หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) หรือ หน่วยเสือดำ

ใช้สถานการณ์จริง ฝึกหนัก สร้าง “เสือดำ” เสริมทัพพิทักษ์ป่า

ใช้สถานการณ์จริง ฝึกหนัก สร้าง "เสือดำ" เสริมทัพพิทักษ์ป่า

ใช้สถานการณ์จริง ฝึกหนัก สร้าง “เสือดำ” เสริมทัพพิทักษ์ป่า

หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) หรืออีกชื่อเรียกหนึ่งว่า หน่วยเสือดำ ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งของภาครัฐในการระดมกำลังพลเพื่อเข้าปฏิบัติการและสนับสนุนภารกิจด้านการปกป้องป่าไม้ โดยให้อยู่ภายใต้การปฏิบัติงานของสำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 1-4 ส่วนยุทธการด้านการป้องกันและปราบปรามสำนักป้องกันและปราบปรามและควบคุมไฟป่า นอกจากนี้ยังให้มีหน้าที่สนับสนุนหรือร่วมปฏิบัติภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการป่าไม้และสัตว์ป่าตามที่หน่วยงานในพื้นที่สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 ร้องขอ รวมไปถึงคดีสำคัญ ๆ ที่มีผู้มีอิทธิพลเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

   
นปพ. หรือหน่วยเสือดำ ถือเป็นหน่วยล่าสุดที่จะเข้ามาเสริมทัพทำงานสำคัญระดับประเทศ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าสภาพป่าไม้ในประเทศไทยถูกบุกรุก แผ้วถาง ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง เข้าไปทำประโยชน์ส่วนตัวกันมาก ขณะที่การทำงานของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการปราบปรามต้องเผชิญอุปสรรคหลายด้านโดยเฉพาะการต่อต้านของมวลชนบางกลุ่ม เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน ดังนั้น เพื่อให้การทำงานหลังจากนี้ราบรื่นและมีประสิทธิภาพหยุดยั้งการทำลายป่าให้มากที่สุด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฝึกความชำนาญและเพิ่มพูนความรู้ ทั้งด้านทักษะและอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับเจ้าหน้าที่
   

หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) หรืออีกชื่อเรียกหนึ่งว่า หน่วยเสือดำ

หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) หรืออีกชื่อเรียกหนึ่งว่า หน่วยเสือดำ

ที่ผ่านมานายไพศาล สถิตวิบูรณ์ ผอ.สำนักป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่าได้สั่งการให้นายอรรถพล เจริญชันษา ผอ.ส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม ฝึกอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ นปพ. ตามโครงการฝึกอบรมฝึกซ้อมระดมพลด้านการป้องกันรักษาป่า รุ่นที่ 1 ขึ้นที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 2 ต.นากลาง อ.สอง จ.แพร่ มีตัวแทนจากสำนักงานสนับสนุนด้านการป้องกันและปราบปรามที่ 1-4 เข้าร่วมทั้งสิ้น 100 คน
   
โดยการฝึกนั้นมีเป้าหมายการฝึกเจ้าหน้าที่ นปพ.ครั้งนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน สามารถประยุกต์เทคโนโลยีมาใช้ทำงานได้คล่องตัว รู้จักการทำงานเป็นทีม มีความพร้อมปฏิบัติหน้าที่ทุกพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะนอกจากการเข้าปฏิบัติการเองแล้วยังต้องสามารถสนธิกำลังกับหน่วยอื่นได้ทันทีด้วย
   
จากเงื่อนไขการทำงานที่ถูกตั้งให้เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ทำให้ยิ่งต้องมีศักยภาพ มีระเบียบการฝึกเข้มข้นมากกว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติทั่วไป รูปแบบการฝึกอบรมเสือดำรุ่นแรก จึงอัดแน่นด้วยทักษะทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ภาคทฤษฎีเป็นการอบรมความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานทุกขั้นตอน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าใจปัญหาและสามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าเมื่อต้องเผชิญเหตุ เริ่มตั้งแต่กระบวนการศึกษางานข่าวกรอง และกำหนดการทำงานให้รัดกุมตามสายข่าวที่ได้รับ การประเมินผลในพื้นที่ และอันตรายที่อาจได้รับ การสำรวจและเขียนแผนผัง การสังเกตการณ์และบรรยายรูปร่างลักษณะ การใช้เทคโนโลยีในการลาดตระเวนและติดต่อสื่อสาร การศึกษาศิลปะป้องกันตัวและการใช้อาวุธทั้งปืน วัตถุระเบิดและการเก็บกู้ รวมไปถึงวิธีการทำคดีป่าไม้และสัตว์ป่า

โครงการฝึกอบรมฝึกซ้อมระดมพลด้านการป้องกันรักษาป่า

โครงการฝึกอบรมฝึกซ้อมระดมพลด้านการป้องกันรักษาป่า

นายไพศาล กล่าวว่า แม้เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกส่งตัวเข้าฝึกจะมีทักษะการทำงานอยู่แล้ว แต่การเข้าอบรมพิเศษครั้งนี้จะถือเป็นการทดสอบความเข้าใจ ต่อเติมรายละเอียดที่จำเป็น โดยเฉพาะรูปแบบการทำงานเป็นทีมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการอบรมในปีนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาการทำงานของชุดปฏิบัติการแม้จะได้ผลเป็นที่น่าพอใจแต่หากเพิ่มกระบวนการให้เป็นระบบมากขึ้นจะยิ่งทำให้การทำงานมีแบบแผน และประเมินความสำเร็จได้มากขึ้น ดังนั้น หลังจบการเรียนรู้ภาคทฤษฎีจึงมีการทดสอบให้ผู้รับการฝึกลงพื้นที่ภาคสนามทันที
   
นายอรรถพล กล่าวเสริมว่า ในภาคปฏิบัติได้กำหนดให้มีการแบ่งชุดปฏิบัติการลงพื้นที่จริงในจุดที่มีสายข่าวรายงาน โดยใช้วิธีให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทั้ง 100 คน แบ่งการทำงานออกเป็น 4 ชุด ชุดละ 25 คน แต่ละชุดจะมีผู้บังคับบัญชาประจำการอยู่ที่ศูนย์บัญชาการชุดละ 1 คน ส่วนทีมงานทุกชุดจะตั้งหัวหน้าชุดของตัวเองทำหน้าที่ควบคุมการลาดตระเวนให้มีประสิทธิภาพ
   
ตามเป้าหมายการฝึกที่เน้นหนักเรื่องการทำงานเป็นทีม ทำให้การภาคปฏิบัติของการเป็นเสือดำเตรียมตัวหนักทั้งร่างกายที่ต้องพร้อมรับมือกับสภาพแวดล้อมในป่า และจิตใจเพราะต้องใช้ความคิดในการวางแผนทำงานตั้งแต่เส้นทางการเข้าพื้นที่ การใช้เครื่องมือสื่อสารเพื่อคอยรายงานสถานการณ์กลับมายังศูนย์บัญชาการเป็นระยะ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาของแต่ละชุดทำข้อมูล แสดงสัญลักษณ์ลงในแผนที่ จนสามารถเห็นภาพการทำงานของลูกทีม ไปจนถึงการช่วยวางแผนหรือตัดสินใจเหตุเฉพาะหน้าได้

ประโยชน์ของการลงพื้นที่ภาคสนามคือช่วยทดสอบความเข้าใจของบุคคลต่อคำสั่งการต่าง ๆ และความสามารถในการใช้เครื่องมือจำเป็น เช่น การอ่านแผนที่ การใช้เข็มทิศ การใช้เครื่องจีพีเอสค้นหาเป้าหมาย และรายงานพิกัดเข้าศูนย์บัญชาการได้อย่างแม่นยำ เพราะข้อมูลเหล่านี้หากไม่มีความชำนาญจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนจนทำให้แผนงานล้มเหลวหรือเกิดอันตรายกับผู้ปฏิบัติได้ 

นายอรรถพล เจริญชันษา ผอ.ส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม

นายอรรถพล เจริญชันษา ผอ.ส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบ

การฝึกภาคสนามของเสือดำรุ่นแรกถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะเสือดำทุกคนเห็นความสำคัญของการทำงานเป็นทีม ไม่ฝ่าฝืนข้อตกลงที่ได้วางแผนร่วมกันทำให้สามารถปฏิบัติการจับกุมการกระทำความผิดซึ่งเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าในพื้นที่ได้ โดยมีชุดเสือดำกลุ่มหนึ่งเจอเบาะแสคนร้ายและแจ้งข้อมูลมายังผู้บังคับบัญชาประจำชุดที่อยู่ส่วนกลาง ก่อนที่ผู้บังคับบัญชาจะมอบหมายให้หัวหน้าชุดเป็นผู้ประเมินสถานการณ์และตัดสินใจปฏิบัติการเอง ซึ่งสุดท้ายก็สามารถจับกุมคนร้ายที่เข้าไปตัดไม้ในป่าได้พร้อมของกลาง ไม้สักทอง อุปกรณ์การเลื่อย และรถจักรยานยนต์ และประสานให้ส่วนกลางนำรถออกไปรับคนร้ายเพื่อนำไปส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีได้อย่างปลอดภัย

เจ้าหน้าที่สายตรวจสำนักป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่า

เจ้าหน้าที่สายตรวจสำนักป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่า

นายไพศาล กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า นอกจากความโดดเด่นกับการฝึกทำงานทีมเวิร์กแล้วหน่วย “เสือดำ” ยังสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพิ่มความสะดวกในการเก็บข้อมูลเพื่อความครบถ้วนรวดเร็วในแบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ปัจจุบันมีการใช้กล้องวิดีโอบันทึกภาพ แต่ในอนาคตมีแนวคิดถอดระบบกล้องส่งสัญญาณมาติดกับตัวเจ้าหน้าที่เพื่อส่งภาพระยะไกลให้ผู้บังคับบัญชาเห็นการทำงานพร้อมสั่งการแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงทีด้วย. 

ขอขอบคุณเรื่องและภาพ

ศูนย์ข่าวภาคเหนือตอนบน

 www.dailynews.co.th

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน 2555 เวลา 00:00 น.