WWF ยกย่องผู้พิทักษ์ป่าเป็นวีรบุรุษนักอนุรักษ์ เนื่องในวันผู้พิทักษ์ป่าสากล


WWF (World Wide Fund for Nature) ให้ความสำคัญต่อผู้พิทักษ์ป่าเนื่องในวันผู้พิทักษ์ป่าสากล (31 กรกฎาคม) ด้วยการเพิ่มความช่วยเหลือ และแสดงความยกย่องเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อหยุดยั้งอาชญากรรมต่อสัตว์ป่า และปกป้องพื้นที่อนุรักษ์และชนิดพันธุ์ที่มีลักษณะเฉพาะที่กำลังถูกคุกคาม รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ เพิ่มเงินสนับสนุนกำลังผู้พิทักษ์ป่าที่เป็นแนวหน้าในการอนุรักษ์

WWF ได้ช่วยยกระดับสภาพการทำงานและศักยภาพของผู้พิทักษ์ป่าในกัมพูชา ลาว ไทยและเวียดนาม ด้วยการสนับสนุนให้พวกเขาปกป้องชนิดพันธุ์ประจำถิ่นและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นสาวหล่า ในเวียดนามและลาว โลมาแม่น้ำในกัมพูชา และช้างกับเสือในประเทศไทย

“หากไม่มีผู้พิทักษ์ป่าที่อุทิศตัวและมุ่งมั่น และต้องทำงานในสภาพการณ์ที่ยากลำบาก ห่างไกลจากครอบครัวแล้ว สัตว์ที่เป็น สัญลักษณ์ในแถบลุ่มน้ำโขง และสัตว์ป่าหายาก อาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว” ดร.โธมัส เกรย์ ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ WWF-ลุ่มน้ำโขง กล่าว “ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ผู้พิทักษ์ป่าในพื้นที่ทางตอนกลางของเวียดนาม ทำลายกับดักสัตว์มากกว่า 14,000 อัน ไม่เช่นนั้นกับดักนี้ก็อาจดักติดสัตว์สายพันธุ์ท้องถิ่นได้”

ผู้พิทักษ์ป่า หรือในชื่ออื่นๆ ทั้งผู้รักษาความปลอดภัยป่า ผู้ปกป้องป่า และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ป่า ต่างเป็นหน้าตาของพื้นที่อนุรักษ์ พวกเขาเข้าหาชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างสัมพันธภาพ และยังทำการวิจัยรวมทั้งเฝ้าสังเกตการณ์สัตว์ป่า เพื่อสร้างพื้นฐานการบริหารจัดการป่าไม้ด้วยพื้นฐานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ผู้พิทักษ์ป่าไม่ได้มี เครื่องไม้เครื่องมือเพียบพร้อม หรือได้รับการฝึกฝน หรือได้รับคำชื่นชมแต่อย่างใด มีบ่อยครั้งที่พวกเขาต้องเสี่ยงชีวิตระหว่างเผชิญหน้ากับพวกลักลอบล่าสัตว์ที่มีอาวุธครบมือ

นายทวีศักดิ์ โฉมยง เจ้าหน้าที่ป่าไม้อายุ 33 ปี ถูกกลุ่มลักลอบตัดไม้พะยูงสังหารระหว่างการปะทะที่อุทยานแห่งชาติ ปางสีดา เมื่อเดือนมีนาคม 2556

นายทวีศักดิ์ โฉมยง เจ้าหน้าที่ป่าไม้อายุ 33 ปี ถูกกลุ่มลักลอบตัดไม้พะยูงสังหารระหว่างการปะทะที่อุทยานแห่งชาติ ปางสีดา เมื่อเดือนมีนาคม 2556

เมื่อต้นปีนี้ ประเทศไทยต้องสูญเสียนายทวีศักดิ์ โฉมยง ผู้พิทักษ์ป่าอายุ 33 ปี ระหว่างการปะทะกับกลุ่มลักลอบตัดไม้พะยูง ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา และเมื่อเดือนที่แล้ว ที่อุทยานแห่งชาติแห่งเดียวกันนี้ นายพิทักษ์ ฟองลม ได้ถูกยิงที่แขน ระหว่างการปะทะกับกลุ่มลักลอบล่าสัตว์ ซึ่งขณะนี้กำลังพักฟื้นที่โรงพยาบาล

“เราขอยกย่องความกล้าหาญและความเสียสละของผู้พิทักษ์ป่าเหล่านี้ และขอแบ่งปันความเห็นอกเห็นใจอย่างสุดซึ้ง และขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้สูญเสีย” เพชร มโนประวิตร ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์ WWF-ประเทศไทย กล่าว “ไม่มีผู้พิทักษ์ป่าคนไหน ที่ควรต้องสูญเสียชีวิต หรือเสี่ยงจะได้รับบาดเจ็บร้ายแรงจากการปกป้องสัตว์ป่า รัฐบาลจึงควรเพิ่มงบประมาณ เพื่อสวัสดิภาพของผู้พิทักษ์ป่าและสร้างความเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะมีเครื่องมือพร้อมเพื่อต่อสู้กับกลุ่มลักลอบล่าสัตว์ WWF เรียกร้องรัฐบาลให้จัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยแก่ครอบครัวของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บระหว่างปฏิบัติ หน้าที่”  

นอกจากนี้ นางคริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ได้เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อร่วมประสบการณ์”หนึ่งวันกับผู้พิทักษ์ป่า” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมเนื่องในวันผู้พิทักษ์ป่าสากลของ WWF-ประเทศไทย โดยเอกอัครราชทูต กล่าวว่า “มันเป็นแรงบันดาลใจครั้งสำคัญที่ได้เห็นความร่วมมือระหว่างผู้พิทักษ์ป่า ชุมชน และพันธมิตรระดับนานาประเทศ เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ และปกป้องระบบนิเวศแห่งสำคัญของไทย”

อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน 18 คน ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 750,000 ไร่(1,200 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งใกล้เคียงกับพื้นที่ เกาะฮ่องกง และยังเป็นบ้านของช้างป่า 230 ตัว รวมทั้งสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเสือ กระทิง วัวแดง และสมเสร็จมลายัน

“นับตั้งแต่ปี 2553 ไม่มีช้างตายเนื่องจากการลักลอบล่าสัตว์ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือ ก็เพิ่มจำนวนขึ้น” เพชร กล่าวเสริม “ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวดของผู้พิทักษ์ป่า และ WWF ขอแสดงความขอบคุณต่อวีรบุรุษนักอนุรักษ์เหล่านี้”

ประชาชนกว่า 113,000 คน  จาก 96 ประเทศทั่วโลก ที่เรียกร้องการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศที่มีประชากรเสือ เพื่อให้เพิ่มงบประมาณแก่ผู้ที่ให้การ ปกป้องดูแลเสือ ซึ่งก็คือผู้พิทักษ์ป่า และเพื่อแสดงความสนับสนุนผู้พิทักษ์ป่า WWF ได้ริเริ่มโครงการ Cards4tigers เนื่องในวันผู้พิทักษ์ป่าสากลเมื่อปีที่แล้ว (2555) และได้กระแสตอบรับอย่างท่วมท้น ทั้งเด็กนักเรียนไปจนถึงผู้มีชื่อเสียง จากเอกอัครราชทูตจนถึงรัฐมนตรี ซึ่งหลายคนแสดงความสนับสนุนด้วยการส่งโปสการ์ดให้แก่ผู้พิทักษ์ป่า

สมหมาย ขันตรี หัวหน้าทีมลาดตระเวน อุทยานแห่งชาติคลองลาน กล่าวว่า ผู้พิทักษ์ป่าขอบคุณที่ผู้คนทั่วโลกระลึกถึง พวกเรามีความสุข ชอบและเก็บโปสการ์ดทุกใบไว้เตือนตัวเองเวลารู้สึกเศร้าและต้องการกำลังใจ

“สวัสดิภาพของผู้พิทักษ์ป่าทั่วโลกถูกเพิกเฉยมาตลอดและสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นคือ ถึงเวลาที่เราต้องให้ความสนใจต่อผู้พิทักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและชนิดพันธุ์ท้องถิ่นทั้งหลายเหล่านี้อย่างจริงจัง” ไมค์ บัลท์เซอร์ หัวหน้าโครงการริเริ่ม Tigers Alive ของ WWF กล่าว“เนื่องในวันผู้พิทักษ์ป่าสากล เราขอแสดงความยกย่องเจ้าหน้าที่เดินเท้าผู้กล้าหาญ และเรียกร้องไปยังรัฐบาลประเทศที่มีประชากรเสือให้ช่วยเหลือและมอบเครื่องมือเครื่องใช้แก่พวกเขาให้มากกว่านี้ เพื่อปกป้องเสือในธรรมชาติจากภัยคุกคามหลัก นั่นคือ พวกลักลอบล่าสัตว์”

WWF ช่วยในการฝึกอบรมผู้พิทักษ์ป่าเพื่อยกระดับการบริหารจัดการ และประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฏหมาย WWF ยังให้การสนับสนุนการจัดตั้งสมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าแห่งเอเชีย หรือ RFAเป้าหมายเพื่อสร้างประชาคมให้ผู้พิทักษ์ป่าให้ได้รับความชื่นชมในงานที่พวกเขาทำ และเพื่อเชื่อมโยงองค์กรผู้พิทักษ์ป่าอื่นๆด้วย 

ขอขอบคุณ วีดีโอและเรื่อง จาก www.wwf.or.th