แอพ’A-Eye’ฝีมือโจ๋ไทย ดูแลป่าไม้ด้วยสมาร์ตโฟน

“A-Eye” หรือ Extra eyes assisting in the environmental surveillance of the national parks แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟนที่พัฒนาขึ้นโดยเด็กไทย เพื่อช่วยดูแลป่าไม้ให้พ้นจากการเกิดไฟป่า และการลักลอบตัดไม้ทำลายสัตว์ป่า ด้วยแนวคิดที่ว่านักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าไม้ระหว่างการท่องเที่ยวภายในอุทยานแห่งชาติ

เป็นผลงานของ นายภัทรวุฒิ เรืองกนกมาศ น.ส.ชณิดา ดีโรจนเดช นายจิตนันท์ มีนไชยอนันต์ และนายศุภัชญา พวงพรทิพ นักศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหา วิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย 2013 (NSC 2013) ประเภท Environment App Contest เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

นายภัทรวุฒิกล่าวว่า นอกจากเจ้าหน้าที่รักษาป่าแล้วคนทั่วไปก็น่าจะมีส่วนร่วม อย่างนักท่องเที่ยว สมมติเจอไฟป่า ก็สามารถถ่ายรูปแล้วส่งไปยังศูนย์ควบคุมซึ่งมีเจ้าหน้าที่อุทยานตรวจสอบข้อมูลผ่านเว็บแอพพลิเคชั่น นอกจากนี้ในฟังก์ชันแผนที่ยังแจ้งพิกัดพื้นที่อันตรายเป็นวงกลมสีแดง เพื่อให้นักท่องเที่ยวทุกคนที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่นนี้บนมือถือเดินทางออกจากพื้นที่ได้อย่างปลอดภัยด้วย

ด้านน.ส.ชณิดากล่าวว่า ในด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว แอพพลิเคชั่นนี้มีแผนที่เสมือนจริงทำหน้าที่แทนไกด์ภายในอุทยาน บอกเส้นทางการเดินทางไปยังจุดน่าสนใจ และข้อมูลสำคัญของสถานที่นั้นๆ โดยอุทยานไม่ต้องเสียงบจัดพิมพ์แผ่นพับ อีกทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพราะนำเสนอทั้งภาพและเสียงเป็นภาษาอังกฤษ

 

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล รองคณบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมคอม พิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและคณะวิศวกรรม ศาสตร์ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน และโกอินเตอร์ไปพร้อมกับการมีจิตสาธารณะ นี่เป็นครั้งแรกของนักศึกษา 4 คนนี้ ที่ต้องลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลในป่า เพราะการทำแอพพลิเคชั่นนี้จะต้องสำรวจพื้นที่จริง โดยต้องเก็บพิกัดสถานที่ท่องเที่ยว ต้องออกแบบแผนที่ให้น่าดึงดูด ต้องเขียนบท ต้องอัดเสียง ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าเขาทำได้

อย่างไรก็ตาม แอพพลิเคชั่นนี้มีการวางพิกัดและพื้นที่ดำเนินงานเฉพาะอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ เท่านั้น แต่ถูกออกแบบให้เปลี่ยนข้อมูลอุทยานได้ โดยจะมีส่วนของการเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ที่ถ่ายโอนข้อมูลเพื่อรองรับข้อมูลของอุทยานอื่นๆ เพื่อให้อุทยานที่มีความสนใจจัดทำข้อมูลและอัพโหลดข้อมูลมาใช้งานบนแอพพลิเคชั่น A-Eye ได้

ขอขอบคุณภาพและข่าวจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด