การตรวจสถานที่เกิดเหตุในคดีด้านสัตว์ป่าตามหลักนิติวิทยาศาสตร์

นิติสัตวเวช

การตรวจสถานที่เกิดเหตุในคดีด้านสัตว์ป่าตามหลักนิติวิทยาศาสตร์

การตรวจสถานที่เกิดเหตุในคดีด้านสัตว์ป่าตามหลักนิติวิทยาศาสตร์

นิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science) คือ “การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขามาประยุกต์ใช้ช่วยกระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและนำเอาผู้กระทำผิดในคดีความมาลงโทษตามกฎหมาย”

การตรวจสถานที่เกิดเหตุในคดีสัตว์ป่าตามหลักนิติวิทยาศาสตร์มีความสำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมและการตรวจสถานที่เกิดเหตุในคดีสัตว์ป่า เช่น พนักงานสอบสวน ตำรวจนิติวิทยาศาสตร์ สัตวแพทย์ และโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนป่า ซึ่งมักจะเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่เป็นผู้พบเหตุ เนื่องจากคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่าส่วนใหญ่จะเกิดในพื้นที่ป่าซึ่งยากต่อการเดินทางเข้าไปถึง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนป่าควรจะมีความรู้ ความเข้าใจรวมทั้งทราบแนวทางปฏิบัติในกระบวนการตรวจสถานที่เกิดเหตุ รวมทั้งการเป็นผู้ช่วยเหลือพนักงานสอบสวนในการเก็บรวบรวมวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ เริ่มตั้งแต่การรับแจ้งเหตุ การเตรียมการก่อนเดินทางไปสถานที่เกิดเหตุ การตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ การป้องกันหรือรักษาสถานที่เกิดเหตุ (Protection of the Scene) การรวบรวมพยานหลักฐาน การเก็บและรักษาวัตถุพยาน การจัดทำรายงานการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และการสรุปรายงานผล

อาชญากรรมเกี่ยวกับสัตว์ป่ามีมูลค่ารองลงมาจากการค้ายาเสพติด และบ่อยครั้งผู้ค้าและผู้ลำเลียงยาเสพติดมักจะค้าสัตว์ป่าร่วมด้วย เพราะมีเส้นทางการลำเลียงคล้ายกันหรือมากจากแหล่งเดียวกัน เป็นคนกลุ่มเดียวกัน ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเรียนรู้ถึงกระบวนการทาง นิติสัตวเวช (Wildlife forensics) ซึ่งก็คือ “การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขามาประยุกต์ใช้ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีอาชญากรรมด้านสัตว์ป่าเพื่อผลในการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษ” นิติสัตวเวช เป็นสาขาวิชาใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนการกระทำความผิดทางทรัพยากรธรรมชาติ อันได้แก่ ป่าไม้ และสัตว์ป่า มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาทดสอบ บ่งชี้ และเปรียบเทียบวัตถุพยานจากที่เกิดเหตุของการกระทำความผิดทางทรัพยากรธรรมชาติให้เชื่อมกับผู้ต้องสงสัยและเหยื่อ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการตรวจที่เกิดเหตุในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ เช่น การลักลอบทำไม้ การบุกรุกพื้นที่ป่า เป็นต้น

เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ฝึกการเก็บพยานวัตถุให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ฝึกการเก็บพยานวัตถุให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทั้งที่เป็นข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการจะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ แต่ก็ไม่สามารถเก็บวัตถุพยานด้วยตนเองได้ ต้องเก็บผ่านพนักงานสอบสวน เนื่องจากคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่าส่วนใหญ่จะเกิดในพื้นที่ป่าซึ่งยากต่อการเดินทางเข้าไปถึง ต้องรอคอยพนักงานสอบสวนหรือตำรวจพิสูจน์หลักฐาน บางครั้งพยานหลักฐานอาจถูกทำลายหรือลบเลือนจากสภาพธรรมชาติ เช่น ฝนตก หรือการเน่าเปื่อยของซากสัตว์ป่า เป็นต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมการตรวจที่เกิดเหตุในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้หลักการทางนิติวิทยาศาสตร์มาเป็นเครื่องมือในการตรวจและรวบรวมพยานหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุ เพื่อที่จะหาตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาจัดทำบันทึกข้อตกลง(MOU) ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้สามารถเก็บรวบรวมวัตถุพยานได้ในฐานะผู้ช่วยพนักงานสอบสวน เพื่อประโยชน์ในการตรวจและรวบรวมพยานหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุคดีสัตว์ป่า

images by free.in.th

การประชุมนิติวิทยาศาตร์ในคดีด้านสัตว์ป่า

อย่างไรก็ตามผมได้รวบรวมเนื้อหาความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์จากการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสัตว์ป่า เช่น หลักสูตรการสืบสวนดำเนินคดีด้านป่าไม้และสัตว์ป่า จัดโดย ศูนย์ฝึกอบรมที่ ๕ (ตาก) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การบรรยายหัวข้อ Application of Forensic Science to Wildlife ของสำนักตรวจที่เกิดเหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จัดโดยสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทย(WCS) การฝึกอบรมยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ในการปฏิบัติการลาดตระเวน(PAPEM-STOP) จัดโดย ศูนย์ความหลากลายทางชีวภาพแห่งอาเซียน(ACB) มูลนิธิฟรีแลนด์(Freeland Foundation) และUSAID รวมทั้งความรู้ที่ได้จากการประชุมนิติวิทยาสตร์ด้านสัตว์ป่า ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักวิชาการด้านสัตว์ป่า สัตวแพทย์ ผู้รักษากฎหมาย สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทย(WCS) และผู้สนใจ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญสาขาต่างๆ มาบรรยายที่บ้านของ รศ.ดร.สพ.ญ.นันทริกา ชันซื่อ นำมาจัดทำเป็นคู่มือการตรวจสถานที่เกิดเหตุในคดีสัตว์ป่าตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ขึ้นเพื่อประโยชน์ข้างต้น เพื่อไว้เป็นคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ไว้ปฏิบัติงาน

ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนักวิชาการด้านสัตว์ป่า สัตวแพทย์ ผู้บังคับใช้กฎหมาย และเจ้าหน้าที่ wcs

ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนักวิชาการด้านสัตว์ป่า สัตวแพทย์ ผู้บังคับใช้กฎหมาย และเจ้าหน้าที่ wcs

ขอขอบคุณพล.ต.ท.ธีรวัฒน์ ณ ป้อมเพชร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รศ.ดร.สพ.ญ.นันทริกา ชันซื่อ คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ต.ท.หญิงสุเจตนา โสตถิพันธุ์ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และนายสัตวแพทย์มาโนชญ์ ยินดี ที่ได้มอบความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์และให้คำปรึกษาในการจัดทำคู่มือการตรวจสถานที่เกิดเหตุในคดีสัตว์ป่าตามหลักนิติวิทยาศาสตร์เล่มนี้จนสำเร็จลุล่วง หวังว่าคู่มือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ในการตรวจและรวบรวมพยานหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุคดีสัตว์ป่า เพื่อที่จะหาตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาว่ามีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกคน รวมทั้งเป็นหลักประกันในการอยู่รอดของสัตว์ป่าทุกชีวิตในระบบนิเวศ

พลวีร์ บูชาเกียรติ

29 ธันวาคม 2554

เขาเจ้าราม