะนี้กรมอุทยานฯมีพนักงานจ้างเหมา ที่ทำหน้าที่ลาดตระเวณป้องกันป่าทั้งหมดทั่วประเทศจำนวน 11,278 คน ถือเป็นของขวัญวันปีใหม่ให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ทำงานหนักและเสี่ยงภัยเพื่อปกป้องทรัพยากรของประเทศมาตลอด”นายธีรภัทร กล่าว

                                                                                                                                                      ขอขอบคุณข่าวจาก   www.dailynews.co.th

 

เบื้องหน้าคือป่าและสัตว์ป่าที่ต้องคุ้มครอง ข้างหลังคือครอบครัวและลูกเมียที่ต้องดูแล

เบื้องหน้าคือป่าและสัตว์ป่าที่ต้องคุ้มครอง ข้างหลังคือครอบครัวและลูกเมียที่ต้องดูแล

 

เช้านี้ผมตื่นมาได้รับข่าวดีแทนพวกเราทุกคน ที่รัฐบาลจะเพิ่มเงินเดือนให้ผู้พิทักษ์ป่า จากความรู้สึกใจจริง ผมรู้สึกว่าเป็นข่าวดีกว่าที่ผมได้ขึ้นเงินเดือน 15,000 บาท(ทำงานมาเกือบสิบปียังไม่เท่าตอนอยู่เอกชนเลย)  หรือได้รับการเลื่อนตำแหน่งเสียอีก เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์คือคนไทยทุกคน เมื่อคนเฝ้าป่ามีกำลังใจดี ครอบครัวอยู่ได้ ป่าและสัตว์ป่าก็จะได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการคัดกรองและดึงดูดคนที่จะเข้ามาทำงาน ทำให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถ มีใจรัก ส่วนคนเก่าก็จะได้มีแรงจูงใจในการทำงาน และพัฒนาตนเอง บุคคลากรที่สร้างขึ้นมา ได้สั่งสมประสบการณ์ในการทำงานในป่าจนมีความชำนาญป่าก็จะไม่หนีไปอยู่ที่อื่น

รอบปีทีี่ผ่านมาเราคงเห็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทำงานหนัก ไม่ว่ามีวิกฤติการณ์ที่ไหน เช่น การกู้ภัยเฮลิคอบเตอร์ทหารตกที่แก่งกระจาน การปราบปรามการลักลอบตัดทำไม้พะยุงภาคอีสาน การรื้อถอนรีสอร์ตวังน้ำเขียว การจับพรานล่าเสือ ล่าช้างที่ห้วยขาแข้งและภูเขียว การช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยจากมหาอุทกภัยที่ผ่านมา การกู้ภัยทางทะเลและตามหาคนหายในป่า และงานอื่นๆที่เป็นงานปิดทองหลังพระอีกมาก งานเหล่านี้ต้องอาศัย ความอดทน ขวัญและกำลังใจจากผู้บังคับบัญชา รวมทั้งค่าใช้จ่ายทั้งส่วนรวมและส่วนตัวที่เกิดขึ้น

ปัจจุบันเรามีผู้พิทักษ์ป่าซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราว 11,278 คน ดูแลรักษาป่าในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ 73 ล้านไร่ ได้รับงบประมาณดูแลไร่ละ 13.87 บาทและงบประมาณดูแลด้านสัตว์ป่าทั่วประเทศ 327  ล้านไร่ ได้รับงบประมาณไร่ละ 1.19 บาท งบประมาณดูและพื้นที่ไฟป่า 21.25  ล้านไร่ ได้รับงบไร่ละ 11.83 บาท จะเห็นได้ว่าน้อยมากกับการป้องกันผู้บุกรุกพื้นที่ป่าที่มีความยากลำบากในการทำงาน แม้แต่พื้นที่ใต้สะพานลอย หรือริมคลองในกรุงเทพฯ ยังถูกบุรุก แต่นี่เป็นการทำงานในป่าการดำเนินการก็ยากขึ้นไปอีก ขอขอบคุณท่านผู้บริหารที่เห็นความสำคัญและสร้างเสริมสวัสดิการให้กับผู้พิทักษ์ป่าทุกคนครับ ก่อนจากกันมีบทความสะท้อนชีวิตผู้พิทักษ์ป่ามาให้เห็นถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องเพิ่มเงินเดือนให้เขาเหล่านั้น ในมุมมองของคนภายนอก ได้อ่านกันครับ

 

พิทักษ์ป่า งานหนักไม่เคยฆ่าใคร ยิ่งทำยิ่งสง่างาม

พิทักษ์ป่า งานหนักไม่เคยฆ่าใคร ยิ่งทำยิ่งสง่างาม


ชีวิตลำเค็ญของผู้พิทักษ์ป่า  เงินน้อย คอยนาน งานหนัก อยู่ด้วยใจ

ชีวิตและภารกิจของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

แม้ว่าภารกิจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ในการปกป้องผืนป่า
ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือนายทุนและชาวบ้านที่ลักลอบเข้าตัดไม้ และล่าสัตว์ป่า จะ
มากอยู่แล้วก็ตาม แต่เมื่อเกิดกระแส “ทับลาน-วังน้ำเขียว” ในห้วงเกือบ 2 เดือนที่
ผ่านมา รวมทั้งปัญหาลักลอบตัดไม้พะยูงในหลายจังหวัดทวีความรุนแรงมากขึ้น
ยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องเหนื่อยหนัก แต่จะมีใครสักคนทราบว่า ผลตอบแทน
ของพวกเขาเหล่านี้ในแต่ละเดือน น้อยกว่า รปภ.ตามหมู่บ้านเสียอีก ทั้งที่งานหนัก
กว่ากันเยอะ และเสี่ยงภัยกว่า

นายคำพัน คำนนท์ อายุ 32 ปี ชาวมุกดาหาร ที่ชีวิตพลิกผันจากหนุ่มโรงงาน
มาเป็นพนักงานสายตรวจของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประจำหน่วยพิทักษ์
เขาใหญ่ บริเวณลำพระยาธาร (ขญ.7) อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เล่าถึงประสบการณ์
ชีวิตหลังเรียนจบระดับปวส. ว่า เคยทำงานโรงงานใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
ในตำแหน่งหัวหน้าช่างซ่อมเครื่องยนต์หนัก ทำงานอยู่ 8-9 ปี เงินเดือนสุดท้าย 14,000   บาท แต่สังคมในโรงงานไม่ดี มีการเอารัดเอาเปรียบกัน อยู่แล้วทำ
งานด้วยความไม่สบายใจ จึงลาออกมาสมัครเป็นพนักงานสายตรวจอุทยานฯเขาใหญ่

เงินเดือนครั้งแรกของ “คำพัน” ในฐานะพนักงานสายตรวจอุทยานฯเขาใหญ่
4,300 บาท ปัจจุบันอยู่เขาใหญ่มาเกือบ 2 ปี ก็ยังรับเงินเดือน 4,300 บาท บาง
ครั้งเงินเดือนออกช้าเป็นเดือน ๆ นานสุดออกช้า 3 เดือนก็มี ประเภทที่ว่าหัวหน้า
หน่วยต้องควักจ่ายสำรองให้ก่อน แต่เจ้าตัวบอกว่า “พวกผมอยู่กันด้วยใจจริง ๆ
อยู่ที่นี่แล้วสบายใจ รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ดูแลรักษา  ป่าไม้ ทรัพยากรของชาติ ลำพัง
เงินเดือนแค่ 4,300 บาท สวัสดิการอะไรไม่มีเลย เวลาเจ็บป่วย ค่ารักษาพยาบาล
ก็ไม่มี ถ้าใจไม่รัก อยู่  ไม่ได้แน่”

“คำพัน” บอกว่า ทุกวันนี้มีภรรยาและมีลูก 2 คน โดย 4 ชีวิตพ่อแม่ลูกพักอาศัยอยู่
ในบ้านพักหน่วยพิทักษ์ป่า โชคดีอยู่บ้างตรงที่ภรรยาของ “คำพัน” ทำงานโรงงาน
ได้   เงินเดือน 7,000 บาท และเงินเดือนออกตรงทุกเดือน จึงพอมาจุนเจือครอบ
ครัวได้บ้าง เพราะเงินเดือนของ “คำพัน” ส่วนใหญ่ออกไม่ค่อยตรง ส่วนภาระทาง
บ้านที่มุกดาหาร พ่อแม่ทำนา ทำไร่ อยู่กันไปตามสภาพ ถ้าพอมีเงินเหลือบ้าง
“คำพัน” จึงส่งให้พ่อแม่ เรียกว่าถ้ามีเงินก็ส่งให้ แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ได้ส่งให้พ่อแม่

สำหรับภารกิจปกป้องผืนป่า เป็นงานที่ไม่มีเวลาแน่นอน เรียกว่าแทบไม่ได้หยุดพัก
และห่างพื้นที่หน่วยไม่ได้เลย เพราะต้องออกลาดตระเวนตรวจป่าตลอดเวลา โดย
ออกไปกันเป็นชุด ชุดละเกือบ 10 คน ครั้งละ 2 คืน 3 วัน บางครั้งไปลาดตระเวน
นอนในป่าเกือบสัปดาห์ ด้วยเสื้อผ้าชุดออกตรวจ 1 ชุด และชุดลำลองที่ขนไปจาก
บ้านอีก 1-2 ชุด พร้อมอาวุธปืนคู่ใจ เป็นปืนลูกซอง 5 นัด สภาพเก่า ๆ ยิงแล้วขัด
ลำกล้องบ่อย ๆ

เวลามีการปะทะกับแก๊งลักลอบตัดไม้และพรานป่าเมื่อไหร่ มีเสียว มีลุ้นระทึกทุก
ครั้ง เพราะกลัวปืนขัดลำกล้อง ยิงไม่ออก ถ้าผู้บุกรุกมีอาวุธปืนดี ๆ คงสู้ไม่ได้แน่
ทุกวันนี้อาศัยว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปกันหลายคน มีปืนหลายกระบอก พอจะยิงข่มขู่
ให้พวกบุกรุกรีบเผ่นหนีไปก่อน

“คำพัน” ยืนยันว่าจะทำงานพิทักษ์ป่าเขาใหญ่ต่อไป จะขอสู้จนหมดลมหายใจ ถึง
เงินเดือนน้อย แต่ใจรัก เมื่อถามว่าอยากจะขออะไรจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
และ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “คำพัน”
บอกว่า ถ้าขอได้ อยากให้เงินออกตรงทุกเดือน ถ้าจะขอมากไปนั่นคืออยากให้มีสวัสดิ
การบ้าง มีเสบียงอาหารเวลาออกไปลาดตระเวนหลาย ๆ วัน และอาวุธปืนที่มีประสิทธิภาพกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ทางด้าน นายสลัก ไชยราชา อายุ 30 ปี เกิดที่ จ.อุดรธานี แล้วย้ายภูมิลำเนามาอยู่
จ.สระแก้ว จนกระทั่งเรียนจบการศึกษาชั้นป.6 เคยทำงานรับจ้างและทำงานใน
โรงงาน ได้ค่าแรงวันละ 120 บาท (เมื่อ 4 ปีก่อน) ต่อมาถูกเพื่อนชักชวนมาสมัคร
เป็นพนักงานสายตรวจ อุทยานแห่งชาติทับลาน ประจำอยู่ที่จุดสกัดห้วยคำภู ต.แก่ง
ดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี

“สลัก” บอกว่าทำงานในอุทยานฯทับลาน มาแล้ว 4 ปี ปัจจุบันรับเงินเดือน
4,300 บาท ออกตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง เงินเดือนพออยู่ไปแบบถู ๆ ไถ ๆ อย่าง
ประหยัดอดออม ต้องหาผัก หาปลาตามทุ่งมาทำอาหารเลี้ยงชีวิต ทุกวันนี้ “สลัก”
ครองตนเป็นโสด แต่ยังมีภาระต้องเลี้ยงดูยาย ซึ่งอาศัยอยู่กับญาติที่ จ.สระแก้ว

“เงินเดือนแค่นี้ แถมออกไม่ค่อยตรง ถ้ามีภรรยา มีลูกเดือดร้อนแน่นอน ถ้าอยู่คนเดียว
พออยู่ได้ตามสภาพ แต่ผมยังไม่คิดย้ายไปไหน ทุกวันนี้เป็นพนักงานสายตรวจ
อุทยานฯทับลาน มาแล้ว 4 ปี รู้สึกชอบ อยู่แล้วสบายใจ เพราะได้ทำหน้าที่ปกป้อง
รักษาป่าไม้ มีบาด    เจ็บบ้างเวลาไปไล่จับกุมผู้ลักลอบตัดไม้และพรานป่าในเวลา
กลางคืน คาดว่าคงอยู่ที่นี่ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าชีวิตจะหาไม่”

เมื่อถามว่าอยากจะขออะไรจากรัฐบาล “สลัก”บอกว่าควรจัดหาอาวุธปืนที่มีประสิทธิ
ภาพดีกว่านี้มาใช้งาน เพราะปัจจุบันพวกตนใช้อาวุธปืนลูกซอง 5 นัด สภาพเก่า ๆ
กระสุนปืนก็คงเก่า เนื่องจากเก็บไว้นาน ยิงแล้วกระสุนด้านบ่อย ๆ บางครั้งยิงแล้ว
กระสุนร่วงที่ปากกระบอก เหมือนกับดินปืนหมดอายุ ส่วนเงินเดือนและสวัสดิการ
ถ้าปรับให้บ้างน่าจะดี ถ้าเป็นแบบนั้นตนและพนักงานป่าไม้ทั่วประเทศจะมีขวัญ
และกำลังใจในการทำงานมากขึ้น

สิ่งที่ “คำพัน” และ “สลัก” พนักงานพิทักษ์ป่าเขาใหญ่-ทับลาน ได้สะท้อนสภาพ
ความจริงออกมา เป็นสิ่งยืนยันว่า แม้ค่าตอบแทนจะเล็กน้อย แทบไม่คุ้มค่ากับความเหนื่อยยาก เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ “คำพัน” และ “สลัก” ยังมีความ
เข้มแข็ง พร้อมทำงานรักษาทรัพยากรของชาติต่อไป วันนี้จึงถึงเวลาแล้วที่คนในสังคม
และรัฐบาล ควรตอบแทนค่าเหนื่อยและค่าเสี่ยงภัยให้คนเหล่านี้บ้างตามสมควร หรืออย่างน้อยต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท.

ขอขอบคุณบทความจาก ทีมเฉพาะกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันศุกร์ ที่ 9 กันยายน 2554