ปฏิรูปพนักงานพิทักษ์ป่า

ขวัญชัย ดวงสถาพร

เมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ส่งร่างแผนการปฏิรูปฯ ให้ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (นายกรัฐมนตรี) พิจารณา หลังจากทำงานอย่างหนักในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

ในแผนการปฏิรูปฯ ผมได้ให้รางวัลกับตัวเองในช่วงเทศกาลเข้าสู่ปีใหม่ 2561 เพราะได้ทำในสิ่งที่อัดอั้น และอยากทำมานานอยู่เรื่องหนึ่ง คือ…

การได้เริ่มช่วยเพื่อนร่วมงานกลุ่มหนึ่ง ที่คนเรียกเขาว่า “พิทักษ์ป่า” ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่พิทักษ์ป่า เพื่อป่าจะได้ “พิทักษ์” คนอื่นๆ ในประเทศ

ขออนุญาตอธิบายเหตุผลส่วนตัวว่าทำไมถึงอยากปฏิรูปเรื่องนี้

1) ผมให้น้ำหนักสำคัญของแผนการปฏิรูปประเทศเรื่องป่าไม้ คือ การหยุดยั้งการบุกรุกป่าที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ได้ เพื่อจะได้อำนวยประโยชน์และปกป้องภัยพิบัติให้คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไป และกลุ่มคนที่สำคัญไม่น้อยกว่ากลุ่มอื่นคือ ผู้ถือปืนลาดตระเวนปกป้องผืนป่าจริงๆ คือ “พนักงานพิทักษ์ป่า”

2) “พนักงานพิทักษ์ป่า” มีอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูง มีความเสี่ยงในการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าอาชีพอื่นที่ปฏิบัติงานคล้ายคลึงกัน เช่น ทหาร ตำรวจ แต่ “สวัสดิการ” ด้อยกว่าสายงานอื่นอย่างชัดเจนเมื่อบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่

3) “พนักงานพิทักษ์ป่า” ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายไม่เหมาะสม ซึ่งมีหลายกลุ่มทั้ง “ลูกจ้างประจำ” “พนักงานราชการ” และ “พนักงานจ้างเหมา” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พนักงานจ้างเหมา” แทบไม่มีสิทธิทางกฎหมายใดๆ (แต่เขาให้ถือปืน) เพราะไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ และมีสัญญาจ้างปีต่อปี!

4)”พนักงานพิทักษ์ป่า” พิทักษ์ป่าไว้ให้คนไปท่องเที่ยวหรือศึกษาธรรมชาติอย่างมีความสุข แต่อาจเป็นเพราะความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติในกฎหมายอุทยานฯ หรือเหตุผลอื่นๆ ทำให้การนำเงินส่วนนี้มาใช้เป็นสวัสดิการให้กับพวกเขาอาจต้องตีความข้อกฎหมาย

5) “พนักงานพิทักษ์ป่า” เสียชีวิตแต่ละครั้ง ทีวี หนังสือพิมพ์ออกข่าว มีผู้ไปร่วมงานศพจำนวนมาก หลายสถาบันจัดประชุมสัมมนา แต่ขาดกลไกแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

6) “สวัสดิการพื้นฐาน” ไม่แน่นอนแล้วแต่นโยบายผู้บริหารแต่ละท่าน เช่น บางปีมีประกันชีวิต บางปีไม่มี บางปีแจกชุดลายพราง บางปีไม่มี ?? (สายงานอื่นมี)

7) “พนักงานพิทักษ์ป่า” บางท่านพิการ สาเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนในตำแหน่งพนักงานจ้างเหมา จนขณะนี้บางคนยังไม่ได้บรรจุเป็นพนักงานราชการ เพราะการสอบจะต้องมีการทดสอบสมรรถนะร่างกายด้วย (ทราบว่าขณะนี้ หน่วยงานได้แก้ไขบ้างแล้ว)

8)คนกลุ่มนี้มาสมัครเป็นพนักงานพิทักษ์ป่า “ด้วยใจ” อยากเป็นผู้พิทักษ์ป่า เขาไม่ได้ถูกบังคับหรือเกณฑ์มา ดังนั้นคนกลุ่มนี้ควรได้รับเกียรติและการเชิดชู

9) หลายรัฐบาลพยายาม คุ้มครอง ดูแล จัดสรรที่ดินป่าไม้ให้กับคนกลุ่มหนึ่งที่ “ใช้ประโยชน์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต” แล้วผู้พิทักษ์ป่ากลุ่มนี้ล่ะ? เขาไม่มีที่ดินป่าไม้ครอบครอง เพราะ “เขามีหน้าที่พิทักษ์ป่า”

10) นอกจากนี้ ช่วง 3-4 ปีมานี้ ผมได้รับข้อความส่วนตัวจำนวนมากจากพนักงานพิทักษ์ป่า ส่งมาใน Facebook นี้ โทรมาหาผมบ้าง และมาให้ข้อมูลผมระหว่างศึกษาดูงานในพื้นที่ ส่วนใหญ่บอกผมว่า ไม่กล้าพูดกับเจ้านาย แต่กล้าพูดกับผมเพราะเห็นผมเป็น “อาจารย์” และน่าจะช่วยเขาได้

# ขอบคุณทุกท่าน ที่พยายามทนอ่านข้อความที่ผมเขียนข้างต้น ซึ่งค่อนข้างยาว

ผมหวังว่า สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ จะเป็นสิ่งสร้างขวัญกำลังใจให้กับ “พนักงานพิทักษ์ป่า” ได้บ้าง มิบังอาจให้เป็นของขวัญปีใหม่ 2561 เพราะเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นที่ผมและคณะกรรมการปฏิรูปฯ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องต่อสู้ต่อไปดังนี้

1) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บรรจุประเด็นปฏิรูปย่อย ที่ 1.1.5 เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพัฒนาระบบสวัสดิการของพนักงานพิทักษ์ป่าและผู้ปฏิบัติงานในภาคสนามให้เหมาะสม ยั่งยืน และไม่น้อยกว่าบุคคลากรสายงานอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยต้องสร้างกลไกทางนโยบายหรือกฎหมายเพื่อพัฒนาสวัสดิการให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2562

2) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ปรับปรุงกฎหมายอุทยานฯ และกฎหมายสัตว์ป่าโดยบัญญัติอย่างชัดเจนว่า ให้นำเงินรายได้มาใช้เป็นสวัสดิการพนักงานพิทักษ์ป่าในรูปแบบต่างๆ ด้วย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

สู้ต่อครับ …