คู่มือการตรวจสถานที่เกิดเหตุในคดีสัตว์ป่าตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ Wildlife Crime Scene Investigation Guidelines

บทที่ 1

 บทนำ (Introduction)

 1.1 นิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science)

นิยามศัพท์: Forensic มาจากคำลาตินว่า forensis, หมายถึง สาธารณะ

นิติวิทยาศาสตร์ คือ “การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขามาประยุกต์ใช้ช่วยกระบวนการสืบสวนสอบสวน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและนำเอาผู้กระทำผิดในคดีความมาลงโทษตามกฎหมาย”

1.2 ความสำคัญของนิติวิทยาศาสตร์
ในปัจจุบันนี้ได้เกิดปัญหาด้านอาชญากรรมเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งการที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษเป็นเรื่องที่สำคัญอย่าง ยิ่ง โดยเฉพาะจะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานมายืนยันให้สามารถพิสูจน์ความผิดได้ อย่างชัดเจน ดังในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา จึงมีการเอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต่าง ๆ มาพัฒนาในการตรวจพิสูจน์หลักฐาน ให้ได้ผลถูกต้องแท้จริง ตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ผลอย่างดียิ่ง ในการติดตามหาคนร้ายต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เมื่อมีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้น สามารถจับกุมคนร้ายได้ 90% โดยการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ค้นคว้าวิจัย และผลิตขึ้นอย่างทันสมัย ผสานกับหลักนิติวิทยาศาสตร์นี้ให้บรรลุผลได้เป็นอย่างมาก
จากประโยชน์ดังกล่าวข้างต้น จึงมีการนำเอานิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในขอบเขตโดยทั่วไป ดังนี้
1.1.1 การตรวจสถานที่เกิดเหตุ และการถ่ายรูป (Crime Scene Investigation and Forensic)
1.1.2 การตรวจลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า (Fingerprint, Palmprint, Footprint)
1.1.3 การตรวจเอกสาร (Document) เช่น ตรวจลายเซ็น ลายมือเขียน
1.1.4 การตรวจอาวุธปืน และกระสุนปืนของกลาง (Forensic Ballistics)
1.1.5 การตรวจทางเคมี (Forensic Chemistry) เช่น การตรวจร่องรอยการเฉี่ยวชนรถ
1.1.6 การตรวจทางฟิสิกส์ (Forensic Physics) เช่น ตรวจร่องรอยการเฉี่ยวชนรถ
1.1.7 การตรวจทางชีววิทยา (Biological Trace Evidence) เช่น ตรวจเส้นผม เลือด อสุจิ
1.1.8 การตรวจทางนิติเวช (Forensic Medicine) ได้แก่ งานนิติพยาธิ งานนิติวิทยา งานชีวเคมี
1.3 การพิจารณาประเภทของพยานวัตถุและจุดประสงค์ในการตรวจพิสูจน์

 สามารถแยกวิธีการออกได้ดังนี้
1.3.1 การตรวจโดยวิธีทางเคมี และชีววิทยา (Chemical and Biological Analysis)
1.3.2 การตรวจโดยการใช้วิธีทางกายภาพ (Physical Experiments)
1.3.3 การตรวจโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ (Instrumental Analysis)

  1.4 นิติสัตวเวช (wildlife forensic science)

นิติสัตวเวช คือ “การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขามาประยุกต์ใช้ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีอาชญากรรมด้านสัตว์ป่าเพื่อผลในการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษ”

นิติสัตวเวช เป็นสาขาวิชาใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนการกระทำความผิดทางทรัพยากรธรรมชาติ อันได้แก่ ป่าไม้ และสัตว์ป่า มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาทดสอบ บ่งชี้ และเปรียบเทียบวัตถุพยานจากที่เกิดเหตุของการกระทำความผิดทางทรัพยากรธรรมชาติให้เชื่อมกับผู้ต้องสงสัยและเหยื่อ

1.5 กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ในคดีด้านสัตว์ป่า

อาชญากรรมเกี่ยวกับสัตว์ป่ามีสารพัดรูปแบบและขนาด ต่างกันแค่ชนิดและจำนวนของเหยื่อ

ประเด็นหลักที่นิติสัตวเวช แตกต่างจากนิติวิทยาศาสตร์ คือ เหยื่อ ซึ่งเปลี่ยนจากมนุษย์มาเป็นสัตว์ป่า แต่สิ่งที่ยังคงแน่นอนคือกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งพนักงานสอบสวนและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย โดยอาศัยความรู้ความสามารถในการสืบสวนสอบสวนและกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ อันประกอบด้วย วิธีการสืบสวน การเก็บวัตถุพยาน และการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ โดยการทดสอบวัตถุพยานโดยใช้หลักทางเคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิด

 

“อาชญากร ย่อมทิ้งหลักฐานไว้ในที่เกิดเหตุ”

“THE EVIDENCE CAN NOT LIE”

                                                                                                   

บทที่ 2                    

                                                       เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนกับกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ 

 

2.1 การรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินคดี

       พยานหลักฐานเป็นสิ่งสำคัญที่จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ซึ่งจะเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกคน ถ้าไม่มีพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลย ศาลก็ไม่สามารถลงโทษจำเลยได้ ดังนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถหาพยานหลักฐานมายืนยันความผิดของจำเลยได้ และจะต้องได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย

2.2 พยานหลักฐาน

พยานหลักฐาน หมายถึง หลักฐาน เครื่องพิสูจน์ข้อเท็จจริง หรือผู้รู้เห็นเหตุการณ์ หรือข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นหลักฐานหรือเครื่องพิสูจน์ได้

2.3 พยานหลักฐานตามกฎหมาย

พยานหลักฐานตามกฎหมาย หมายถึง สิ่งที่อ้างอิงในคดี ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ แบ่งเป็น

2.3.1 พยานวัตถุ หรือ วัตถุพยานที่พบในที่เกิดเหตุ เช่น ปืน มีด รวมทั้งภาพถ่าย

2.3.2 พยานเอกสาร เช่น หนังสือราชการ หากเป็นสำเนาต้องมีการรับรองความถูกต้อง

2.3.3 พยานบุคคล คือ ผู้รู้เห็น หรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์

2.4 ขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐาน

  • คดีอาญาปกติ

1)  ผู้เสียหายแจ้งพนักงานสอบสวน

2)  พนักงานสอบสวนเรียกตำรวจพิสูจน์หลักฐาน

3)  ตำรวจพิสูจน์หลักฐานออกตรวจเก็บวัตถุพยาน

4)  ตำรวจพิสูจน์หลักฐานส่งวัตถุพยานให้พนักงานสอบสวน

5)  พนักงานสอบสวนส่งวัตถุพยานให้ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน

  • คดีด้านสัตว์ป่าในพื้นที่ป่า

1)  เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนแจ้งพนักงานสอบสวนในพื้นที่

1.1) กรณีพบตัวผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่จัดทำบันทึกจับกุม รวบรวมของกลาง วัตถุพยาน และนำผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน

1.2) กรณีไม่พบตัวผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่จัดทำบันทึกตรวจยึด แจ้งพนักงานสอบสวน

2)  เจ้าหน้าที่ลาดตระเวน พนักงานสอบสวน ตำรวจวิทยาการตรวจพื้นที่เกิดเหตุเก็บวัตถุพยาน

3)  เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเป็นผู้ช่วยเหลือตำรวจวิทยาการ เก็บวัตถุพยาน

4)  ตำรวจพิสูจน์หลักฐานส่งวัตถุพยานให้พนักงานสอบสวน

5)  พนักงานสอบสวนส่งวัตถุพยานให้ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน

 

2.5 หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนกับกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์

 

ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทั้งที่เป็นข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการจะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ แต่ก็ไม่สามารถเก็บวัตถุพยานด้วยตนเองได้ ต้องเก็บผ่านพนักงานสอบสวน หากดำเนินการเก็บวัตถุพยานโดยไม่ผ่านนักงานสอบสวน ถือว่าวัตถุพยานนั้นได้มาโดยมิชอบศาลไม่รับฟัง เนื่องจากคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่าส่วนใหญ่จะเกิดในพื้นที่ป่าซึ่งยากต่อการเดินทางเข้าไปถึง ต้องรอคอยพนักงานสอบสวนหรือตำรวจพิสูจน์หลักฐาน  บางครั้งพยานหลักฐานอาจถูกทำลายหรือลบเลือนจากสภาพธรรมชาติ เช่น ฝนตก หรือการเน่าเปื่อยของซากสัตว์ป่า เป็นต้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ควรพิจารณาจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สามารถเก็บรวบรวมวัตถุพยานได้ในฐานะผู้ช่วยพนักงานสอบสวน เพื่อประโยชน์ในการตรวจและรวบรวมพยานหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุคดีสัตว์ป่า

อย่างไรก็ตามคู่มือเล่มนี้จะเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนซึ่งได้ประสานการปฏิบัติกับพนักงานสอบสวนแล้ว เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยการเป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวนในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ มีหน้าที่ ดังนี้

  • ตรวจที่เกิดเหตุเพื่อทำการค้นหาวัตถุพยาน
  • หาสาเหตุการตายของสัตว์ป่า

โดยชุดลาดตระเวนจะเข้าสู่พื้นที่เกิดเหตุ จะทำการค้นหาอย่างช้าๆและเป็นลำดับขั้นตอนเพื่อควบคุมดูแลพื้นที่และค้นหาวัตถุพยาน

 

2.6 ลำดับขั้นตอนการควบคุมและสั่งการในสถานที่เกิดเหตุ     

เมื่อชุดลาดตระเวนตรวจพบการกระทำผิดคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่าจะต้อง ควบคุมพื้นที่ ควบคุมตัวผู้ต้องหา และรายงานผู้บังคับบัญชา โดยมีขั้นตอนปฏิบัติ ดังนี้

  • ระดับผู้บังคับบัญชา (ที่ทำการ)

ผู้บังคับบัญชาที่ควบคุมชุดลาดตระเวน เช่น หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปรามปรามในพื้นที่คุ้มครองหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เมื่อผู้บังคับบัญชาได้รับแจ้งเหตุจากชุดลาดตระเวนแล้ว จะต้องประเมินสถานการณ์ ตรวจสอบความปลอดภัยของชุดลาดตระเวน จัดกำลังเสริมเพื่อสนับสนุน ยานพาหนะ เสบียง เพื่อนำตัวผู้ต้องหาและของกลางรวมทั้งวัตถุพยานจัดทำบันทึกตรวจยึดจับกุมนำส่งพนักงานสอบสวน ทั้งนี้พนักงานสอบสวนจะเดินทางไปตรวจที่เกิดเหตุพร้อมตำรวจพิสูจน์หลักฐาน หากที่เกิดเหตุอยู่ในป่าลึกพนักงานสอบสวนจะเก็บวัตถุพยานโดยมอบให้ชุดลาดตระเวนเป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวนในการเก็บวัตถุพยาน  

  • ระดับชุดลาดตระเวน

ชุดลาดตระเวนจะต้องปฏิบัติตามกระบวนการสถานที่เกิดเหตุ ดังนี้

1.) ป้องกันรักษาสภาพที่เกิดเหตุ

2.) การค้นหาและทำหมายจุด

3.) ทำแผนที่แสดงที่เกิดเหตุ

4.) ถ่ายภาพ

5.) เก็บวัตถุพยานและรักษาสภาพไม่ให้ข้อมูลหายไปกับการเสื่อม

6.) จัดการส่งต่อวัตถุพยาน (chain of custody of evidence)

ซึ่งจะอธิบายวิธีการโดยละเอียดในบทที่ 5 หัวข้อกระบวนการสถานที่เกิดเหตุ

 

2.7 การแบ่งหน้าที่ของชุดลาดตระเวน

โดยทั่วไปชุดลาดตระเวนหนึ่งจะประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ลาดตะเวน จำนวน 5 คน ซึ่งหากมีมากกว่า สามารถแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจที่เกิดเหตุ ได้ดังนี้

       2.7.1 หัวหน้าชุดตรวจที่เกิดเหตุ (หัวหน้าชุดลาดตระเวน) หัวหน้าชุดลาดตระเวน มีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานของชุดลาดตระเวนจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าชุดลาดตระเวนได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนการตรวจสถานที่เกิดเหตุอย่างละเอียดรอบคอบ และรายงานปัญหาอุปสรรคให้ผู้บังคับบัญชารับทราบ

 

       2.7.2 ช่างภาพ (รองหัวหน้าชุด) ช่างภาพ มีหน้าที่ ถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุ และวัตถุพยาน ควรถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุก่อนจะมีการค้นหา เพื่อจำลองสถานที่เกิดเหตุพร้อมหลักฐานต่างๆ ภายหลังได้ และถ่ายรูปพื้นที่เกิดเหตุอีกครั้งหลังการค้นหาไว้เป็นหลักฐาน เพื่อป้องกันคำกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่สร้างความเสียหายแก่สิ่งของที่ไม่ได้ยึดไว้เป็นหลักฐานระหว่างการตรวจค้น

 

       2.7.3 ผู้เก็บวัตถุพยาน ผู้เก็บวัตถุพยาน มีหน้าที่ ค้นหาหลักฐาน และเก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ โดยทำการร่างภาพคร่าวๆของสถานที่เกิดเหตุ และกำหนดจุดที่พบวัตถุพยาน ผู้เก็บวัตถุพยาน จะต้องระวังไม่ไปทำลายหลักฐานหรือวัตถุพยานระหว่างการค้นหา ควรมอบหมายเจ้าหน้าที่เพียงคนเป็นเจ้าหน้าที่เก็บหลักฐาน) เพื่อป้องกันความสับสนในการทำบันทึกการครอบครองวัตถุพยาน

เจ้าหน้าที่เก็บหลักฐานและช่างภาพ

       2.7.4 ผู้รักษาสถานที่เกิดเหตุ ผู้รักษาสถานที่เกิดเหตุ มีหน้าที่รักษาสถานที่เกิดเหตุให้ทำให้ที่เกิดเหตุ ให้อยู่ในสภาพเดิมทุกประการ สำหรับวิธีการรักษาสถานที่เกิดเหตุขึ้นกับสถานการณ์ และสถานที่เกิดเหตุนั้นๆ เช่น 

– ใช้เชือกกั้น  (Police Line Do Not Cross)

–  ปิดล้อม

– ใช้คนเฝ้า

ผู้รักษาสถานที่เกิดเหตุ อาจทำหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้

 

       2.7.5 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับชุดตรวจที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะต้องมีจำนวนเพียงพอเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถควบคุมที่เกิดเหตุและบริเวณรอบๆได้อย่างทั่วถึงตลอดเวลา เจ้าหน้าที่เหล่านี้มีหน้าที่

2.7.5.1 ควบคุมพื้นที่เกิดเหตุ

2.7.5.2 ควบคุมผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตไม่ให้เข้าหรือออกจากเขตพื้นที่เกิดเหตุ

2.7.5.3 คุ้มกันบริเวณที่เกิดเหตุและรักษาความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ

2.7.5.4 หากเป็นไปได้ ให้ตรวจสอบว่ามีผู้ใดรบกวนพื้นที่เกิดเหตุก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าควบคุมหรือไม่

       หากในชุดลาดตระเวนมีเจ้าหน้าที่มากกว่า 5 คน หัวหน้าชุดสามารถแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจที่เกิดเหตุกระจายกันไปตามความสามารถและความเหมาะสม

 

                                                                                                 บทที่ 3

                                                          สถานที่เกิดเหตุ (Crime Scene)

  3.1 สถานที่เกิดเหตุ (Crime Scene)

           สถานที่ที่มีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้น หรือมีเหตุการณ์ไม่ปกติที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเกิดขึ้น

3.2 ความสำคัญของสถานที่เกิดเหตุ
          สถานที่เกิดเหตุ คือ สถานที่ที่จะพบวัตถุพยานที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดขึ้น ทำให้เราสามารถวิเคราะห์, ตั้งข้อสันนิษฐาน, จำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และสามารถสืบสวนสอบสวน (Investigation) ให้ทราบว่า ใครเป็นผู้กระทำความผิด, ทำอย่างไร, ด้วยวิธีการใด, เมื่อใด, ที่ไหน ประสงค์กระทำต่อสิ่งใด และสาเหตุเพราะอะไร… ( Who – How – What – When – Where – Why )

ความสำคัญของสถานที่เกิดเหตุ(5W1H)

  • Who  ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคดี

– ผู้แจ้งเหตุ

– ผู้พบเหตุ

– ผู้เสียหาย

– ผู้กระทำผิด

– ประจักษ์พยาน

– ผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ

บุคคลเหล่านี้ต้องรู้ชื่อและสถานที่ติดต่อไว้

  • How วิธีการอย่างไร ข้อมูลที่ใช้ประกอบเป็นแผนประทุษกรรม How many จำนวนคนร้ายในคดีมีกี่คน จำนวนและมูลค่าทรัพย์สินที่สูญหายเสียหาย
  • What คำถามที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

– คดีอะไร

– เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น

– พฤติกรรมแห่งคดี

  • When เมื่อใด

– เวลาที่รับแจ้ง

– เวลาที่เดินทางออกจากสถานที่ตั้ง

– เวลาที่ถึงที่เกิดเหตุ

– เวลาที่เสร็จสิ้นการตรวจสถานที่เกิดเหตุ

– เวลาที่ออกจากสถานที่เกิดเหตุ

  • Where ที่ไหน

– ตำแหน่งของสถานที่เกิดเหตุ

– ตำแหน่งที่พบวัตถุพยาน ระบุให้ชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนฟ้องคดี

– ควรถ่ายภาพสิ่งที่อ้างอิงได้ เช่น หลักกิโลเมตร หมุดหลักฐาน ป้าย

– วัตถุพยานมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ควรบันทึกให้ละเอียด เช่น สภาพปืน แสงสว่าง     สภาพซากสัตว์ป่าที่พบ ถ้ากลับไปดูอีกจะไม่พบสภาพเดิม

  • Why ทำไมมีมูลเหตุ ต้องการทรัพย์สิน หรือ บันดาลโทสะ

 

3.3 การป้องกันหรือรักษาสถานที่เกิดเหตุ (Protection of the Scene)

การตรวจพิสูจน์หลักฐานจะประสบความสำเร็จได้ ต้องเริ่มต้นจากการรักษา สถานที่เกิดเหตุที่ดี แต่สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงคือความปลอดภัยของตัวเจ้าหน้าที่ที่ผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าอันตรายจากสัตว์ป่าที่บาดเจ็บ สารพิษ ภัยธรรมชาติ และการถูกลอบทำร้ายจากผู้กระทำผิด เนื่องจากสถานที่เกิดเหตุ คือบริเวณที่เชื่อว่ามีหลักฐานการทำผู้กระทำผิดทิ้งไว้ อาจเป็นบริเวณปางพักของพราน ซึ่งเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนต้องทำการจู่โจมหรือเข้าจับกุมเสียก่อน หรืออาจเป็นปางพักที่ถูกปล่อยร้างมาหลายวันก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้เพื่อควบคุมดูแลพื้นที่ และค้นหาหลักฐานให้ได้

 

3.4 การรักษาสถานที่เกิดเหตุ (Crime Scene Preservation)

หลักการ  คือ ทำให้สถานที่เกิดเหตุ อยู่ในสภาพเดิมทุกประการ( Freeze the Crime Scene)

วิธีการ  ขึ้นกับสถานการณ์ และสถานที่เกิดเหตุนั้นๆ เช่น

– ใช้เชือกกั้น  (Police Line Do Not Cross)

–  ปิดล้อม ปิดประตู ปิดบ้าน ฯลฯ

– ใช้คนเฝ้า

 

3.5 วิธีการค้นหาวัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุ

ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุนั้น หัวหน้าชุดลาดตระเวนหรือผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมอาจจะปรึกษาเพื่อวางแผนในการตรวจสถานที่เกิดเหตุด้วยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของกำลังพลและสภาพแวดล้อมในเหตุการณ์นั้นๆ หรืออาจจะประยุกต์ใช้มากกว่า 1 รูปแบบก็ได้ รูปแบบในการตรวจสถานที่เกิดเหตุที่นำไปใช้ปฏิบัติ ได้แก่

3.5.1 การค้นหาแบบแถวหน้ากระดานประยุกต์ หรือแบบตาราง (Grid Search)

ผู้ตรวจแบ่งออกเป็น 2 ส่วน จากนั้นดำเนินการตรวจสถานที่เกิดเหตุในทิศทางที่ตั้งฉากกัน

3.5.2 การตรวจแบบแถวหน้ากระดาน (Strip/Line search)

เป็นการตรวจแบบเรียงหน้ากระดานจากทิศหนึ่งไปยังอีกทิศหนึ่ง โดยให้กำหนดระยะห่างไม่เกินกว่าระยะที่แต่ละคนสามารถมองเห็นได้ชัดเจนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศและสภาพพื้นที่นั้นๆ โดยอาจจะกำหนดที่ระยะห่างระหว่างบุคคล 1-3 เมตร

 

3.5.3 การตรวจแบบแบ่งโซน (Quadrant/Zone search)

       เริ่มต้นโดยการกำหนดพื้นที่ออกเป็นส่วนๆซึ่งอาจจะเท่าหรือไม่เท่ากันก็ได้ และแบ่งเขตการรับผิดชอบในการค้นหาหลักฐานหรือวัตถุพยานออกไปให้แต่ละคนรับผิดชอบ

 

3.5.4 การตรวจแบบวงกลมหรือก้นหอย (Spiral search)

อาจใช้ผู้ดำเนินการตรวจพื้นที่เพียง  1 คนโดยเดินวนจากหลักฐานชิ้นแรกที่พบเป็นวงกลมขยายออกมาเรื่อยๆจนครอบคลุมทั้งพื้นที่ หรืออาจจะใช้ 2 คนทำเช่นเดียวกันแต่กำหนดให้เดินในทิศทางที่สวนทางกันเพื่อจะได้ตรวจหาวัตถุได้จากมุมที่ต่างกันอันจะทำให้สามารถตรวจพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น

หรืออาจจะกำหนดให้เดินสำรวจจากศูนย์กลางออกไป หรือจากทุกด้านโดยรอบเข้าหาศูนย์กลางก็ได้

หมายเหตุ:

1.การตรวจสถานที่เกิดเหตุไม่จำเป็นต้องดำเนินการตรวจโดยใช้คนทุกคน ควรเลือกหรือกำหนดเฉพาะผู้ที่มีความสามารถในการสังเกตได้ดีก็เพียงพอ

2.อาจจะใช้ร่วมกันมากกว่า 1 วิธีก็ได้ อาทิ เมื่อต้องการสำรวจเส้นทางเข้าออกอาจใช้ 1-2 คนสำรวจแบบก้นหอยรอบพื้นที่ และเมื่อพบวัตถุพยานและเส้นทางเข้าออกโดยรวมแล้ว อาจให้ทุกคนช่วยกันสำรวจแบบหน้ากระดานโดยละเอียดอีกครั้ง

บทที่ 4

วัตถุพยาน (Evidence)

                 

4.1 วัตถุพยานในคดีด้านสัตว์ป่า

“พยานหลักฐาน” หมายถึง สิ่งใดที่สามารถจับต้องได้ตามกฎหมาย และเป็นสิ่งที่สามารถนำเสนอในชั้นศาลเพื่อพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงในคดีได้

ตามประมวลกฎหมายวิธี.วิอาญา มาตรา 226 “พยานหลักฐาน” หมายถึง พยานวัตถุ (Physical Evidence) พยานเอกสาร หรือพยานบุคคล ตลอดจนหลักฐานอื่น ๆ ซึ่งจะใช้เป็นเครื่องพิสูจน์การกระทำผิดได้

อะไรที่เป็นวัตถุพยาน (ในคดีนั้นๆ) วัตถุพยานจะบอกอะไรให้ได้บ้าง จะเก็บรักษาวัตถุพยานและแปลผลวัตถุพยานอย่างไร ซึ่งวัตถุพยานที่พบในที่เกิดเหตุมีความสำคัญดังนี้

  • เป็นข้อมูลที่บ่งชี้ว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้น
  • เป็นข้อมูลที่บ่งชี้ถึงวิธีการกระทำผิดของคนร้าย
  • ใช้เชื่อมโยงผู้ต้องสงสัยเข้ากับผู้เสียหาย
  • ใช้เชื่อมโยงบุคคลเข้ากับสถานที่เกิดเหตุ
  • ใช้ยืนยันหรือหักล้างคำให้การของพยาน
  • สามารถชี้ถึงตัวผู้กระทำผิด
  • ใช้กำหนดแนวทางการสืบสวน
  • สามารถระบุชนิดของสารหรือวัตถุของกลาง

 

4.2 ประเด็นการใช้พิสูจน์หลักฐานในคดีด้านสัตว์ป่า

  • เราจะพบวัตถุพยานประเภทใด
  • เราจะเก็บและรักษาวัตถุพยานอย่างไร
  • คุณค่าของวัตถุพยานแต่ละชนิด

 

4.3 ประเภทของวัตถุพยาน

4.3.1 วัตถุพยานที่เสื่อมสภาพได้

  • ซาก
  • เนื้อสัตว์
  • การเก็บเนื้อเยื่อเพื่อตรวจดีเอ็นเอ

4.3.2 วัตถุพยานที่ไม่เสื่อมสภาพ

  • รอยพิมพ์
  • อาวุธและกระสุน
  • สารเคมีและสารพิษ

4.4 แหล่งที่จะพบวัตถุพยาน

  • สถานที่เกิดเหตุ (Crime Scene)
  • ตัวสัตว์ป่า หรือซากสัตว์ป่า(Victim)
  • ตัวต้องสงสัย หรือผู้ต้องหา (Suspect)
  • การเก็บวัตถุพยาน (Evidence Collecting)
  • ภาชนะหีบห่อ (Package)
  • การส่งตรวจพิสูจน์  (Delivery)  ชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุ เก็บวัตถุพยานส่งมอบให้ ผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐาน  ตรวจเปรียบเทียบหรือตรวจพิสูจน์
  • สถานตรวจพิสูจน์ (Forensic Medicine)
  • ห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์  (Forensic Medicine Laboratory)
  • กองพิสูจน์หลักฐาน  (Scientific Crime Detection and Laboratory

 

4.5 วิธีการได้มาซึ่งวัตถุพยานจากสถานที่เกิดเหตุ

  • รีบถึงที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด
  • ระงับเหตุไม่ให้ลุกลามออกไป
  • ป้องกันรักษาสถานที่เกิดเหตุ
  • การบันทึกสภาพของสถานที่เกิดเหตุ
  • การค้นหาและรวบรวมวัตถุพยาน
  • เก็บพยานหลักฐานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
  • กระทำการค้นหาและเก็บพยานหลักฐานอย่างเหมาะสม
  •  มีลูกโซ่การครอบครองพยานหลักฐาน(Chain of Evidence) โดยตลอด

 

4.6 สิ่งที่น่าจะนำมาใช้เป็นหลักฐานได้

  • ของเหลวจากร่างกาย
  • ดีเอ็นเอ
  • ซากชิ้นส่วนของสัตว์ป่า
  • คราบเลือด คราบอสุจิ
  • รากผม รากขน
  • แมลง พืช
  • รอยยาง รอยเท้า รอยสัตว์
  • ใยสิ่งทอ
  • วัสดุอื่นๆ

  

4.7 คุณค่าของวัตถุพยานแต่ละชนิด

     4.7.1 การประเมินคุณค่าวัตถุพยาน

4.7.1.1 วิเคราะห์วัตถุพยานทั้งหมด

4.7.1.2 วิเคราะห์วัตถุพยานบางประการที่นำไปสู่การกระทำผิด

4.7.1.3 ค้นหา รักษา และจดบันทึกวัตถุพยาน

4.7.1.4 เคลื่อนย้ายวัตถุพยานไปที่ห้องปฏิบัติการในสภาพเดิม และมีการลงบันทึกการส่งมอบตาม    หลักมาตรฐานสากล

4.7.1.5 การตรวจพิสูจน์ความผิดที่เกิดเหตุ

4.7.1.6 การเคลื่อนย้ายวัตถุพยาน

     4.7.2 การหาสาเหตุการตาย

4.7.2.1 เป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์ที่จะตรวจพิสูจน์ซาก

4.7.2.2 ระบุว่าเป็นสัตว์หรือชิ้นส่วนของสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ชนิดใด

4.7.2.3 จะทำการส่งตรวจทั้งในการชันสูตรและทางห้องปฏิบัติการ

 

4.8 การวิเคราะห์ความเกี่ยวข้องของมนุษย์

4.8.1 การตรวจสภาพซาก

  • มีการตัดหัวหรือขาหรืออวัยวะใดออกไป (โดยใช้เครื่องมือ)
  • มีการเอาเครื่องในออกไป (โดยใช้เครื่องมือ)
  • มีการหั่นเป็นชิ้น (โดยใช้เครื่องมือ)
  • มีส่วนของเครื่องหมายหรืออุปกรณ์ เช่น กับดัก แร้ว อยู่
  • พยาธิสภาพภายนอก
  • รอยโรคหรือรอยแผลต่าง เช่น รูกระสุน รอยเชือกรัด

4.8.2 แผลภายนอก

  • รอยตัดด้วยของมีคม
  • แผลทะลุ ถูกแทง ถูกยิง
  • แผลถลอก หรือ แผลขอบไม่เรียบ
  • แผลเก่า

 

4.9 หน้าที่และความรับผิดชอบของห้องปฏิบัติการทางนิติสัตวเวช

  • ตรวจวิเคราะห์ทางเคมี
  • อาชญาวิทยา
  • พันธุกรรมศาสตร์
  • กายภาพและรูปลักษณ์
  • พยาธิวิทยา
  • หลักฐานทางข้อมูลคอมพิวเตอร์

 

4.10 การเก็บและรักษาวัตถุพยาน

4.10.1 หลักฐานที่เสื่อมสภาพได้

4.10.1.1 ตัวสัตว์ หรือ ชิ้นส่วนของสัตว์ที่เน่าได้หากไม่แช่เย็น

  • วัดขนาด น้ำหนัก
  • บันทึกลักษณะภายนอก
  • ผ่าพิสูจน์
    • บันทึกลักษณะกายภาพ ที่เห็นด้วยตาเปล่า
    • ตัดเนื้อเยื่อเพื่อนำไปศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์
    • เก็บหลักฐาน
    • ระมัดระวัง
      • สารพิษ
      • สารพิษ ยาฆ่าแมลง
      • สารมีไอระเหย หรือสัตว์มีกลิ่น
      • ต้องรู้ว่าปกติเป็นอย่างไร
      • เปรียบเทียบทางกายวิภาคและพยาธิวิทยา ทำงานเป็นระบบ
      • อย่าไปสร้างภาพไว้ก่อนว่าจะพบอะไร และอย่ารีบสรุปจากสิ่งที่เห็นชัดที่สุด
      • ส่งตรวจทั้งทางมหภาคและจุลภาค
      • เก็บตัวอย่างให้ครบ
      • Every tissue, every time
      • เก็บใส่ถุงพลาสติก 3 ชั้น ติดป้ายให้ดี
      • อย่าเก็บหลายตัวอย่างรวมถุงเดียวกัน
      • ถ้ามีของเหลวให้แช่แข็งก่อนเพื่อไม่ให้หกเลอะเทอะ
      • ถ้าเป็นฟัน งา เล็บ จะงอยปาก  กระดูก ที่หักได้ ให้บุรองกันแตกด้วย
      • น้ำแข็งเทียม ดีกว่าน้ำแข็งธรรมดา และน้ำแข็งแห้ง ในการบรรจุ

4.10.1.2 การเก็บเนื้อเยื่อเพื่อตรวจดีเอ็นเอ

  • แนบบันทึกข้อมูลของที่เกิดเหตุ
  • ไม่ควร…
    • ใช้กระดาษเช็ดคราบเลือดส่ง
    • ดึงขนหรือตัดขนมั่วๆ
    • หั่นชิ้นหนังที่มีผิว ขน และ ไขมันส่งมา
    • การเก็บตัวอย่างที่ถูกต้อง
    • เนื้อเยื่อ

–   ยิ่งสดยิ่งดี

–   กล้ามเนื้อ หัวใจ และตับ ขนาด เหรียญบาท (สด) หรือลูกกอล์ฟ (เน่า)

–   ใส่ถุงพลาสติกแช่แข็ง หรือใช้สารดูดความชื้น(ส่งอุณหภูมิปกติ

  • คราบเลือด

–   ให้ได้มากสุดในพื้นที่เก็บน้อยสุด เช่น สำลีพันปลายไม้ ผ้ากอซ

–   ถ้าเก็บที่ติดวัตถุเล็ก เช่น ผ้า ใบไม้ ให้ส่งมาทั้งหมด

–   ถ้าเป็นเลือดสด ให้เก็บหลังผึ่งแห้ง ใส่ถุงกระดาษ ห้ามใส่พลาสติก

  • ควรทำการห่ออย่างดี พร้อมติดป้ายระบุให้ชัดเจนว่ามีอะไร
  • รีบส่งโดยแช่เย็นให้เร็วที่สุด หรือ ภายใน 24 ชม

4.10.2 หลักฐานที่ไม่เสื่อมสภาพ

  • ส่งวัตถุพยานเช่นเดียวกับมาตรฐานในมนุษย์
  • รอยพิมพ์ต่างๆ
  • อาวุธและกระสุน
  • สารเคมี สารพิษ
  • หลักฐานที่ไม่เสื่อมสภาพอื่นๆ

 

4.11 การตรวจพิสูจน์หลักฐาน (Scientific Crime Detection)

4.11.1 การตรวจพิสูจน์อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน

  • การตรวจเปรียบเทียบลูกกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืน ด้วยกล้องเปรียบเทียบ ( Comparison Microscope )
  • ตำหนิรอยลายเส้นที่ลูกกระสุนปืน
  • ตรงกัน
  • ตำหนิรอยลายเส้นที่จานท้าย
  • ปลอกกระสุนปืนตรงกัน
  • การตรวจวิถีกระสุนปืน

 

4.11.2 การตรวจพิสูจน์เลขหมายรถยนต์ รถจักรยานยนต์และเครื่องหมายทะเบียนอาวุธปืน

  • หลังตรวจ – เลขหมายประจำแชสซี ปรากฏขึ้น

 

4.11.3 การตรวจหลักฐานรอยประทับ

4.11.3.1 รอยรองเท้าและหลักฐานรอยประทับยางรถยนต์

  • อาชญากรมักไม่ค่อยกลบรอยรองเท้าหรือรอยยางรถยนต์
  • การค้นอย่างเร่งรีบหรือไม่มีระบบจะสามารถทำลายหลักฐานที่เปราะบางนี้ได้
  • แสงไฟในมุมทแยงจะช่วยในการหารอยรองเท้าบนฝุ่นหรือบนพื้นผิวต่างๆได้
  • เก็บรอยฝุ่นจากรองเท้า ด้วย rubber lift หรือ electrostatic dust print lifter
  • ควรถ่ายภาพรอยประทับทุกรอย ถ่ายภาพก่อนเก็บรอยพิมพ์ (ถ่ายแบบทั้งมีและไม่มีมาตราส่วน)
  • หลังจากนั้นหล่อหรือเก็บรอยขึ้น

 4.11.3.2 การหล่อวัตถุ

  • ผสมปูนพลาสเตอร์ประมาณ 2 ถึง 2.5 ส่วนต่อน้ำหนึ่งส่วนในถุงพลาสติก zip-lock
  • ผสมจนเข้ารูปที่ต้องการโดยการเอามือนวดจากข้างนอกถุง (นวดจนกระทั่งเหมือนกับแป้งขนมแพนเค้ก)
  • ปูนพลาสเตอร์จะต้องไม่มีวัตถุใดๆมาผสม
  • เทปูนพลาสเตอร์ลงบนไม้แบนๆที่วางไว้ข้างๆรอยประทับ อย่าเทลงบนรอยประทับโดยตรง
  • ขูดข้อมูลที่จะระบุรูปพรรณลงบนข้างหลังของแบบหล่อก่อนวัตถุจะแข็งตัว
  • หรือว่าใช้ปากกา Sharpe หลังจากแข็งตัวแล้ว
  • ปล่อยทิ้งไว้ 30 นาทีให้วัตถุที่หล่อสำเร็จแห้งก่อนยกออก (ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ)
  • อย่าพยายามทำความสะอาดวัตถุที่หล่อสำเร็จ
  • ปล่อยให้ผึ่งลมจนแห้งประมาณ 48 ชั่วโมง

 4.11.3.3 การหล่อรอยประทับรองเท้าหรือรอยเท้า

  • ค่อยๆเทปูนพลาสเตอร์ลงบนไม้คนสีซึ่งไหลไปยังรอยประทับ
  • สลักข้อมูลที่ระบุรูปพรรณลงบนวัตถุที่หล่อสำเร็จขณะที่มันกำลังจะแห้ง
  • ปล่อยให้มันอยู่คงที่ 15 – 20 ก่อนยกออก

4.11.3.4 การหล่อรอยประทับรองเท้าหรือรอยเท้าที่อยู่ในน้ำ

  • ผสมปูนพลาสเตอร์ 4 ส่วนต่อน้ำหนึ่งส่วน
  • สร้างเขื่อนรอบๆรอยประทับเพื่อหยุดการกระทบของลูกคลื่น และใช้แบบหล่อรอยเท้า
  • ค่อยๆเอาปูนพลาสเตอร์ที่แห้ง(แบบผง)พรมลงบนรอยประทับ
  • ปล่อยให้เศษปูนพลาสเตอร์ที่เป็นส่วนเกินลอยออกไป

4.11.4 การบรรจุห่อวัตถุที่หล่อสำเร็จ

  • เอาวัตถุที่หล่อสำเร็จส่งไปยังห้องทดลองโดยห่อลงในอุปกรณ์กันสะเทือนหรือวัตถุที่เต็มไปด้วยรู
  • อย่าห่อหรือใส่ในพลาสติก จะทำให้เกิดเชื้อรา

 

4.12 วิธีทั่วไปในการเก็บวัตถุพยาน (General Collection Technique)

4.12.1 รอยเท้า

เมื่อพบพื้นที่ต้องสงสัย ให้ทีมลาดตระเวนสั่งหยุดการเคลื่อนที่ก่อน จากนั้นสังเกตพื้นที่โดยรอบอันอาจจะเป็นเส้นทางเข้าออกของบุคคลต้องสงสัย อาจจะปรากฏร่องรอยการเข้าออกที่เป็นรอยเท้า หากพบให้ดำเนินการ

–          ถ่ายรูปโดยมีมาตราส่วนประกอบ วัดขนาด (กว้างXยาว)

–          วาดลวดลายของพื้นรองเท้าอย่างละเอียด

–          ทำการหล่อพิมพ์รอยเท้าด้วยปูนพลาสเตอร์

4.12.2        เสื้อ

 

เมื่อพบเสื้อผ้าของผู้ต้องสงสัยตกอยู่ เราจำเป็นต้อง

–          ดำเนินการถ่ายภาพสภาพของเสื้อนั้นๆก่อนโดยยังไม่แตะต้องแต่อย่างใด เพื่อให้ทราบถึงสภาพของเสื้อผ้านั้นๆว่าอยู่ในสภาพเช่นไรเมื่อพบเจอครั้งแรก

–          ค่อยๆหยิบเสื้อผ้านั้นออกมาทำการตรวจอย่างละเอียด บันทึกรายละเอียดของเสื้อผ้านั้นๆให้ครบถ้วน ได้แก่ ขนาด ยี่ห้อ สภาพความเก่า รอยขาดตามจุดต่างๆ สีสัน

–          ทำการค้นหาเอกสารหรือสิ่งของใดๆที่อาจจะตกค้างอยู่ภายในกระเป๋าอันอาจจะเป็นหลักฐานได้ เช่น ตั๋วรถเมล์ ซองยา  กระดาษจดบันทึก กระสุนปืน เป็นต้น

–          ถ่ายรูปเสื้อทั้งตัว ยี่ห้อ และจุดต่างๆที่เป็นจุดสังเกตทั้งหมดพร้อมมาตราส่วน

–          ทำการเก็บคราบเหงื่อไคลที่มักจะมีเซลล์พันธุกรรมแฝงอยู่ในตำแหน่ง คอเสื้อ รักแร้ เป็นต้น

4.12.3 กางเกง

–          ถ่ายภาพเพื่อบันทึกสภาพเมื่อแรกพบ

–          บันทึกรายละเอียดของเสื้อผ้านั้นๆให้ครบถ้วน ได้แก่ ขนาด ยี่ห้อ สภาพความเก่า รอยขาดตามจุดต่างๆ สีสัน

–          ทำการค้นหาเอกสารหรือสิ่งของใดๆที่อาจจะตกค้างอยู่ภายในกระเป๋าอันอาจจะเป็นหลักฐานได้ เช่น ตั๋วรถเมล์ ซองยา  กระดาษจดบันทึก กระสุนปืน เป็นต้น

–          ถ่ายรูปกางเกงทั้งตัว ยี่ห้อ และจุดต่างๆที่เป็นจุดสังเกตทั้งหมดพร้อมมาตราส่วน

–          ทำการเก็บคราบเหงื่อไคลที่มักจะมีเซลล์พันธุกรรมแฝงอยู่ในตำแหน่งขอบกางเกง เป็นต้น

       4.12.4 อาวุธปืน –ปลอกกระสุน

หากพบปลอกกระสุนที่ใช้แล้วหรือลูกกระสุนที่ตกหล่นอยู่ ให้ดำเนินการเก็บใส่ในถุงเพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์ชำนาญการด้านอาวุธปืนตรวจหารอยนิ้วมือแฝงหรือร่องรอยฝาท้ายต่อไป

4.12.5        ก้นบุหรี่

 

–          ทำการถ่ายภาพ ณ ตำแน่งที่พบก้นบุหรี่หรือซองบุหรี่

–          จดบันทึกรูปร่าง ลักษณะ ยี่ห้อ ปริมาณ และชนิดของก้นบุหรี่หรือซองบุหรี่ที่พบ ในกรณีเป็นกระดาษมวนยาหรือใบไม้ให้ระบุสภาพและปริมาณเท่าที่ทำได้

–          นำซองบุหรี่หรือก้นบุหรี่หรือมวนยาสูบดังกล่าว เก็บใส่ถุงกระดาษที่มีเม็ดสารดูดความชื้นหรือใส่ในถุงกระดาษก็ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อนำไปตรวจหาเซลล์จากริมฝีปากที่มีสารพันธุกรรมที่มักจะติดอยู่ได้

–          ไม่ต้องใช้สำลีพันก้านไม้มาเก็บแต่อย่างใด

4.12.6 ขวดน้ำดื่ม

–          ถ่ายภาพเพื่อบันทึกขนาด รูปร่าง ปริมาตร สี ความขุ่นใสของน้ำที่อาจเหลืออยู่ในขวด ตลอดจนฉลากข้างขวด

–          ตรวจหารอยนิ้วมือแฝงบริเวณผิวเรียบของขวด ดำเนินการลอกลายนิ้วมือแฝงนั้นๆ

–          เก็บตัวอย่างพันธุกรรมจากบริเวณปากขวด โดยใช้สำลีพันปลายไม้ชุดน้ำกลั่นพอหมาดๆ ทำการเช็ดบริเวณปากขวดโดยรอบให้ทั่ว ปล่อยจนสำลีดังกล่าวแห้ง จากนั้นเก็บใส่ถุงกระดาษหรือถุงพลาสติกที่บรรจุสารดูดความชื้น

4.12.7 เส้นผม

–          ทำการตรวจหาเส้นขนหรือเส้นผมอันอาจจะเป็นของผู้กระทำผิดหรืออาจจะเป็นของสัตว์ที่ถูกล่า อันจะช่วยเป็นหลักฐานในการเชื่อมโยงคดี และ/หรือ มัดตัวผู้กระทำผิดได้

4.12.8 กองไฟ

–          ถ่ายภาพสภาพกองไฟเมื่อแรกพบว่ามีสภาพเก่า-ใหม่เพียงไร มีร่องรอยการเหยียบย่ำภายหลังหรือไม่ พอจะกำหนดระยะเวลาที่ผ่านมาว่านานเพียงไร ทำการบันทึกรายละเอียด

–          พิจารณารูปแบบของการก่อกองไฟ เช่น ใช้สามเส้า ใช้ก้อนหิน ขุดหลุม ทำนั่งร้านเหนือกองไฟ เป็นต้น ทำการจดบันทึกรายละเอียด

–          พิจารณาปริมาณขี้เถ้ามากน้อยเพียงไร น่าจะใช้กองไฟดังกล่าวเพื่อหุงหาอาหารในการพักแรมกลางคืน หรือ เพียงแค่ต้มกาแฟชั่วครู่ หรืออาจจะให้ความอบอุ่นในการพักนอน ทำการบันทึกรายละเอียด

–          ตรวจพื้นที่โดยรอบเพื่อหาที่มาของแหล่งไฟ อาทิ ขอนไม้ว่าถูกนำมาจากแหล่งใด ซึ่งเราอาจจะพบรอยเท้าหรือวัตถุพยานอื่นเพิ่มเติมในบริเวณดังกล่าว หรือ อาจจะพบเศษเชื้อการก่อไฟ เช่น ยางรถยนต์ กระป๋องแก๊ส เป็นต้น

       นอกจากนี้ยังมีวิธีเก็บวัตถุพยานที่เกี่ยวข้องอีกมาก จำเป็นที่ผู้ปฏิบัติงานต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา และการฝึกทักษะการเก็บวัตถุพยานรูปแบบต่างๆ จะทำให้เกิดความชำนาญมากขึ้น

 

It’s time to investigate

Some “impressive” evidence!

 

                                                                                             

บทที่ 5

                                      กระบวนการตรวจสถานที่เกิดเหตุ (Processing a Crime Scene)

                          

 กระบวนการตรวจสถานที่เกิดเหตุ

การตรวจสถานที่เกิดเหตุมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันรักษาสภาพที่เกิดเหตุ การค้นหาและทำหมายจุดวัตถุพยาน การทำแผนที่แสดงที่เกิดเหตุ การถ่ายภาพ การเก็บวัตถุพยานและรักษาสภาพวัตถุพยานไม่ให้ข้อมูลหายไปกับการเสื่อมสภาพ รวมทั้งการจัดการส่งต่อวัตถุพยาน (Chain of custody of evidence) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

กระบวนการตรวจสถานที่เกิดเหตุมีลำดับขั้นตอนประกอบด้วย การรับแจ้งเหตุ การเตรียมการก่อนเดินทางไปสถานที่เกิดเหตุ การตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ การจัดทำรายงานการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และการสรุปรายงานผล มีรายละเอียดและสาระสำคัญดังนี้

5.1 การรับแจ้งเหตุ

       ชุดเจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุจะต้องจัดให้มีช่องทางติดต่อสื่อสารที่สะดวกและรวดเร็ว เช่น วิทยุสื่อสารโทรศัพท์ โทรสาร จดหมายอีเล็กโทรนิค อินเตอร์เน็ต หรือช่องทางอื่นๆ เพื่อที่จะได้ดำเนินการข้าไปตรวจสถานที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันพยานหลักฐานถูกทำลายจากสภาพแวดล้อม

      

5.2 การเตรียมการก่อนเดินทางไปสถานที่เกิดเหตุ

       การที่จะไปตรวจสถานที่เกิดเหตุจะต้องเตรียมการล่วงหน้า (Advance preparation)    

ให้มีความพร้อม ทั้งกำลังคน ยานพาหนะ การติดต่อสื่อสาร และอุปกรณ์พื้นฐานในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ประกอบด้วย

–      อุปกรณ์พื้นฐานในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ

–      อุปกรณ์เกี่ยวกับการถ่ายภาพ

–      ของใช้ส่วนบุคคล

–      อุปปกรณ์ตรวจลายนิ้วมือแฝง

–      อุปกรณ์อื่นๆ

 

5.3 การตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ

       5.3.1 การเตรียมการก่อนเข้าตรวจสถานที่เกิดเหตุ

การวางแผนการตรวจสถานที่เกิดเหตุ โดยการประเมินสถานการณ์เบื้องต้นและจัดแบ่งหน้าที่ในการปฏิบัติงาน

   

       5.3.2 การป้องกันหรือรักษาสถานที่เกิดเหตุ (Protection of the Scene)

สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ คือความปลอดภัยของเจ้าหน้าทีผู้ปฏิบัติงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้พ้นอันตรายจากสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ สัตว์ป่า ผู้กระทำผิดกฎหมาย ควรกันผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากสถานที่เกิดเหตุ และรักษาสถานที่เกิดเหตุให้อยู่ในสภาพเดิมที่สุด

5.3.3 การสำรวจสถานที่เกิดเหตุเบื้องต้น                

              ทำการสำรวจสถานที่เกิดเหตุเพื่อค้นหาวัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุ ตามวิธีค้นหาวัตถุพยานในบทที่ 3 หากมีพยานบุคคลหรือผู้ต้องหาให้แยกไปทำการสอบสวน หากพบสัตว์ป่าบาดเจ็บให้ทำการติดต่อสัตวแพทย์ เพื่อทำการช่วยเหลือ หากพบซากสัตว์ป่าให้ปฏิบัติ ดังนี้

       ขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อพบซาก

1)  ถ่ายภาพ ระยะไกล ระยะกลาง และระยะใกล้

2)  บันทึกรายละเอียด

3)  สังเกตและบันทึกสภาพซาก

4)  วัดขนาด น้ำหนัก

5)  หากมีบาดแผลให้วัดขนาดและหาวิถีกระสุน

6)  ผ่าพิสูจน์ เก็บเส้นขน

7)  เก็บตัวอย่างพันธุกรรม (DNA)

5.3.4 การพิจารณาวิเคราะห์วัตถุพยานพร้อมการกำกับเลขหมาย

        (Recognition and marking of Physical Evidence)

       พิจารณาวิเคราะห์วัตถุพยานว่าในที่เกิดเหตุ มีวัตถุพยานชิ้นใดบ้างที่มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด และทำการใส่หมายเลขกำกับตามลำดับความสำคัญเพื่อป้องกันการสับสน แล้วบันทึกลงในบัญชีวัตถุพยาน

5.3.5 การบันทึกรายละเอียดสถานที่เกิดเหตุ (Documentation)

5.3.5.1 การจดบันทึก (Notes taking) โดยการวัดระยะวัตถุพยาน อาจจะใช้เทปวัดหรือใช้จีพีเอส (GPS) วัดระยะวัตถุพยานโดยสมมุติเส้นแนวหลักอ้างอิงขึ้นมา และวัดระยะจากเส้นอ้างอิงไปยังวัตถุพยานที่พบ

5.3.5.2 การถ่ายภาพ (Photography) ระยะไกล ระยะกลาง และระยะใกล้

5.3.5.3 การร่างภาพ (Sketch plans) ร่างภาพสถานที่เกิดเหตุให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีการกำหนดทิศ ให้ทิศเหนือชี้ขึ้นด้านบนของกระดาษ เพื่อความสะดวกในการอ้างอิง ไม่จำเป็นต้องกำหนดมาตราส่วน

5.3.5.4 การบันทึกวีดีโอและบันทึกเสียง (Video & Audio Recording) หากมีอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงให้บันทึกภาพวีดีโอและเสียงรอบๆ ที่เกิดเหตุ รวมทั้งวัตถุพยานและหลักฐานในที่เกิดเหตุ

 

5.3.6 การเก็บรวบรวมและการหีบห่อวัตถุพยาน (Collection and Packaging of Physical Evidence)

การบันทึกรายละเอียดและปิดผนึกหีบห่อวัตถุพยาน โดยหีบห่อที่ใช้ในการเก็บวัตถุพยาน จะต้องไม่ทำลายวัตถุพยาน โดยทั่วไปมีดังนี้

  • กระดาษ
  • ถุงกระดาษ
  • ซองกระดาษ
  • กล่องกระดาษแข็ง
  • พลาสติก
  • กระป๋องโลหะ
  • ภาชนะแก้วหรือพลาสติกสำหรับใส่ของเหลว

รายละเอียดที่จะต้องบันทึกบนฉลากปิดพยานวัตถุ

1) ชื่อผู้เก็บ
2) วัน เวลา ที่เก็บ
3) ชนิดคดี
4) ลักษณะ, ตำแหน่งที่พบ
5) รายละเอียดคดี
6) วัน เวลา ที่เกิดเหตุ
7) สถานที่เกิดเหตุ
๘) การเก็บรวบรวม เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการปฏิบัติต่อพยานวัตถุ

 

5.3.7 การเก็บและการรักษาวัตถุพยาน (Collection and Preservation of Evidence)

การเก็บและการรักษาวัตถุพยาน จำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์สำหรับการเก็บวัตถุพยานชนิดต่างๆ โดยเฉพาะ ประกอบด้วย

1) ผ้าปิดปากและจมูก                                       1      ชุด

2) ถุงมือตรวจโรคชนิดไม่มีแป้ง                       1      กล่อง

3)  กรรไกร                                                         1      เล่ม

4) สมุดจดบันทึก                                                1      เล่ม

5)  สายวัด หรือ เทปวัดขนาด                           1      อัน

6)  ปากคีบ                                                          1      อัน

7) ปากกา                                                           1      ด้าม

8) หมายเลขกำกับวัตถุพยาน                           1      ชุด

9)  แผ่นพลาสติกปูพื้นสีดำ/น้ำเงิน                  1      ชุด

10) สกอตเทป                                                   1      อัน

11) สารดูดความชื้น                                           1      ชุด

12) ก้านไม้พันสำลี                                           10    อัน

13) ถุงพลาสติกพร้อมฉลากระบุรายละเอียด

– ขนาด 2×4 นิ้ว                                                  10    ใบ

– ขนาด 4×6 นิ้ว                                                  10    ใบ

– ขนาด 6×8 นิ้ว                                                 10    ใบ

– ขนาด 10×18 นิ้ว                                             5      ใบ

14) ไม้บรรทัดหรือมาตราส่วน                           1      อัน

15) ชุดลอกลายนิ้วมือแฝง                                1      ชุด

16) กระดาษสำหรับเก็บลายนิ้วมือ                    1      ชุด

 

นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อื่นๆเพิ่มเติม หากแต่เป็นอุปกรณ์ที่ชุดลาดตระเวนแต่ละทีมมีใช้กันเป็นประจำอยู่แล้ว อาทิ

17) กล้องถ่ายรูป                                                   1      ตัว

18) กระดาษหรือสมุดสเกตภาพ                          1      เล่ม

19) มีด                                                                    1      เล่ม

20) เครื่องมือระบุพิกัดตำแหน่ง (GPS)              1       เครื่อง

21)  แบบฟอร์มต่างๆ ที่ใช้บันทึกข้อมูล

สำหรับอุปกรณต่างๆ ที่ใช้ เราสามารถดัดแปลงและหาซื้ออุปกรณ์ที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไปนำมาใช้ได้ในราคาที่ไม่แพง ตัวอย่างเช่น รายการอุปกรณ์ในชุดTest Kit นิติสัตวเวช ราคาไม่เกิน 100 บาทซึ่ง รศ.ดร.สพ.ญ.นันทริกา  ชันซื่อ จากคณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความอนุเคราะห์กับผู้เข้ารับการการฝึกอบรมหลักสูตร การสืบสวนดำเนินคดีด้านป่าไม้และสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

       5.3.8 การจัดลำดับการครอบครองวัตถุพยาน หรือ ลูกโซ่ของการครอบครองพยานวัตถุ

 

                  (Chain of custody)

       เมื่อมีการเก็บและหีบห่อวัตถุพยานเรียบร้อยแล้ว จะต้องดำเนินการ

• การจัดการ (Taking) โดยการทำตำหนิ ระบุวันเดือนปี เวลาเก็บ พร้อมทำ รายละเอียดต่าง ๆ ของพยานวัตถุนั้นจากสถานที่เกิดเหตุจริง

• การเก็บ (Keeping) แสดงให้เห็นว่าพยานวัตถุนั้นได้ ถูกเก็บไว้อย่างถูกต้องตาม หลักวิชาการ มีการแยกเก็บและจำกัดให้เกี่ยวข้องได้เฉพาะผู้ที่จำเป็นเท่านั้น

• การขนส่ง (Transporting) แสดงให้เห็นว่า ไม่เกิดการสับสนกับของกลาง หรือ พยานวัตถุอื่นๆ รวมถึงแสดงให้เห็นว่าพยานหลักฐานนั้นได้ถูกบรรจุหีบห่อ ปิดผนึก และติดฉลากได้อย่างเหมาะสม

• การส่งมอบ (Delivering) เป็นการพิสูจน์ว่าของกลางได้ส่งมอบให้แก่ผู้รับ อย่างถูกต้อง และเหมาะสมโดยมีหลักฐาน แสดงวัน เดือน ปี เวลา ที่รับของกลาง รายละเอียดของของกลางและให้ผู้รับลงลายมือชื่อพร้อมทั้งวันเวลาในสำเนาหนังสือนำส่งด้วยทุกครั้ง

 

5.4 การจัดทำรายงานการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ

การจัดทำรายงานตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุในคดีสัตว์ป่า ไม่มีรูปแบบตายตัว แต่จะต้องมีสาระสำคัญปรากฏตามตัวอย่างแบบฟอร์มการกรอกข้อมูลการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุสำหรับชุดลาดตระเวน ดังนี้

5.4.1 แบบฟอร์มการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีป่าไม้

5.4.2 แบบฟอร์มแผนผังสังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ

5.4.3 แบบฟอร์มบัญชีวัตถุพยาน

5.4.4 แบบฟอร์มบันทึกข้อความส่งหลักฐานตรวจพิสูจน์

5.4.5 แบบฟอร์มนำใบส่งสัตว์ป่าบาดเจ็บหรือซากสัตว์ป่าให้สัตวแพทย์ตรวจชันสูตร

 

5.4 การสรุปรายงานผล

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด หัวหน้าชุดลาดตระเวนจะทำการรวบพยานหลักฐาน ภาพถ่าย เอกสารที่เกี่ยวข้อง จัดทำรายงานสรุป แนบบันทึกตรวจยึดจับกุม หรือ รายงานการลาดตระเวน ดำเนินการตามกฎหมาย หรือ ระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับการพิสูจน์ทราบของกลางที่เป็นสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการพิสูจน์ทราบของกลางที่เป็นสัตว์ป่า กรณีการตรวจพบความผิดรายสำคัญ ให้ผู้จับกุมถ่ายภาพแต่ละขั้นตอนรายงานผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาก่อนจะทำลายของกลาง โดยให้มีรายละเอียด ชนิด จำนวน เพศ น้ำหนัก สีผิว ขน ผิวหนัง มูล ปัสสาวะ เป็นต้น โดยขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจำแนกชนิดของสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่าให้ถูกต้องเสียก่อน อธิบายรอยบาดแผล รอยกระสุนปืน เป็นต้น และให้ประสานกับสัตวแพทย์ตรวจชันสูตรซากเพื่อหาสาเหตุการตาย พร้อมกับให้เตรียมความพร้อมในเรื่องสถานที่เก็บรักษาของกลางด้วย รายละเอียดตามหนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ด่วนที่สุด ที่  ทส ๐๙๐๙.๕๐๓/๔๔๘๘ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๑  และขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า หรือ DNP WIFOS เป็นหน่วยงานที่ให้บริการตรวจพิสูจน์พันธุกรรมของสัตว์ป่า ได้แก่ สัตว์ป่า, ชิ้นส่วน ของสัตว์ป่า และซากสัตว์ป่าของกลางที่ไม่ทราบชนิด เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาดำเนินคดี โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาอาชญากรรมสัตว์ป่า และช่วยอนุรักษ์ ทรัพยากรสัตว์ป่าในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

 

บทที่ 6

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

6.1 บทสรุป 

แนวทางการตรวจสถานที่เกิดเหตุในคดีสัตว์ป่าตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ฉบับนี้ ประกอบไปด้วยความรู้ที่เกี่ยวกับการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ความรู้เกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์ อาชญากรรมเกี่ยวกับสัตว์ป่า กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ นิติสัตวเวช (Wildlife forensics) เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนกับกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ สถานที่เกิดเหตุ ความสำคัญของสถานที่เกิดเหตุ (5W1H) การป้องกันหรือรักษาสถานที่เกิดเหตุ (Protection of the Scene) วัตถุพยาน ประเภทของวัตถุพยานที่พบ การเก็บและรักษาวัตถุพยาน คุณค่าของวัตถุพยานแต่ละชนิด กระบวนการตรวจสถานที่เกิดเหตุ มีเนื้อหาเกี่ยวกับ การรับแจ้งเหตุ การเตรียมการก่อนเดินทางไปสถานที่เกิดเหตุ การตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ การจัดทำรายงานการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ การสรุปรายงานผล สรุปขั้นตอนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการตรวจที่เกิดเหตุ

แนวทางการตรวจสถานที่เกิดเหตุในคดีสัตว์ป่าตามหลักนิติวิทยาศาสตร์นี้ เป็นประโยชน์ในการตรวจและรวบรวมพยานหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุคดีสัตว์ป่า เพื่อที่จะหาตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาว่ามีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกคน รวมทั้งเป็นหลักประกันในการอยู่รอดของสัตว์ป่าทุกชีวิตในระบบนิเวศ นอกจากนี้สามารถใช้เป็นเอกสารสำหรับประกอบการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ การคุ้มครองและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่า          เช่น หลักสูตรสืบสวนคดีด้านป่าไม้และสัตว์ป่า หลักสูตรการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพื่อการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ (Smart Patrol System) เป็นต้น และยังสามารถนำแนวทางการปฏิบัติไปประยุกต์ใช้กับการตรวจที่เกิดเหตุในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ เช่น การลักลอบทำไม้ การบุกรุกพื้นที่ป่า ได้อีกด้วย

จากเนื้อหาทั้ง 5 บทข้างต้น มีขั้นตอนการปฏิบัติที่สำคัญในกระบวนการตรวจที่เกิดเหตุคดีสัตว์ป่า ๕ ขั้นตอนคือการรับแจ้งเหตุ การเตรียมการก่อนเดินทางไปสถานที่เกิดเหตุ การตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ การจัดทำรายงานการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และการสรุปรายงานผล

6.2 ข้อเสนอแนะ

6.2.1  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ควรพิจารณาจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมการตรวจที่เกิดเหตุในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้หลักการทางนิติวิทยาศาสตร์มาเป็นเครื่องมือในการตรวจและรวบรวมพยานหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุ เพื่อที่จะหาตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ลาดตระเวนป่าและผู้เกี่ยวข้อง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย                           .

6.2.2  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ควรพิจารณาดำเนินการตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ซึ่งได้จัดทำร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สามารถเก็บรวบรวมวัตถุพยานได้ในฐานะผู้ช่วยพนักงานสอบสวน เพื่อประโยชน์ในการตรวจและรวบรวมพยานหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุคดีสัตว์ป่า

6.2.3 แนวทางการตรวจสถานที่เกิดเหตุในคดีสัตว์ป่าตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ฉบับนี้ เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ในหลายสาขา นำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนป่า และมีความเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย สมควรที่จะได้เชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาร่วมกันตรวจสอบและเรียบเรียงเนื้อหาโดยละเอียด เพื่อจัดทำเป็น คู่มือการตรวจสถานที่เกิดเหตุในคดีสัตว์ป่าตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ สำหรับใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

6.3 กรณีศึกษา

เพื่อแสดงให้เห็นถึงกระบวนการ ขั้นตอนและผลของการใช้แนวทางการตรวจสถานที่เกิดเหตุในคดีด้านสัตว์ป่าตามหลักนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการปฏิบัติงาน ในเนื้อหาบทสุดท้ายนี้จึงขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาเกี่ยวกับคดีการลักลอบค้าและล่าสัตว์ป่าที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มาแสดงให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบ และใช้เปรียบเทียบกับประสบการณ์ในพื้นที่ซึ่งเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนได้พบหรือมีโอกาสดำเนินคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า ดังนี้ 

6.3.1 กรณีศึกษาที่ 1: กรณีการวางยาเสือโคร่งที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งพ.ศ. 2553

เมื่อวันที่ 1๐ เมษายน ๒๕๕๓ นายสุนทร ฉายาวัฒนะ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ได้รับแจ้งทางวิทยุจากชุดตรวจลาดตระเวนป่าที่ได้เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่กลางป่าลึกของห้วยขาแข้ง พบซากเสือโคร่ง 3 ตัว ถูกวางยาเบื่อตาย โดยเสือ 1 ตัวที่คาดว่าน่าจะเป็นเสือตัวแม่ ถูกถลกหนัง และเลาะเอากระดูกไปหมดถูกทิ้งไว้แต่ซากเนื้อที่มีอุ้งเท้าติดอยู่ และเมื่อตรวจรอบๆ บริเวณพบเสือโคร่งขนาดเล็กอีก 2 ตัว คาดว่าอายุประมาณ 1 ปี นอนตายอยู่ไม่ไกลกัน สันนิษฐานว่าเสือแม่ลูกอ่อนดังกล่าวถูกนายพรานวางยาเบื่ออย่างรุนแรง เพราะยาสามารถออกฤทธิ์ทันที จนทำให้เสือตายอย่างรวดเร็ว ไม่ห่างจากจุดเกิดเหตุพบว่ามีการนำซากเก้งที่อาจเป็นตัว ล่อให้เสือมากินเหยื่อ นอกจากนี้ยังพบมีตัวเหี้ย โดนยาเบื่อตายอยู่ในบริเวณนั้นด้วย พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพื้นที่โดยรอบบริเวณ เพื่อตรวจสอบว่ายังมีซากสัตว์อื่นๆ ที่หลงกินยาพิษเข้าไปหรือไม่ เพื่อเก็บนำมาเผาทำลายก่อนที่สัตว์ชนิดอื่นๆ จะตายเพิ่ม

จากนั้นจึงได้นำซากเสือโคร่งทั้ง 3 ตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์เข้าสู่กรุงเทพมหานครและได้ส่งให้กับสถาบันสุขภาพสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานฯ เร่งตรวจสอบพิสูจน์ซากเสือแล้ว โดยเฉพาะสารเคมีหรือยาเบื่อที่เป็นต้นตอทำให้เสือตายได้อย่างรวดเร็ว จากการตรวจสอบพบว่าก่อนที่จะพบซากเสือ เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำได้เผชิญหน้ากับคนร้ายก่อนที่กลุ่มคนร้ายจะวิ่งหนีไป คนร้ายวางแผนฆ่าเสือโคร่งในห้วยขาแข้งมาเป็นอย่างดี เนื่องจากมีการฆ่าเก้ง และนำขาและเนื้อเก้ง ผสมยาพิษมาวางไว้ตามด่านสัตว์

จากเหตุการณ์ดังกล่าวกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดตั้งชุดสืบสวนกรณีการลักลอบล่าเสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งขึ้น โดยระดมเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการสืบสวนดำเนินคดีด้านป่าไม้และสัตว์ป่า ดำเนินการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด ชุดสืบสวนได้ใช้หลักการทางนิติวิทยาศาสตร์ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ  การเก็บวัตถุพยาน จากปางพักพราน กองไฟ ร่องรอยการหลบหนี การร่างภาพผู้ต้องหาจากคำบอกเล่าของพยานโดยตรวจพิสูจน์หลักฐาน และประกอบกับการวางสายข่าวในพื้นที่ จนนำไปสู่การออกหมายจับนายคำหลิน ปอหลง ชาวเขาเผ่ามูเซอ บ้านแม่พืช อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ในที่สุด

ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 01.03 น. เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและปราบปราม เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน พ.ต.ท.ศรานนท์ จันทร์สม ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจคลองลานและชุดปฏิบัติการสืบสวน ได้สนธิกำลังเข้าค้นบ้านนายปรีชา ปอหลง และนายคำหลิน ปอหลง ตามหมายค้นของศาล แต่นายปรีชาและนายคำหลินไหวตัวทันหลบหนีไปได้ ผลการตรวจค้นพบเครื่องประกอบกระสุนปืนแก็ป และอุปกรณ์เดินป่า จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจัดทำบันทึกการตรวจค้น แจ้งความลง ปจว.ที่ สภ.คลองลาน และนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.บ้านไร่เจ้าของคดีต่อไป

 6.3.2 กรณีศึกษาที่ 2: กรณีการจับกุมพรานล่าเสือ ล่าช้าง และทำไม้กฤษณา ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก พ.ศ. 2554

รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554 นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยหลังเดินทางกลับจากการสอบสวนนายฮอง แวน เหงียน พรานชาวเวียดนามและนายหน่าย แซ่ท้าว พรานชาวม้ง ที่เข้ามาลักลอบล่าสัตว์และลักลอบตัดไม้กฤษณาออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ว่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นำโดยนายพลวีร์ บูชาเกียรติได้จับกุมนายฮอง แวน เหงียน ชาวเวียดนามและนายหน่าย แซ่ท้าว ชาวม้ง พร้อมอาวุธปืน ได้เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่บริเวณป่ารอยต่อระหว่างทุ่งใหญ่นเรศวรกับ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งขณะนี้ได้ควบคุมตัวอยู่ที่สภอ.อุ้มผาง จ.ตาก โดยทั้ง 2 คนให้การว่าเข้ามาล่าสัตว์และตัดไม้กฤษณา จำนวน 5 คน ซึ่งอีก 3 คน เป็นชาวเวียดนาม 2 คน และชาวม้ง 1 คน หนีไปได้ เจ้าหน้าที่กำลังติดตามตัว คาดว่า จะได้ตัวเร็วๆนี้

รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า การจับกุมนายพรานชาวเวียดนามและม้ง เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนห้วยขาแข้ง นำโดยนายพลวีร์ บูชาเกียรติ นำกำลังเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พื้นที่ติดกับ อ.อุ้มผาง จ.ตาก แล้วเจอกับกลุ่มนายพราน 3 คน ถือปืนเดินสวนทางมา ก่อนที่กลุ่มนายพรานจะตะโกนผ่านเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนว่าทางใครทางมัน จากนั้นทั้ง 2 ฝ่าย ก็กระโจนไปคนละทางและเปิดฉากยิงปะทะกัน ก่อนที่กลุ่มนายพรานจะหนีไป แต่ได้ทิ้งของกลางไว้ เมื่อมีการตรวจสอบพบโทรศัพท์มือถือ เงินจำนวนหนึ่ง แบงก์กงเต็ก และซากเนื้อหมูป่ารมควัน จำนวน 3 กิโลกรัม และไม้กฤษณา 13.2 กิโลกรัม

“สิ่งที่น่าตกใจคือเมื่อตรวจสอบจากโทรศัพท์พบภาพถ่ายของนายหน่าย แซ่ท้าว ถือปืนเอเค 47 นั่งอยู่บนซากเสือโคร่งทั้งตัวและยังพบภาพถ่ายงาช้างและภาพถ่ายเพื่อนอีกคน สะพายปืนพร้อมซากหัวหมู่ป่าและเขี้ยวเสือ” นายธีรภัทร กล่าวและว่า ต่อมาในวันที่ 25 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ได้ตามรอยเลือดของกลุ่มนายพรานไปถึงป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พบซากหมู่ ป่า อีก 2.2 กิโลกรัม คาดว่าน่าจะเป็นของกลุ่มนายพรานกลุ่มกลุ่มเดียวกัน จากนั้น วันที่ 26 มิ.ย.เจ้าหน้าที่ลาดตระเวน ได้เดินทางไปถึงหมู่บ้านเซปาหล่ะ ต.แม่ละมุ้ง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ที่คาดว่านายพรานจะหลบหนีเข้ามาอยู่ จึงได้แจ้งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทราบและช่วยกันตรวจสอบ กระทั่งมีชาวบ้านมาแจ้งว่ามีคนเดินไม่ใส่รองเท้าอ้างว่ารถเสีย เป็นนักท่องเที่ยวและมีพิรุธ จนเจ้าหน้าที่พบตัวนายฮอง แวน เหงียน ชาวเวียดนาม นอนอยู่ในรีสอร์ทแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่จึงเข้าจับกุมตัวเมื่อ 26 มิ.ย.นี้

นอกจากนี้ยังจับกุมนายหน่าย แซ่ท้าว ได้ในเช้าวันที่ 27 มิ.ย.พร้อมอาวุธปืน .22 และกระสุนปืนอีก 60 นัด นายธีรภัทร กล่าวอีกว่า จากการสอบสวนนายหน่าย สารภาพว่ามากัน 5 คนเป็นชาวเวียดนาม 3 คน ชาวม้ง 2 คน มาลักลอบตัดไม้กฤษณาเพื่อนำไปขาย ส่วนภาพเสือโคร่ง นายหน่าย อ้างว่าใช้ปืนอาก้า ยิงมาจากประเทศพม่า และนำหนังและกระดูกเสือไปขายได้เงินมา 300,000 บาท อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบลายเสือตัวที่อยู่ในรูปและเสือที่ทุ่งใหญ่พบว่าลักษณะลาย น่าจะเป็นเสือจากทุ่งใหญ่นเรศวร และขณะนี้ กำลังตรวจสอบลายและล่าตัวพรานอีก 3 คนที่ยังหลบหนีอยู่

“การจับกุมนายพรานชาวเวียดนามครั้งนี้ น่าจะทำเป็นขบวนการ โดยทั้งสองคนยังไม่ให้การซัดทอดใคร ส่วนรูปเสือในกล้องน่าจะส่งไปให้กับกลุ่มผู้ซื้อ เพื่อต่อรองราคากัน แต่มาถูกจับได้เสียก่อน และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ สามารถจับนายพรานชาวเวียดนาม กัมพูชา ที่เข้ามาในรูปแบบนักท่องเที่ยวและแรงงานข้ามชาติ ลักลอบเข้ามาบริเวณชายแดนอ.แม่สอด จ.ตากและ อ.คลองลาน จ.นครสวรรค์ เพื่อตัดไม้กฤษณา พร้อมกับล่าสัตว์ ซึ่งขณะนี้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารไล่ล่านายพราน และสาวไปถึงตัวผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการนี้แล้ว

ด้าน นายศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบลายพาดกลอนของเสือโคร่งที่นายหน่าย ถ่ายภาพไว้ สามารถยืนยันได้ว่าเป็นเสือโคร่งจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ไม่ใช่เสือจากพม่าตามที่ผู้ต้องหากล่าวอ้างอย่างแน่นนอน เพราะก่อนหน้านี้ทีมวิจัยได้ทำการถ่ายภาพประชากรสือโคร่งในเขตป่าทั้งทุ่ง ใหญ่ฯ และห้วยขาแข้ง พบเสือตัวนี้แต่ยังไมได้ตั้งชื่อ แต่มีการถ่ายภาพเมื่อเดือน ต.ค.และมีการตั้งรสหัสและหลังจากนั้นก็ไม่เจอตัวมันอีก โดยดูจากลายหน้าผากเสือแล้วเป็นตัวเดียวกัน และเป็นกระบวนการเดียวกันกับที่ เสือแม่ลูกถูกวางยาตายก่อนหน้านี้ เพราะการกระทำของกลุ่มนายพราน มีการวางยาเหยื่อ และรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี

จากการสืบสวนของตำรวจ ได้หลักฐานสำคัญ คือพาสปอร์ต ของนายฮอง แวน เหงียน ซึ่งเดินทางเข้าประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมาที่ด่านเชียงของ จ.เชียงราย เป็นนักท่องเที่ยว และคาดว่าน่าจะมีพรรคพวกอยู่ในประเทศไทย เป็นคนเปิดช่องทางให้เข้ามาล่าเสือ รวมทั้งสัตว์ป่าชนิดอื่น พร้อมทั้งลักลอบตัดไม้กฤษณาที่มีราคาแพงมาก ไปขายให้นายทุน

กรณีการจับกุมพรานล่าเสือและล่าช้างชุดนี้ เกิดจากการที่เจ้าหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันออก ได้ใช้ข้อมูลจากระบบการลาดตระเวรเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) ที่ชุดลาดตระเวนในพื้นที่ใช้เวลาเกือบปีในการเก็บและบันทึกร่องรอยการล่าสัตว์ ใช้หลักการทางนิติวิทยาศาสต์ เก็บวัตถุพยาน ถ่ายรูปที่เกิดเหตุ ภัยคุกคาม และสิ่งที่คนร้ายทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ จากนั้นจึงนำมาประมวลผลเป็นแผนที่เส้นทางที่คนร้ายใช้ลงมือ นำไปสู่การวางแผนลาดตระเวนจนสามารถจับกุมคนร้ายได้ในที่สุด

 

บรรณานุกรม

 

พยงค์ ฉัตรวิรุฬ. 2551, พยานหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้. กรุงเทพฯ: วารสารการจัดการป่าไม้ ภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ศุภกร กันทาลักษณ์.การสืบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์. สืบค้นจาก URL: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=412720[Online] เมษายน 1, 2554

สมพร พรหมหิตาธร. 2538, คู่มือพนักงานสอบสวน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด.

สฤษดิ์ สืบพงษ์ศิริ.วัตถุพยานทางนิติวิทยาศาสตร์. สืบค้นจาก URL: http://www.ajarnpat.com/article/article_evidence.pdf [Online] เมษายน 30, 2554

Bowman, M. 2010, Enforcement Ranger Manual.Bangkok: Scan-Media Corp.,Ltd.

Gavitt J. 2010, Nature Crime Investigators Manual.Bangkok: Scan-Media Corp.,Ltd.

 

ภาคผนวก

(Appendix)

 

1.หน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ในคดีด้านสัตว์ป่า

 

พล.ต.ท.ธีรวัฒน์  ณ ป้อมเพชร 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

E-Mail  : crewnok@hotmail.com

 

รศ.ดร.สพ.ญ.นันทริกา  ชันซื่อ

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนน อังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ (662) 252-9575, (662) 218-9412
โทรสาร (662) 252-9575  E-Mail  : cnantari@gmail.com

 

ดร. กณิตา อุ่ยถาวร

หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า (DNP WIFOS Unit)
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า อาคารไพโรจน์สุวรรณกร ชั้น1
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
61 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทรศัพท์: +662 579 6666 ext. 1672
โทรสาร: +662 579 9874   E-mail:  dnpwifos@hotmail.co.th

 

พ.ต.ท.หญิงสุเจตนา  โสตถิพันธุ์

นักวิทยาศาสตร์ (สบ 2) กลุ่มงานตรวจชีววิทยาและดีเอ็นเอ

กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนอังรีดูนังค์ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน จังหวัดกรุงเทพฯ 10330

โทร: 02-205-1582      E-Mail: forensic@royalthaipolice.go.th

 

นายสัตวแพทย์มาโนชญ์  ยินดี 

ผู้ช่วยคณะบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

999 พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล นครปฐม 73170

โทรศัพท์ 02-441-5242-5 

โทรสาร 02-441-0937   E-Mail: drfungy2000@yahoo.com

 

ผู้จัดทำ   

                        นายพลวีร์ บูชาเกียรติ                                                                                                     

                        โทร. 0899992000

                       e-mail  : polawee@hotmail.com