เขื่อนแม่วงก์ ความเห็นและมุมมองที่แตกต่าง

เขื่อนแม่วงก์

เขื่อนแม่วงก์ ภาพจาก www.greenworld.or.th

ในฐานะที่เคยทำงานในผืนป่าตะวันตก ได้ทำหน้าที่ปกปักรักษาชีวิตสัตว์ป่า ได้เห็นชีวิตความยากลำบากของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนรอบๆ ผืนป่า ได้เห็นสิ่งที่องค์กรภาคประชาชน ภาครัฐ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ งบประมาณ ในการอนุรักษ์ผืนป่า เยาวชนหลายร้อยหลายหมื่นชีวิตที่ได้เข้ามาอบรม เข้าค่ายเรียนรู้เรื่อนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กินนอนใช้ชีวิตร่วมกันในป่าผืนนี้ การดำเนินการวิจัยด้ายสัตว์ป่าด้วยความทุ่มเทของนักวิจัย เป็นแหล่งบันดาลใจในการถ่ายทอดเรื่องราวตีพิมพ์เป็นบทความ ภาพถ่าาย นวนิยายตามจินตนาการของศิลปินผู้รังสรรค์ผลงาน ไม่รวมชีวิตและเลือดเนื้อของเหล่าผู้พิทักษ์ป่าที่เสียไปเพื่อปกป้องผืนป่าตะวันตกผืนนี้ ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่กำลังมีการผลักดันให้สร้างขึ้นในผืนป่าแม่วงก์ผืนนี้มิได้

เขื่อนแม่วงก์ยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา แต่ได้สร้างความขัดแย้งขึ้นในสังคมไทยแล้ว ความคัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีเหตุผลเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องปรกติธรรมดาในสังคมประชาธิปไตย แตกต่างได้ แต่ไม่แตกแยก ยกตัวอย่าง เช่น

จดหมายถึงนายกรัฐมนตรี

(สำเนา)

 

ชมรมอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติ

25/9 ซ.เสรีไทย 19 ถ.เสรีไทย เขตบึงกุ่ม กทม.10240

12  พฤษภาคม 2555

เรื่อง  ขอสนับสนุนโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ. นครสวรรค์

เรียน  นายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

ตามที่ทางราชการกำลังดำเนินโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ. นครสวรรค์ ตามนโยบายรัฐบาล นั้น

ชมรมอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติ ขอสนับสนุนโครงการดังกล่าวเพราะจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรรมในพื้นที่โครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนา ซึ่งพื้นที่มีศักยภาพสูงมาก แต่ยังขาดระบบชลประทานที่สมบูรณ์ ชมรมฯมีความเห็นและข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้

 

1. การใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์บริเวณเขาสบกกเป็นที่ตั้งเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ชมรมฯเห็นว่านอกจากจะเป็นประโยชน์ในด้านระบบชลประทานแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่ออุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เพราะอ่างเก็บน้ำที่เกิดขึ้นจะเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่ดี เช่นเดียวกับอุทยานแห่งชาติหลายแห่งที่มีอ่างเก็บน้ำอยู่ภายในหรือติดกับอุทยานแห่งชาติ และเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์ก่อนที่จะไหลลงทะเลไป

2. ควรนำรายได้จากการทำไม้ออกจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ จัดตั้งเป็น “กองทุนอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์” สำหรับเป็นทุนในการปลูกป่าทดแทนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และควรปลูกในรูปแบบป่าชุมชนเพื่อการใช้สอยของประชาชนในพื้นที่โครงการ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปลูก บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์

3. ควรให้องค์กรเอกชน ชมรม และประชาชนที่มีความสนใจและห่วงใยด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่ามีส่วนร่วมในการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบต่อสัตว์ป่า

4. ควรให้พื้นที่อ่างเก็บน้ำเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติต่อไป โดยให้กรมอุทยานแห่งชาติฯจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำเป็นแหล่งนันทนาการและศึกษาธรรมชาติ จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ถนน ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ท่าเรือสำหรับการท่องเที่ยวทางน้ำ ลานกางเต็นท์ ห้องสุขา-อาบน้ำ และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

(ลงนาม) ธนพล สาระนาค

(นายธนพล สาระนาค)

ประธานชมรมอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติ

แผนที่การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์

แผนที่การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ www.tcijthai.com

 

เหตุผลการคัดค้านการสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ในประเด็นคุณค่าของทรัพยากรสัตว์ป่าและระบบนิเวศวิทยาของป่าที่ราบริมน้ำแม่วงก์ โดย ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ โครงการเขื่อนแม่วงก์ ที่ KU HOME วันที่ 28 มิถุนายน 5522

องค์กรอนุรักษ์เสนอเอกสารเพื่อของให้นายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ทบทวนโครงการก่อสร้างเขื่อนในอุทยานแม่วงก์ ได้สรุปเหตุผลในการทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่จะทำลายพื้นที่ป่าสมบูรณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประเทศได้กำหนดให้เป็นผืนป่าอนุรักษ์ว่าเป็นการตัดสินใจขัดต่อหลักการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และกฏหมายอย่างยิ่ง ในขณะรัฐยังไม่สามารถดูแลรักษาพื้นที่ป่าสมบูรณ์จากการถูกลักลอบแผ้วถาง ตัดฟัน บุกรุก ครอบครอง จนกระทั่งพื้นที่ป่าสมบูรณ์ยังอยู่ในภาวะที่มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น ยังถือเป็นการตัดสินใจที่สวนกระแสสังคมทั้งในไทย และในระดับสากล การอนุมัติในหลักการให้มีการเขื่อนแม่วงก์ จะส่งผลต่อการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ตามมาอย่างต่อเนื่อง เกินกว่าผลกระทบที่บริเวณตัวเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ และในที่สุดจะเป็นการบั่นทอนอุดมการณ์ของคนหลายส่วนในสังคมไทยทั้งในภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น ในการมุ่งมั่นดูแลรักษาผืนป่าอนุรักษ์ที่เหลืออยู่ของประเทศไว้ให้ดีที่สุด โดยหวังที่จะเห็นการฟื้นฟูสภาพธรรมชาติเกิดขึ้นตามมา เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของคนรุ่นหลัง ดังนั้น องค์กรด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงขอยื่นบันทึกคัดค้าน และขอให้รัฐบาลระงับโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ และรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันรักษาความสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ผืนป่าต้นน้ำ และฟื้นฟูสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ให้กลับมามีสภาพมั่นคงสมบูรณ์ เพื่อเป็นมรดกตกทอดให้แก่อนุชนรุ่นหลัง ให้มีชีวิตที่มีคุณภาพ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดีตลอดไป

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ก็คงจะเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่จะต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร ผลดีผลเสีย เป็นสิทธิและหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ไร้ผลประโยชน์  แอบแฝงทับซ้อนเพื่อการตัดสินใจร่วมกัน แต่ที่เห็นตอนนี้มีแต่ป้ายสนับสนุน คัดค้าน แห่คนไปโน่น ไปนี่บ้าง จากประสบการณ์อันน้อยนิดของผม มีข้อสังเกตบางประการว่า

1.การทำลายป่ารวดเร็วกว่าการปลูกป่า

2.การรักษายากกว่าการทำลายป่า

3.บางประเทศที่เป็นทะเลทรายเขาใช้เทคโนโลยีเพื่อปลูกป่าปลูกต้นไม้ แต่เราใช้เทคโนโลยีทำลายป่า

4.เรามีพื้นที่เกษตรมากมาย แต่กระจายไม่ทั่วถึง คนจนบุกป่าให้นายทุน ยางพาราเต็มภูเขา

5.น้ำท่วมบางส่วนเกิดจากการก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำ การก่อสร้าง การทำคันดินขวางทางน้ำ แม้แต่กรุงเทพที่สาธารณโดนบุกรุกหมด ทั้งที่เจ้าหน้าที่เดินอยู่กันเต็มกรุงเทพ เราควรนำงบประมาณแก้ไขปัญหาด้านนี้

6.ปัญหาใหญ่ของประเทศคือแนวเขตป่าไม่ชัดเจน ประชาชนไม่ยอมรับ  พื้นที่กรุงเทพยังโดนบุก แล้วป่าจะเหลืออะไร

7.ประชากรเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่ที่ดินคงที่ ตอนนี้หลายประเทศทำเกษตรแนวดิ่งกันแล้ว

8.ป่าไม่มีคนป่าอยู่ได้ คนไม่มีป่าอยู่ได้อย่างลำบาก

9.พรานบางคนแค่ล่าสัตว์ตัวสองตัวโดนจับก็ติดคุกแล้ว แล้วเขื่่อนแม่วงก์ทำลายกี่ชีวิต

10.เราทุกคนได้ประโชนย์จากป่าไม้มาทั้งชีวิตแล้ว อะไรที่หลีกเลี่ยงการทำลายป่าได้ ก็น่าจะหลีกเลี่ยง มีวิธีอื่นที่ดี เหมาะสมกว่านี้ไหม

 

สภาพป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

สภาพป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ภาพจาก www.seub.or.th