ศศิน เฉลิมลาภ ฝากการบ้าน”อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ”คนใหม่

ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ภาพจาก seub.or.th

ขอขอบคุณข่าวจาก: มติชน 23 ตุลาคม 2555

ไปๆ มาๆ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช คนต่อไปที่ต้องทำงานต่อจาก “คุณดำรงค์ พิเดช” ก็กลายเป็นตำแหน่งที่มีปัญหา ซึ่งขณะนี้กำลังถูกเฝ้ามองว่า “ใคร” จะมาทำงานต่อเนื่องกับคุณดำรงค์ หรือมาเปลี่ยนแปลง “ปรากฏการณ์ดำรงค์ พิเดช” จนป่านนี้…ก็ไม่รู้ว่าใครจะมานั่งเก้าอี้ร้อนๆ หรือเขารอจนอุ่นเย็นเสียก่อน ค่อยตั้งก็ไม่รู้ แน่นอนว่า ในปรากฏการณ์ดำรงค์ ที่ทำให้สถานการณ์ป่าเมืองไทยมีสีสันอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็มีทั้งฝ่ายบวก ฝ่ายลบ คิดเห็นต่างกัน ผมลองสำรวจความเห็นของตัวเองในฐานะของคนนอกที่ทำงานเกี่ยวข้องว่า อยากให้อธิบดีคนใหม่ทำอะไรต่อจากคุณดำรงค์

1.จัดการตรวจสอบพื้นที่เอกชนที่ยึดถือครอบครองในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเจ๋งๆ จากภายนอกมาร่วมทำงาน และสร้างกรอบการทำงานที่สามารถตอบคำถามสังคมว่า หากไม่ทุบทิ้งจะมีวิธีไหนที่ทำให้ได้พื้นที่ที่ทำหน้าที่ป่าคืนให้คนไทย แต่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ โดยไม่ต้องเกี้ยเซี้ย เบี่ยงไปเป็นการเช่า หรือผ่อนผันกันไม่รู้จบ แต่อาจจะเป็นการสร้างข้อตกลงแบบที่สังคมยอมรับบนหลักการทางกฎหมายและการมีส่วนร่วมบนหลักนิติธรรม

2.ไล่รื้อธุรกิจท่องเที่ยวรีสอร์ตในพื้นที่อุทยานฯ ถ้าจะให้สวย มันน่าจะมีการตรวจสอบบุคลากรที่ทำหน้าที่ควบคุมภายในกรมเอง ที่มีการปล่อยปละละเลยควบคู่ไปกับการตรวจสอบเอกชนให้ชัดเจนด้วยว่า หากปัญหาเกิดจากการทำงานของคนในเองก็ต้องมีมาตรการจัดการเช่นกัน

3.แยกแยะพื้นที่ปัญหาทับซ้อนชุมชนชาวบ้านออกจากพื้นที่บุกรุกโดยนายทุน โดยวางแผนแก้ไขปัญหาบนรัฐธรรมนูญที่บัญญัติมาตรารับรองสิทธิชุมชน ค่อยๆ ดำเนินการโดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่อนผันอนุโลมให้ชุมชนอยู่ และค่อยๆ หาทางควบคุมมิให้ขยายออกโดยไม่เปลี่ยนมือ

4.อธิบดีคนใหม่ควรปรับทัศนคติเรื่องบุคลากรที่จบจากสถาบันการศึกษาสายวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโรงเรียนป่าไม้ จ.แพร่ เพราะเป็นเรื่องที่จบมานับสิบปี ความรู้ความสามารถที่เรียนมาคงไม่ต่างกันมาก แต่ต้องพิจาณาการทำงานจากผลงานที่ผ่านมา ผมเคยเจอคนที่จบจากป่าไม้แพร่หลายคนที่ทำงานดีมีอุดมการณ์ ทำงานได้ ตัดสินใจเด็ดขาด ในขณะที่นักวนศาสตร์หลายคนก็มัวแต่อิงหลักการจนทำงานไม่คล่อง ที่ผ่านมาก็มีเรื่องรุ่นโน้นรุ่นนี้ทะเลาะกัน มาตั้งหลักกันใหม่บนเหตุผล และความเหมาะสมแต่ละบุคคล

5.ปัญหาใหญ่ของกรมนี้อีกเรื่องคือ เงินทุน และเรื่องอัตราจ้างที่ไม่มีคนทำงานจริง ที่เรียกว่า “ผี” จริงๆ ปัญหานี้อาจจะมีในทุกกรม แต่กรมนี้เกี่ยวข้องกับทรัพยากรสำคัญ ค่อยๆ ปรับ ไม่รับส่งนาย ไม่เก็บก๊อก ค่อยๆ ลดเรื่องอย่างนี้ลงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผมว่าจะได้ใจคนทำงานส่วนใหญ่ แต่อย่างว่าปัญหาแบบนี้จะให้จบให้หมดแบบเบ็ดเสร็จเป็นไปไม่ได้ แต่หากอธิบดีมาจากคนทำงาน ผมก็ว่าน่าจะพอทำได้

6.เรายังเก็บป่าที่สำคัญ ทรัพยากรทางชีวภาพระดับโลกไว้ได้พอสมควร งานที่ไม่ชัดคือ งานศึกษาวิจัย ทำให้ป่าของเราเป็นป่าที่มีคุณค่าในด้านทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก ให้มีงานวิจัยออกมาให้ประจักษ์ เพื่อรักษาป่าไว้อย่างถาวร ไม่ใช่เอะอะก็ให้กรมชลประทานมาขอทำเขื่อนกันง่ายๆ แบบเขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแก่งเสือเต้น 7.อย่าลืมเรื่องสวัสดิภาพสวัสดิการเจ้าหน้าที่และลูกจ้างพิทักษ์ป่า ตลอดจนแม่บ้านในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการทำงานรักษาป่า เอาแค่นี้ก่อนก็แล้วกันครับ