สืบ นาคะเสถียร

….หนึ่งเปรี้ยง ปืนลั่น สะท้านป่า …….หนึ่งวูบ ไหวผวา ทั้งป่าลั่น
หนึ่งคืน นานยาว ราวกัปกัลย์ หนึ่งฝัน
กแล้วลับแนวไพร
หนึ่งคนควรค่าคาราวะ “สืบ” สร้าง สัจจะยิ่งใหญ่
หมื่นคำ ร่ำหา อาลัย รวมใจ สืบทอด เจตนา…..
(จิระนันท์ พิตรปรีชา วันที่ 3   กันยายน   2533)

บทความนี้ตรงกับความรู้สึกของข้าพเจ้าในขณะนั้นป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้ามีความรู้สึกประทับใจ และมีความนับถือระคนกับความเศร้าใจอย่างบอกไม่ถูก เมื่อได้ทราบประวัติของบุคคลท่านนี้ “ สืบ นาคะเสถียร ”   แม้นว่าข้าพเจ้าจะรู้จักและเคยได้ยินชื่อนี้มานานแล้ว แต่เมื่อได้เดินทางไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ทำให้ทราบว่าบุคคลท่านนี้มีชีวิตและการทำงานที่ยิ่งใหญ่เพียงใด


จากความประทับใจข้าพเจ้าได้สอบถามถึงประวัติของ สืบ นาคะเสถียร”  จากพี่ชายของข้าพเจ้า ซึ่งทำงานอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และศึกษาจากหนังสือและสื่อต่างๆ ทราบว่า สืบ นาคะเสถียร” ชื่อเดิมคือ “สืบยศ” เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492   ที่ตำบลท่างาม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี บิดาชื่อ นายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ปราจีนบุรี มารดาชื่อ นางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร สืบ นาคะเสถียรมีพี่น้องทั้งหมด 3 คน โดยสืบ นาคะเสถียร เป็นบุตรชายคนโต น้องชายและน้องสาวอีก 2 คนคือคุณกอบกิจ นาคะเสถียรและคุณกัลยา รักษาสิริกุลคุณสืบมีบุตรสาว 1 คน ชื่อชินรัตน์ นาคะเสถียร

ในช่วงวัยเด็ก สืบ นาคะเสถียร ต้องช่วยงานครอบครัวโดยการทำงานในนา ผลการเรียนดีมาตลอด  โดยชั้นประถมตอนต้น จบการศึกษาโรงเรียนประจำจังหวัด ปราจีนบุรี เมื่อเรียนจบชั้นประถม 4 ต้องห่างจากครอบครัวไปเรียนที่ โรงเรียนเซนหลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 5

พ.ศ.2511 เข้าเรียนที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย “สืบ” มีความตั้งใจเรียน แต่ก็เป็นคนที่ชอบเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนนิสิตเช่นกัน

พ.ศ.2514 จบการศึกษาจาก คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อมา พ.ศ.2516 สืบ นาคะเสถียรเข้าทำงานที่ส่วนสวนสาธารณะ ของการเคหะแห่งชาติ

พ.ศ.2517 เข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒน์วิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษา และในปี พ.ศ.2518 ได้บรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ และรับราชการกรมป่าไม้ เมื่อปี พ.ศ.2518 ในกองอนุรักษ์สัตว์ป่า “สืบ” เริ่มงานครั้งแรกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี ทำงาน อยู่ 3-4 ปี ในปี พ.ศ.2522 ก็ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนระดับปริญญาโท สาขาอนุรักษ์วิทยาที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ จากนั้น พ.ศ.2524 กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า บางพระ มีส่วนร่วมในการจัดการและประสานงาน รวมทั้งเป็นวิทยากร ฝึกอบรมพนักงาน พิทักษ์ป่าอีกหลายรุ่น

พ.ศ.2526 สืบได้ขอย้ายตัวเอง เข้ามาเป็นนักวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว งานวิจัยศึกษาสัตว์ป่าเป็นงานที่ “สืบ” รักมาก  โดยมีผลงานออกมามากมายถือเป็นมรดกให้กับคนรุ่นหลัง คือภาพถ่ายสไลด์สัตว์ป่าหายากนับพันๆ รูป ม้วนเทปวิดีโอภาพ สัตว์ป่าและปัญหา การทำลายป่าไม้ในเมืองไทยอีกหลายสิบม้วน

พ.ศ.2529 สืบได้รับมอบหมาย ให้ปฏิบัติงานในหน้าที่ หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้าง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เชี่ยวหลาน) จังหวัด สุราษฏร์ธานี ให้เข้าไปช่วยเหลืออพยพสัตว์ป่าที่ตกค้าง ในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่งที่นี่สืบได้ทำรายงานผลการอพยพสัตว์ป่าจากเขื่อนเชี่ยวหลาน เมื่อเพื่อคัดค้านรัฐบาลในโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี จนเป็นผลสำเร็จ โดยรายงานนั้นยืนยันว่าการสร้างเขื่อนเป็นการทำลายแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง เป็นผลให้สัตว์ป่าต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธ์หลายชนิดรวมอยู่ด้วย

พ.ศ.2531 สืบได้กลับเข้ามารับราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้

และต่อมา พ.ศ.2532 สืบ นาคะเสถียร ได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี

ประวัติการศึกษาและประสบความการณ์การทำงานของ “ สืบ นาคะเสถียร” ทำให้ทราบว่าท่านเป็นบุคคลที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อพิทักษ์ผืนป่าของไทยโดยความรักอย่างแท้จริง

ป่าห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าที่อุดมไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่าอันล้ำค่า ทำให้หลายฝ่ายต่างก็จ้องบุกรุกเข้ามา หาผลประโยชน์ สืบได้แสดง เจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะรักษาป่าผืนนี้ ไว้ให้ได้อย่างชัดแจ้ง ตั้งแต่วันแรก ที่เข้าไปรับงานหัวหน้าเขตฯ เขาได้ประชุมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าห้วยขาแข้งทั้งหมด และได้ประกาศ ให้รู้ทั่วกันว่า “ผมมารับงานที่นี่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน” สืบ นาคะเสถียร พยายามปกป้องป่าห้วยขาแข้งอย่างเข้มแข็ง แต่ก็ ไม่อาจหยุดยั้ง การบุกรุกของกลุ่มที่แสวงหาผลประโยชน์ได้

สืบได้พยายามในการที่จะ เสนอให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้งมีฐานะเป็นมรดกของโลก โดยได้รับการยกย่องอย่างเป็นทางการ จากองค์การ สหประชาชาติ สืบเล็งเห็นว่า ฐานะดังกล่าวจะเป็นหลักประกัน สำคัญที่คอยคุ้มครองป่าผืนนี้เอาไว้ อย่างถาวร ปลายปี พ.ศ. 2532 สืบได้รับทุน ไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก ที่ประเทศอังกฤษ พร้อม ๆ กับได้รับมอบหมาย ให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ที่มีความสำคัญมากไม่แพ้ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวร แต่ในที่สุด สืบ ก็ตัดสินใจเดินทางเข้ารับตำแหน่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แม้จะรู้ดีว่าหนทางข้างหน้าเต็มไปด้วย ความยากลำบากนานัปการ

พ.ศ.2533 จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่า ห้วยขาแข็งและทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นวิทยากรบรรยาย และร่วมอภิปราย ในโอกาสและ สถานที่ต่างๆหลายแห่ง ส่วนมากเป็นหัวข้อเรื่อง “การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ ปัญหาที่เกี่ยวข้อง” “การอพยพสัตว์ป่าตกค้าง ในเขื่อนเชี่ยวหลาน” เป็นต้น

การดูแลผืนป่าขนาดหนึ่งล้านไร่ ด้วยงบประมาณและกำลังคนที่จำกัด กลายเป็นภาระหนักอึ้งที่ตกอยู่บนบ่า ของเขา มันทั้งกัดกร่อนบั่นทอนและสร้างความตึงเครียดให้กับสืบอยู่ตลอดเวลา สืบค้นพบว่าปัญหาสำคัญ ของห้วยขาแข้งเกิดจากความยากจนที่ดำรงอยู่ โดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ ทำให้กลุ่มผลประโยชน์ และผู้มีอิทธิพลสามารถยืมมือชาวบ้านในเขตป่าสงวนเข้ามาตัดไม้ และลักลอบล่าสัตว์ในเขตป่าอนุรักษ์ ได้อย่างต่อเนื่อง

ในทรรศนะของเขา หนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้คือการสร้างแนวป่ากันชนขึ้นมา จากนั้น อพยพราษฎร ออกนอกแนวกันชน แต่พัฒนาแนวกันชนดังกล่าวให้เป็นป่าชุมชน ที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปหาประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม สืบไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะเข้าไปจัดการเรื่องนี้ให้ปรากฏเป็นจริง

ดังนั้นเขาจึงได้พยายามประสานงาน กับผู้ใหญ่ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงให้เห็นถึงความสำคัญของแนวคิด ดังกล่าว แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจฟังปล่อยให้สืบ ต้องดูแลป่าห้วยขาแข้งไปตามยถากรรมด้วยความเหนื่อยล้า ความผิดหวังและความคับแค้นใจ

เช้ามืดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2533 สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจผ่าทางตันด้วยการสั่งเสียลูกน้อง คนสนิท และเขียนจดหมายสั่งลา 6 ฉบับ ชำระสะสางภาระ รับผิดชอบและทรัพย์สินส่วนตัวที่คั่งค้าง มอบหมาย เครื่องใช้ และอุปกรณ์ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่า ให้สถานีวิจัย สัตว์ป่าเขานางรำ เพื่อนำไปใช้ตาม วัตถุกระสงค์ดังกล่าว ตั้งศาลเพื่อแสดงความคารวะต่อ ดวงวิญญาณของเจ้าหน้าที่ ซึ่งพลีชีพรักษาป่าห้วยขาแข้ง แล้วสวดมนต์ไหว้พระ จนจิตใจสงบขณะที่ฟ้ามืดกำลัง เปิดม่านรับวันใหม่ เสียงปีนดังขึ้นนัดหนึ่งในราวป่าลึก ที่ห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร ก็ปิดม่านชีวิตของเขาลง และเป็นบทเริ่มต้น ตำนานนักอนุรักษ์ไทย สืบ นาคะเสถียร ผู้ที่รักป่าไม้ สัตว์ป่าและธรรมชาติ ด้วยกายวาจา

และหลังจากนั้นอีกสองอาทิตย์ต่อมา ห่างจากบริเวณที่เกิดเสียงปืนดังขึ้นไม่กี่สิบเมตรบรรดาเจ้าหน้าที่ ระดับสูงของกรมป่าไม้ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นายอำเภอ ป่าไม้เขต และ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ อีกนับร้อยคน ต่างกุลีกุจอมาประชุมกันที่ห้วยขาแข้ง อย่างแข็งขัน เพื่อหามาตรการป้องกันการบุกรุก ทำลายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร รอวันนี้มาตั้งแต่วันแรกที่เขามาดำรงตำแหน่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้แล้ว แต่หากไม่มีเสียงปืนนัดนั้น การประชุมดังกล่าวก็คงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน…

การจากไปของสืบ นาคะเสถียรได้ส่งผลสะเทือนอย่างล้ำลึกต่อผู้คนที่รักธรรมชาติ และแสวงหาความเป็นธรรม ในสังคม ทั้งนี้เพราะว่าในยามที่ยังมีชีวิตอยู่ สืบมิได้เป็นเพียงข้าราชการอาชีพ ที่มีภาระการงานเกี่ยวกับการพิทักษ์ป่า และสัตว์ป่าเท่านั้น หากเป็นผู้นำคนสำคัญของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทย เป็นผู้ที่เคยต่อสู้เพื่อปกปัก รักษาทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยไม่คำนึงภัยอันตรายใดๆ การจากไปของเขานับเป็นความสูญเสีย ครั้งยิ่งใหญ่ และเป็นความสูญเสียที่นักอนุรักษ์ธรรมชาติทุกคนไม่อาจปล่อยให้ ผ่านพ้นไป โดยปราศจากความทรงจำ

กลางเดือนธันวาคม พ.ศ.2534 ราวปีเศษภายหลังการตายของสืบ นาคะเสถียร ที่ประชุมพิจารณาคัดเลือกแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ก็ได้ประกาศให้ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง” เป็น “มรดกทางธรรมชาติของโลก” นับเป็นพื้นที่ธรรมชาติแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับเกียรตินี้ หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับตีพิมพ์ข่าวอันน่ายินดีในวันรุ่งขึ้น ชาวอุทัยธานีจัดงานนิทรรศการ และเฉลิมฉลองให้กับสมบัติล้ำค่าของจังหวัด ที่ได้เป็นสมบัติล้ำค่าของชาวโลก…

ณ วันนี้ เจตนารมณ์ แนวคิดและผลงานของสืบ นาคะเสถียรได้รับการสานต่อ โดยนักการป่าไม้รุ่นใหม่ซึ่งซึมซับอุดมการณ์ และผลงานของท่านนำมาปรับใช้ และต่อยอดการทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการกลุ่มป่า การสื่อความหมายธรรมชาติ การพัฒนาระบบลาดตระวนเชิงคุณภาพเพื่อการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ เป็นหลักประกันในความคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อลูกหลานของเราในวันข้างหน้า ขอคาราวะแด่ดวงวิญญาณของ สืบ นาคะเสถียร ผู้ที่รักป่าไม้ สัตว์ป่าและธรรมชาติ ด้วยกายวาจา และใจ

“กิติ์สุดา”

ข้อมูลประวัติ และการทำงาน มาจาก

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร,2549.ตะโกนก้องจากพงไพร รวมผลงานและความคิด ของ สืบ นาคะเสถียร, โรงพิมพ์เดือนตุลา, กรุงเทพฯ

http://www.seub.or.th

“ผู้กล้าหาญที่แท้จริงคือผู้เสียสละความสุขเล็กน้อยส่วนตน เพื่อความสุขอันยิ่งใหญ่ของมหาชน”

นิรนาม