เขื่อนแม่วงก์ : มหันตภัยคุกคามความอยู่รอดของเสือโคร่ง

เขื่อนแม่วงก์ : มหันตภัยคุกคามความอยู่รอดของเสือโคร่ง ภาพจาก dbccc.onep.go.th

เขื่อนแม่วงก์ : มหันตภัยคุกคามความอยู่รอดของเสือโคร่ง ภาพจาก dbccc.onep.go.th

ดร.รุ้งนภา พูลจำปา 
        ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูเสือโคร่ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน
    ไม่นานมานี้ เราเพิ่งผ่านเทศกาลเนื่องในวันเสือโลก (Global Tiger Day) สัตว์อันน่าหลงใหลที่กำลังเผชิญกับภาวะสูญพันธุ์จากการล่าโดยมนุษย์ การลดลงของที่อยู่อาศัย และการลดจำนวนลงของเหยื่อตามธรรมชาติ
    ประเทศไทยมีเสือโคร่งเหลืออยู่ราว 300 ตัว จากทั้งหมดทั่วโลกราว 3,500 ตัว เสือโคร่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์หนึ่งทางการอนุรักษ์ เพราะพวกเขามีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ อีกทั้งยังเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า
    แผนเชิงปฏิบัติการของประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายว่าในปี พ.ศ.2565 ประชากรเสือจะต้องเพิ่มขึ้น 50% ซึ่งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.กำแพงเพชร-นครสวรรค์ เปรียบเสมือนดั่งความหวังเพื่อการฟื้นฟูประชากรเสือในประเทศไทย โครงการฟื้นฟูประชากรเสือและเหยื่อตามธรรมชาติเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2534 โดยความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลก ประเทศไทย (WWF) โดยมีเป้าหมายคือการฟื้นฟูและรักษาประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่ของทั้งสองอุทยานฯ
    สิ่งแรกที่พวกเราทำคือการนับจำนวนเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และคลองลาน โดยการใช้กล้องดักถ่าย ซึ่งเทคนิคนี้ถือว่ามีคุณค่ามาก เนื่องจากเราจะสามารถจำแนกเสือแต่ละตัวออกจากกัน โดยการพิจารณาลายพาดกลอน ซึ่งจะเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละตัว จากการสำรวจพบว่า ปริมาณเสือในทั้ง 2 อุทยานฯ มีทั้งสิ้น 10 ตัว โดยมีลูกอ่อนอยู่ 2 ตัว ข้อมูลที่น่าสนใจคือ เสือจำนวนดังกล่าวมี 3 ตัวที่เกิดใกล้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งถือเป็นบริเวณที่มีความหนาแน่นของเสือสูงที่สุดในประเทศ แต่เสือทั้ง 3 ตัวนั้นได้ย้ายถิ่นฐานมายังบ้านหลังใหม่คืออุทยานแห่งชาติแม่วงก์และคลองลาน
    เสือโคร่งตัวเมียที่ครั้งหนึ่งเคยถูกบันทึกภาพได้ที่ห้วยขาแข้งในปี พ.ศ.2548 แต่ต่อมาได้เคลื่อนย้ายมายังอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และคลองลาน และปัจจุบัน เสือตัวนั้นได้ให้กำเนิดลูกอ่อน 2 ตัว ส่วนเสือที่อพยพมาจากห้วยขาแข้งอีก 2 ตัวนั้นเป็นเสือเพศผู้ ซึ่งตัวหนึ่งอาศัยอยู่ลึกราว 64 กิโลเมตร ในอุทยานแห่งชาติคลองลาน พฤติกรรมของมันบ่งบอกว่าที่นั่นคือบ้านหลังใหม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เสือในวัยหนุ่มมักจะเดินทางจากแม่เสือไปเป็นระยะทางไกล กล้องดักถ่าย ยังบอกเล่าเรื่องราวของเหยื่อที่เสือล่าเป็นอาหาร เช่นกระทิง กวาง เก้ง และหมูป่า รวมทั้งสัตว์สามสายพันธุ์ที่นับว่าเป็นสัตว์สงวนแห่งชาติ คือ สมเสร็จ เก้งหม้อ และเลียงผา
    นอกจากนี้ กล้องดักถ่ายยังสามารถเก็บภาพสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น เช่น เสือดาว เสือลายเมฆ หมาใน หมาป่า หมีควาย ลิงกัง ชะมดเช็ด หมูหริ่ง และเม่นภาพถ่ายดังกล่าวเป็นการยืนยันได้อย่างดีว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และคลองลาน เป็นพื้นที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในประเทศ แต่คำถามคือ เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เสือโคร่งและเหยื่อตามธรรมชาติได้รับการคุ้มครอง
    โครงการฟื้นฟูประชากรนั้น นอกจากจะตรวจสอบสภาพที่อยู่อาศัยและปริมาณสัตว์ป่า ยังรวมถึงสนับสนุนการลาดตระเวนและเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยการฝึกอบรมระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) ซึ่งจะสร้างเสริมทักษะการลาดตระเวน รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันพื้นที่อย่างมีศักยภาพ และลดการกระทำผิดกฎหมายในอุทยานแห่งชาติ อีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญคือการสร้างความตื่นตัวและการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และคลองลานได้จัดทีมเจ้าหน้าที่เพื่อเผยแพร่ข้อมูล โดยตั้งวงดนตรี ‘Big Cat’ โดยเน้นที่กลุ่มเยาวชนตามโรงเรียนในท้องถิ่น รวมทั้งในชุมชนที่อยู่โดยรอบอุทยานฯ โดยมีจุดมุ่งหมายคือการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่า
    คุณสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อปกป้องมิให้เสือโคร่งสูญพันธุ์? สิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าใครก็สามารถกระทำได้คือหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ป่า ซึ่งรวมไปถึงสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือโคร่ง รวมทั้งการบอกต่อข้อมูลข่าวสารเพื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าอีกมหันตภัยหนึ่งที่คุกคามต่อสถานภาพเสือโคร่งคือโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งกองทุนสัตว์ป่าโลก ประเทศไทย ได้เรียกร้องให้ยุติโครงการดังกล่าวที่อาจกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ อีกทั้งโครงการเขื่อนแม่วงก์ยังไม่สามารถแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่กำลังประสบอยู่
    อย่างไรก็ดี กองทุนสัตว์ป่าโลกนั้นสนับสนุนการพัฒนาที่จะไม่ทำลายระบบนิเวศที่เปราะบาง หรือส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น นอกจากจะเป็นการลดขนาดพื้นที่หากินของเสือโคร่ง ความหลากหลายทางชีวภาพที่พบในอุทยานยังอาจได้รับผลกระทบ หรือถึงขั้นสูญหายไปเนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยถูกรบกวน นอกจากนี้ การก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวยังเป็นการสร้างโอกาสที่ชุมชนจะขยายตัวเข้าสู่ผืนป่า อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางการล่าผ่านทางถนนที่ตัดเพิ่มเพื่อดำเนินการก่อสร้าง และนี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์
    อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกซึ่งถือเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาศัยของพันธุ์สัตว์หายากซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เช่น เสือโคร่ง และช้างป่า อีกทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของลำน้ำแม่กลอง หนึ่งในลำน้ำสายหลักของประเทศไทย กล้องดักถ่ายได้บันทึกภาพล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2555 คือภาพเสือแม่ลูกที่อยู่อาศัยห่างจากบริเวณก่อสร้างเขื่อนเพียง 10 กิโลเมตร การลดลงของที่อยู่อาศัย การเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ การพัฒนา การล่าเพื่อเป็นอาหาร และความต้องการชิ้นส่วนของเสือโคร่ง ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยลดน้อยลงทุกที การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จึงเปรียบได้ดั่งอีกมหันตภัยที่คุกคามการอยู่รอดของเสือโคร่งในประเทศไทย.

ข่าวจาก www.thaipost.net