ASEAN-WEN

เครือข่ายความร่วมมือของอาเซียน เพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย

ขอขอบคุณเรื่องและภาพจาก www.alumni.forest.ku.ac.th

ASEAN-WEN (เครือข่ายความร่วมมือของอาเซียน เพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย )

www.alumni.forest.ku.ac.th

ในแต่ละปี ทั่วโลก ลิง 40,000 ตัว งาช้าง 90,000 ชิ้น นกสวยงาม 4 ล้านตัว หนังสัตว์เลื้อยคลาน 10 ล้านชิ้น หนังสัตว์ที่มีขนติด 15 ล้านชิ้น ปลาสวยงาม 350 ล้านตัว ถูกแปรเปลี่ยนเป็นเงินมหาศาลกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และกว่า 25% ประเมินกันว่าเป็นการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายโดยขบวนการ “มาเฟียสัตว์ป่าข้ามชาติ” ที่สร้างกำไรเป็นรองเพียงแค่ธุรกิจค้าอาวุธสงครามและยาเสพติดเท่านั้น จากการสำรวจของ WWF ประเทศไทยช่วงปี 2546-2547 พบว่าการค้าสัตว์ป่าในไทยลดจำนวนลง แต่กลับเพิ่มขึ้นบริเวณชายแดนฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน และจากสถิติการจับกุมการลักลอบค้าสัตว์ป่า และปริมาณสินค้าที่วางขายในท้องตลาด ที่แม้จำนวนจะไม่มากนัก แต่ก็ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองไทยยังคงมีการลักลอบค้าสัตว์ป่าอยู่ ทั้งในรูปของสัตว์มีชีวิต ซาก ผลิตภัณฑ์ อาหาร และส่วนประกอบยา? ยิ่งกว่านั้นปัจจัยต่างๆของประเทศไทยยังเอื้อให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ใหญ่แห่งหนึ่งในโลกด้วย เช่น ที่ตั้ง การคมนาคมสะดวกสบาย และนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและส่งออก ส่งผลให้ปีหนึ่งๆมีผู้โดยสารหลายล้านคนเข้า-ออกประเทศไทย จึงทำให้ยากต่อการตรวจสอบการลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามประเทศ

 การริเริ่ม

ภายใต้กรอบการอนุวัตอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on international Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) ซึ่งมีเป้าหมายในการคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชป่าเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ ไม่ให้สูญพันธุ์จากการค้าระหว่างประเทศ และกรอบความร่วมมืออาเซียน ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศในภูมิภาคที่เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพของโลก เป็นต้นทางของการค้าสัตว์ปาพืชป่าไปยังภูมิภาคอื่น การพัฒนาเครือข่ายการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Wildlife Enforcement Network) จึงเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นร่วมกัน

ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาในภูมิภาค ได้เริ่มต้นจากการศึกษารูปแบบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายข้ามชาติจากภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งได้เคยมีการทำไว้ก่อนหน้านั้น เช่น LUSAKA Agreement ซึ่งเป็นความร่วมมือของประเทศในกลุ่มอาฟริกา ทำไว้เมื่อปี ค..1994

ในปี พ.ศ.2547 เมื่อประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 13 (CITES CoP 13) จึงมีความคิดที่จะใช้โอกาสนี้ในการนำเสนอมาตรการดังกล่าว สอดคล้องกับแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) ที่ต้องการจะใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพการประชุมดังกล่าว ประกาศความคิดริเริ่มของประเทศไทยเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาสำคัญที่ภูมิภาคให้ความสนใจร่วมกัน

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2547 ระหว่างการประชุม (CITES CoP 13) ประเทศไทยจึงได้เริ่มก้าวแรกโดยจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อประกาศแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีอาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนในการปฏิบัติตามอนุสัญญาไซเตส (ASEAN Minister Joint Statement on CITES) เป็นการสอดรับกับการที่นายกรัฐมนตรีของไทย ได้กล่าวไว้ในพิธีเปิดการประชุม โดยระบุถึงความคิดริเริ่มของประเทศไทยที่จะสร้างความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อต่อต้านอาชญากรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติ

หลังจากที่ได้ประกาศแถลงการณ์ดังกล่าวออกไปแล้ว รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้แสดงการสนับสนุนในทันที โดย Ms Claudia McMurray ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง Deputy Assistance Secretary of State ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย แจ้งความประสงค์ว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาสนับสนุนการริเริ่มของประเทศไทยและยินดีให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการเพื่อให้แนวคิดดังกล่าวประสบผลสำเร็จ

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในเวลาต่อมา คือในการประชุมนัดพิเศษของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของอนุสัญญาฯ CITES เมื่อวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2548 ณ กรุงจาการ์ต้า อินโดนีเซีย ได้อนุมัติแผนปฎิบัติการในภูมิภาคว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า พ..2548-2553 (ASEAN Regional Action Plan on Trade of Wild Fauna and Flora 2005-2010) แผนดังกล่าวได้วางวัตถุประสงค์ไว้ 6 ข้อ ประเทศไทยได้รับที่จะเป็นผู้นำในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ข้อ 2 ซึ่งเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบเครือข่าย เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย

จากนั้นการผลักดันให้แนวคิดเรื่องเครือข่ายความร่วมมือดังกล่าวเป็นรูปธรรม? จึงได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังและมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือนายชวาล ทัฬหิกรณ์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าและต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชซึ่งกำกับดูแลงานอนุสัญญา CITES

ด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศได้แก่กรมอาเซียนและกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และสำนักเลขาธิการ CITES ร่างเอกสารข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวได้เกิดขึ้นและพัฒนาเป็นแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีอาเซียนที่รับผิดชอบการอนุวัตตามอนุสัญญา CITES ว่าด้วยการจัดตั้งเครือข่ายการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย (ASEAN Statement on Launching of the ASEAN Wildlife Enforcement Network) ซึ่งรัฐมนตรีอาเซียนได้แถลงร่วมกันในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ถือเป็นการริเริ่มจัดตั้งเครือข่ายการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย (ASEAN Wildlife Enforcement Network หรือ ASEAN-WEN) อย่างเป็นทางการ

สาระของ ASEAN-WEN ได้ระบุถึงความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายในภูมิภาค โดยใช้กลไกหลักคือการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หน่วยงานภายในประเทศที่เกี่ยวข้องได้แก่ หน่วยปฏิบัติการตามอนุสัญญา CITES ตำรวจ ศุลกากร อัยการ และหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนหน่วยงานในระดับสากลได้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การศุลกากรโลก องค์การตำรวจสากล สำนักเลขาธิการ CITES เป็นต้น

หลังจากการแถลงร่วมกันของรัฐมนตรีแล้ว ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายครั้งแรกขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2549 ณ กรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้ได้มีการกำหนดขอบเขตการดำเนินการ (Term of Reference) ของเครือข่ายและกลไกในการปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมีการกำหนดให้ทุกประเทศจะต้อง

  1. ตั้งหน่วยประสานงานกลาง (National Focal Point) สำหรับประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นหน่วยประสานงานกลาง
  2. ตั้งคณะกรรมการระดับประเทศซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ประการสำคัญคือมีการตัดสินใจที่จะตั้งศูนย์ประสานงานของเครือข่าย (ASEAN-WEN Program Coordination Unit) และกำหนดขอบเขตการดำเนินการ (Term of Reference) ของศูนย์ประสานงานให้ทำหน้าที่สำนักเลขาธิการ (Secretariat Unit) ของเครือข่ายและเป็นศูนย์ประสานงานเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานดังกล่าว

ความสำเร็จและความก้าวหน้าที่สำคัญ หลังจากการจัดตั้งเครือข่าย ASEAN-WEN อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีโดย

  1. ในระดับประเทศ เป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานทั้ง 3 หน่วยงานซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการตามอนุสัญญา ได้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมศุลกากร ว่ามีการประสานงานกันมากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้การจับกุมและปราบปรามมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  2. ในระดับนานาชาติ ได้รับการตอบสนองทันที่จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยสนับสนุนเงินทุนจำนวนหนึ่งให้แก่ Wildlife Alliance ในการจัดทำโครงการ ASEAN-WEN Support Project เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของเครือข่าย ASEAN-WEN และรวมถึงการให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ประเทศไทยในการจัดตั้งและดำเนินการสำนักงานศูนย์ประสานงานเครือข่ายการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN-WEN Program Coordination Unit) ด้วย
  3. ได้รับการตอบสนองที่ดีจากรัฐบาลจีนซึ่งเป็นประเทศปลายทางหรือผู้บริโภค โดยจีนได้แสดงท่าทีที่พร้อมจะให้ความร่วมมือ
  4. ได้รับความสนใจจากภูมิภาคอื่นๆ เช่น อเมริกา สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ในฐานะที่เป็นต้นแบบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันถือว่าเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลกในการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าข้ามชาติ
  5. ที่สำคัญที่สุดคือ ได้รับความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในการดำเนินการตามขอบเขตการดำเนินการ ทุกประเทศมีการผลักดันให้มีการตั้งคณะกรรมการเครือข่าย และมีแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ภายใต้ความร่วมมือเครือข่าย

กลไกความสำเร็จ (Key to Success)
ถึงแม้ว่าเครือข่าย ASEAN-WEN จะเริ่มต้นจากการประกาศความร่วมมือโดยไม่มีการลงนาม และการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ล้วนแต่เป็นความสมัครใจของประเทศสมาชิก แต่ ASEAN-WEN กลับเป็นเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง ได้รับความสนใจและการตอบรับที่ดีมาตลอด ทั้งนี้อาจเนื่องมาจาก

  1. ประเด็นความร่วมมือมีความชัดเจน ไม่กว้างเกินไป และเริ่มต้นจากปัญหาที่ทุกประเทศในภูมิภาคต่างยอมรับว่ามีความสำคัญและให้ความสนใจที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน
  2. เป็นเครือข่ายความร่วมมืออย่างแท้จริง ซึ่งเริ่มต้นจากระดับภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้เครือข่ายมีความเข้มแข็ง
  3. การแสวงหาความร่วมมือและการสนับสนุนจากรัฐบาลและองค์กรเอกชน ต้องยอมรับว่า หากปราศจากความช่วยเหลือจากแหล่งทุนแล้ว การผลักดันแนวคิดเครือข่ายให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจะต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่านี้มาก

ก้าวต่อไป Next Step

  1. พัฒนาศูนย์ประสานงานกลาง (ASEAN-WEN Program Coordination Unit) ให้ตอบสนองและสนับสนุนความต้องการของประเทศสมาชิก ในการช่วยประสานงานและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการสืบสวนและจับกุม ตลอดจนเป็นสื่อกลางระหว่างประเทศสมาชิก
  2. แนะนำเครือข่ายให้เป็นที่รู้จักแก่ภูมิภาคอื่น แสวงหาความร่วมมือทั้งในด้านการเงินเพื่อการบริหารงานเครือข่ายและความร่วมมือทางด้านวิชาการเพื่อยกระดับการดำเนินการเครือข่าย
  3. จากหลักการของการแก้ปัญหาร่วมกันในภูมิภาค เป้าหมายการทำงานของเครือข่ายจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามเท่านั้น แต่ยังมองไกลไปถึงการที่ทุกประเทศในอาเซียนมีการบัคับใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงกัน หรือกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติ (Standard Operation Procedure) ร่วมกัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้เริ่มมีการพูดคุยกันแล้วในการประชุมระดับทวิภาคีระหว่างไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 17-18 กรกฎาคม 2550 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของเครือข่ายไม่ได้อยู่ที่สามารถเริ่มต้นได้อย่างดีเท่านั้น แต่อยู่ที่การบรรลุเป้าหมายซึ่งแน่นอนว่าจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ ความท้าทายจึงอยู่ที่การนำพาเครือข่ายผ่านความยากลำบากไปสู่เป้าหมายร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งประเทศไทยในฐานะผู้นำและผู้ริเริ่มต้องไม่ลืมในข้อนี้ และหาหนทางไปสู่ความสำเร็จให้ได้

www.asean-wen.org