TACTICAL

องค์ความรู้เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการลาดตระเวนพื้นที่ป่าอนุรักษ์

1. การลาดตระเวนกับภารกิจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ส่งเสริม และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในเขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์โดยการควบคุมป้องกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์เดิม ที่มีอยู่และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กลับ สมบูรณ์ด้วยกลยุทธ์การส่งเสริม กระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้ชุมชนมีความรู้สึกหวงแหนและการมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อเป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าแหล่งอาหารแหล่งนันทนาการและการท่องเที่ยวทางธรรมชาติของประชาชน”

ข้อความที่กำหนดเป็นภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ข้างต้นระบุไว้อย่างชัดเจนว่า นอกเหนือจากการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ แบบมีส่วนร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนแล้ว การควบคุมดูแลป้องกันพื้นที่อนุรักษ์โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้โดยตรง ก็เป็นส่วนสำคัญในการที่คุ้มครองรักษาป่าอนุรักษ์ให้คงอยู่ การบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ นอกเหนือไปจากการบริหารองค์กร การบริหารสำนักงานแล้ว การลาดตระเวนพื้นที่เพื่อคุ้มครองรักษา ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ การแปรรูปไม้ ล่าสัตว์ การบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินป่าไม้ เพื่อทำประโยชน์อื่นทั้งจากผู้มีอิทธิพลรายใหญ่ หรือประชาชนทั่วไป ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะการลาดตระเวนพื้นที่ป่าโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือเสมือนการแจ้งเตือน ให้ผู้ที่จะกระทำผิดรู้ว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่ระวังคุ้มครองป่าอนุรักษ์ของชาติอยู่ การลาดตระเวนในอดีตทำการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมปืน อุปกรณ์เดินป่า แล้วทำการออกลาดตระเวนทั้งเดินเท้า หรือโดยยานพาหนะทั้งทางเรือ ทางบก ครั้นเสร็จสิ้นภารกิจแล้วก็ทำรายงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชาว่าพบหรือไม่พบผู้กระทำผิด และได้ดำเนินการต่อผู้กระทำผิดอย่างใดส่วนมากแล้วหากไม่พบการกระทำผิดแทบจะไม่ได้มีการรายงานสถานการณ์หรือรายละเอียดอื่นๆที่ได้จากการลาดตระเวนเลย ทำให้ขาดโอกาสในการบันทึกข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆที่ได้จากการลาดตระเวนพื้นที่อนุรักษ์ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการลาดตระเวนพื้นที่อนุรักษ์ขึ้น

2. สถานการณ์พื้นที่อนุรักษ์

พื้นที่อนุรักษ์ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรับผิดชอบบริหารจัดการจะจัดตั้งดำเนินการในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า สวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติ มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 103,809.82 ตารางกิโลเมตร (ข้อมูลปี พ.ศ. 2553) หรือคิดเป็นเนื้อที่65,081,113.65 ไร่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเนื้อที่ประเทศไทยทั้งหมด  513,115 ตารางกิโลเมตรแล้ว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บริหารจัดการพื้นที่ถึง ร้อยละ 22.23 ของประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่จำนวนมาก และเมื่อนำมาเปรียบเทียบความรับผิดชอบต่อพื้นที่ป่ากับอัตรากำลังของบุคลากรทั้งหมด จำนวน 19,698 คนซึ่งแยกเป็นข้าราชการ 3,568 คน ลูกจ้างประจำ  3,782 คน และพนักงานราชการ 12,348 คน(ข้อมูลปี พ.ศ. 2553) พบว่า บุคลากรทุกประเภท 1 คน ต้องดูแลรับผิดชอบพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน  33,039.46 ไร่ซึ่งเป็นสัดส่วนความรับผิดชอบที่สูง จากผลการสำรวจการถือครองพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศ ในช่วงปีงบประมาณ  2541 –2543 สรุปได้ดังนี้ป่าสงวนแห่งชาติ    มีราษฎรถือครอง 336,824 รายเนื้อที่5,789,527 ไร่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย มีราษฎรถือครอง 83,741 ราย เนื้อที่1,595,601 ไร่การบุกรุกถือครองพื้นที่อนุรักษ์เป็นปัญหาหลักในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ยั่งยืน เพราะการบุกรุกครอบครองที่ดินป่าไม้เพื่อตั้งชุมชน และทำการเกษตรกรรมเป็นการทำลายพื้นที่อนุรักษ์โดยสิ้นเชิง นอกจากนี้แล้วพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ยังคงมีอยู่ก็อยู่ในสถานการณ์ที่ถูกคุกคาม   ทรัพยากรกายภาพและชีวภาพเสื่อมโทรมและลดน้อยลง ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์การบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ว่าจะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น หากจะนำเอาการกระทำผิดด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในรูปแบบอื่น ๆมาวิเคราะห์ยิ่งจะเห็นสถานการณ์ด้านพื้นที่ป่าอนุรักษ์ว่าจะต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการอย่างขนานใหญ่และแน่นอนที่สุดส่วนหนึ่งจะอยู่ที่การปรับปรุง  ประสิทธิภาพการลาดตระเวนพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นภารกิจที่เป็นหน้าด่านในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์

3. ความหมายของการเพิ่มประสิทธิภาพ

ในการทำงานมักมีการกำหนดวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายว่าเพื่อให้เกิด ประสิทธิภาพและประสิทธิผล การปฏิบัติงานในโครงการ งานกิจกรรมต่างๆ เพื่อจัดการพื้นที่อนุรักษ์ให้ยั่งยืนก็ถูกกำหนดไว้เช่นกันรวมถึงต้องประเมินว่ามีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลอย่างไรบ้าน แต่หลายคนยังมีความสับสน  ว่าประสิทธิภาพ และประสิทธิผลแตกต่างกันอย่างไร  เพื่อความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกันจึงขออธิบายดังนี้

ประสิทธิภาพ (Efficiency ) หมายถึงกระบวนการดำเนินงาน ที่มีลักษณะดังนี้

1). ประหยัด (Economy) ได้แก่ ประหยัดต้นทุน (Cost) ประหยัดทรัพยากร (Resources) และประหยัดเวลา (Time)

2). แล้วเสร็จทัน ตามกำหนดเวลา (Speed)

3). มีคุณภาพ (Quality) โดยพิจารณาทั้งกระบวนการตั้งแต่ปัจจัยนำเข้า (Input) หรือวัตถุดิบ มีการคัดสรรอย่างดี มีกระบวนการดำเนินงาน กระบวนการผลิต (Process) ที่ดี และมีผลผลิต (Output) ที่ดีการมีประสิทธิภาพจึงต้องพิจารณากระบวนการดำเนินงานว่าประหยัดรวดเร็วมีคุณภาพของงาน ซึ่งเป็นกระบวนการดำเนินงานทั้งหมด

ประสิทธิผล (Effective ) หมายถึงผลสำเร็จของงานที่เป็นไปตามความมุ่งหวัง (Purpose) ที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ (Objective) หรือเป้าหมาย (Goal) และเป้าหมายเฉพาะ (Target) ได้แก่

1). เป้าหมายเชิงปริมาณ จะกำหนดชนิดประเภทและจำนวนของผลผลิต สุดท้ายต้องการทำได้รับเมื่อการดำเนินงานเสร็จสิ้นลง

2). เป้าหมายเชิงคุณภาพ จะแสดงถึงคุณค่าของผลผลิตที่ได้รับจากการดำเนินงานนั้นๆ

ประสิทธิผลมุ่งเน้นที่จุดสิ้นสุดของกิจกรรมหรือการดำเนินงานว่าได้ผลตามที่ตั้งไว้

หรือไม่ และวัดได้ ในสมัยใหม่จะรู้จักกันในนาม “ตัว ชี้วัด (Indicator)” ซึ่งต้องชัดเจน และเป็นที่เข้าใจ ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

4. ระบบการลาดตระเวนพื้นที่อนุรักษ์ในอดีต

ในอดีตการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งในรูปแบบ อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านับตั้งแต่มีกฎหมายด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า เมื่อ พ.ศ. 2503 และกฎหมายอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา จะมีที่ทำการหรือสำนักงานพื้นที่อนุรักษ์เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่อำนวยการหรือบัญชาการทำการกำหนดแผนงานและควบคุมการปฏิบัติงานโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นหน่วยย่อย รับผิดชอบในพื้นที่ที่มอบหมายมีกำลังผู้ปฏิบัติงานยานพาหนะ อาวุธ งบประมาณ และปัจจัย ในการทำงานอื่นๆ ซึ่งคนทั่วไปรู้จักกันในนามของ “หน่วยพิทักษ์ป่า” และผู้ปฏิบัติงานในหน่วยจะมีเจ้าหน้าที่ 1 นาย ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำหรือพนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน หรือรายวันหรือ พนักงานจ้างเหมาโดยจำนวนผู้ปฏิบัติงานในหน่วย จะมีประมาณ 6-15 คน ขึ้นอยู่กับอัตรา และงบประมาณค่าจ้างของหน่วยกำกับดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้นๆ โดยการลาดตระเวนจะทำทั้งในรูปแบบการเดินเท้า การใช้ยานพาหนะรถยนต์ หรือให้เรือซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะและสภาพพื้นที่การอนุรักษ์นั้นๆ การลาดตระเวนมีจุดมุ่งหมายเพื่อพิสูจน์ทราบพื้นที่ เพื่อป้องปรามการกระทำผิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อจับกุมผู้กระทำผิดตามการข่าวที่สืบทราบ หรือเพื่อภารกิจพิเศษ รวมทั้งเป็นการลาดตระเวนตามรอบปฏิทินการปฏิบัติงาน ครั้นเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจะทำการรายงานผลการลาดตระเวนอย่างสั้นๆ ว่าพบ หรือไม่พบการกระทำผิด ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีเป็นส่วนน้อยที่จะจัดเก็บข้อมูลด้านพิกัดตำแหน่งที่สำคัญในการลาดตระเวนผ่าน หรือทำการบันทึกข้อมูลแสดงรายละเอียดของพื้นที่และทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่ารวมถึงสถานการณ์ในพื้นที่การลาดตระเวนผ่าน และมีน้อยครั้งที่จะทำการบันทึกภาพถ่ายพื้นที่ลาดตระเวนผ่าน ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากการขาดอุปกรณ์ ปัจจัย และงบประมาณในการทำงานด้านการลาดตระเวน ซึ่งสรุปว่า การลาดตระเวนพื้นที่อนุรักษ์ในอดีตส่วนใหญ่การดำเนินการยังขาดการวางแผนระบบการลาดตระเวนที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีระบบการบันทึกข้อมูลจากการลาดตระเวน ไม่มีระบบฐานข้อมูลการลาดตระเวน ฯ จึงทำให้ไม่สามารถสรุปบทเรียนและเสนอผลสัมฤทธิ์ จากการลาดตระเวนที่เป็นรูปธรรมได้ แน่นอนว่าการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ก็ยังมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลตามที่ภาคผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศคาดหวังได้

5. ระบบการลาดตระเวนพื้นที่อนุรักษ์แบบใหม่

จากสภาพการลาดตระเวนแบบเก่าที่ไม่สามารถสนับสนุนการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ให้ยั่งยืนตามที่คาดหวังได้ดังนั้นจึงมีหน่วยงานภาคสนามที่รับผิดชอบชอบพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่ง และผู้บริหาร ตลอดนักวิชาการป่าไม้และองค์กรภาคเอกชนได้เสนอรูปแบบและกระบวนการการลาดตระเวนพื้นที่อนุรักษ์แบบใหม่ขึ้นมาแทนการลาดตระเวนแบบเดิมที่ทำอยู่ โดยปรับปรุงระบบแผนงานการลาดตระเวน การจัดรูปแบบหน่วยลาดตระเวน การปรับปรุงเครื่องมือและอุปกรณ์ตลอดเทคโนโลยีที่ใช้ในการลาดตระเวน ระบบการรายงานผลการลาดตระเวน ระบบฐานข้อมูลการลาดตระเวนระบบการนำเสนอผลการลาดตระเวน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการลาดตระเวนทุกระดับระบบการลาดตระเวนพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบใหม่มีกำเนิดเริ่มมาจากผู้บริหารของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชตลอดทั้งหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบดานการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ในพื้นที่ต่างๆ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งฯนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมาโดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ  การพัฒนาระบบการลาดตระเวนแผนใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความเป็นมาจากการพัฒนาระบบกาลาดตระเวนและตรวจติดตามรัพยากรธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เพื่อจัดระบบการลาดตระเวนให้เป็นมาตรฐานและมีผลให้มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านทรัพยากรด้านทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยคุกคามโดยใช้ข้อมูลจากการลาดตระเวนและตรวจติดตามทรัพยากรธรรมชาติ เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งมุ่งเน้นการปรับปรุงและพัฒนาองค์ประกอบการลาดตระเวน 4 ด้านได้แก่ ด้านบุคลากรปฏิบัติงานด้านการลาดตระเวน ด้านอุปกรณ์และเครื่องมือในการลาดตระเวน ด้านข้อมูลและข่าวสารการลาดตระเวน และด้านขั้นตอน  หรือกระบวนการลาดตระเวน ซึ่งทั้งหมดเป็นความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สหภาพยุโรป (โครงการภูเขียว – อียู) และชุมชนรอบพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ต่อมาได้ขยายผลออกไปสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ในกลุ่มป่าภูเขียว – น้ำหนาว ทั้งหมด โดยส่วนฝึกอบรม สำนักงานบริหาร กลางได้ใช้บุคลากรและระบบการลาดตระเวนจากฐานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เป็นฐานฝึกอบรมเจ้าหน้าที่การลาดตระเวนในกลุ่มป่าภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในส่วนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนั้น ระบบการลาดตระเวนพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบใหม่มีกำเนิดเริ่มมาจากแนวคิดของผู้บริหาร ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า  และพันธุ์พืช ตลอดทั้งหัวหน้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา เช่นกัน โดยได้รับ  การสนับสนุนจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย กรมสัตว์ป่าประเทศสหรัฐอเมริกา (US FISH AND WILDLIFE SERVICE) กองทุนอนุรักษ์สัตว์ ผู้ล่าขนาดใหญ่ (PANTHERA FOUNDATION) และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สำรวจและผลิต (ปตท.สผ.) ต่อมาได้ขยายผลออกไปสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ในกลุ่มป่าตะวันตก (ห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่นเรศวร) และส่วนฝึกอบรม สำนักบริหารงานกลาง ได้ใช้บุคลากรและระบบการลาดตระเวนจากฐานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็น ฐานฝึกอบรมเจ้าหน้าที่การลาดตระเวนในกลุ่มป่าภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตกและภาคใต้

6. องค์ความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการลาดตระเวนพื้นที่ป่าอนุรักษ์

การเพิ่มประสิทธิภาพการลาดตระเวนพื้นที่อนุรักษ์มีองค์ประกอบเป็นประเด็นองค์ความรู้ย่อย ดังนี้

6.1 องค์ความรู้เรื่องพื้นที่อนุรักษ์

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการลาดตระเวนพื้นที่อนุรักษ์จะต้องรู้รายละเอียดของความเป็นมาของพื้นที่อนุรักษ์ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งจนถึงปัจจุบัน

จะต้องรู้กฎหมายด้านการป่าไม้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์เพราะการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ ต่างๆ จะต้องดำเนินการไปภายใต้เจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ รอบรู้เรื่องทรัพยากรกายภาพและชีวภาพในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รอบรู้เรื่องระบบนิเวศป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์

6.2 องค์ความรู้เรื่องชุมชนศึกษารอบพื้นที่อนุรักษ์

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการลาดตระเวนพื้นที่อนุรักษ์จะต้องรอบรู้เรื่องชุมชน ได้แก่การศึกษาและจัดทำข้อมูลชุมชนรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์องค์ความรู้ด้านชุมชนศึกษาหากแยกเป็นกลุ่มใหญ่ๆจะได้ ๓ กลุ่ม ได้แก่ การศึกษาด้านกายภาพและภูมินิเวศของชุมชน การศึกษาเศรษฐกิจชุมชน และการศึกษาด้านสังคมของชุมชน ซึ่งอธิบายได้ ดังนี้

6.2.1 องค์ความรู้ด้านกายภาพและภูมินิเวศชุมชน

ผู้รับผิดชอบบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์จะต้องรอบรู้เรื่องกายภาพด้านที่ตั้งชุมชนแหล่งน้ำ ภูเขา ทรัพยากรดิน  น้ำ ป่า ไม้ ความลาดเท ความเชื่อมโยงของลุ่มน้ำที่ตั้ง ชุมชนกับ ลุ่มน้ำอื่นๆ สรุปว่ารอบรู้เรื่องกายภาพ ทรัพยากรกายภาพ และชีวภาพของชุมชนรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด รวมถึง ความสัมพันธ์และการพึ่งพิงทรัพยากร เหล่านั้นของชุมชน

6.2.2 องค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจชุมชน

ผู้รับผิดชอบบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ จะต้องรอบรู้เรื่องสภาพเศรษฐกิจของชุมชน อาชีพหลัก อาชีพรอง และอาชีพเสริมของชุมชน รายได้ของประชากรในชุมชน ซึ่งจะสอดคล้องกับองค์ความรู้ด้านกายภาพและภูมินิเวศของชุมชน

6.2.3 องค์ความรู้ด้านสังคมของชุมชน

ผู้รับผิดชอบบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์จะต้องรอบรู้เรื่องของชุมชนนับตั้งแต่ประวัติการก่อตั้ง   ชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์  จำนวนประชากร ครัวเรือน ประชากร ชาย หญิง รวมถึง การเกิด ตาย และการย้ายถิ่นของประชากร การศึกษา วิถีชีวิต จารีตประเพณี และวัฒนธรรมของชุมชน เป็นต้นองค์ความรู้และความรอบรู้เรื่องต่างๆข้างต้นจะทำให้การทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลมากขึ้น รายละเอียดของความเป็นมาของพื้นที่อนุรักษ์ตั้งแต่เริ่มจัดตั้ง จนถึงปัจจุบัน จะต้องรู้กฎหมายด้านการป่าไม้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง พื้นที่อนุรักษ์เพราะการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆจะต้องดำเนินการไปภายใต้เจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ รอบรู้เรื่องทรัพยากรกายภาพและชีวภาพในพื้นที่ป่าอนุรักษ์รอบรู้เรื่อง ระบบนิเวศป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์

6.3 องค์ความรู้ด้านการสื่อสารภายในองค์กร

ผู้ทำหน้าที่ด้านการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์จะต้องมีองค์ความรู้ด้านการสื่อสารภายในองค์กรเพื่อสื่อสารกับบุคลากรด้านการลาดตระเวนพื้นที่อนุรักษ์ทุกระดับเพื่อให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นความร่วมมือร่วมใจในการดำเนินการ การปรับเปลี่ยนทัศนคติและความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าของชาติ เป็นต้นการสื่อสารในองค์กรนั้นผู้รับผิดชอบพื้นที่อนุรักษ์ต้องสื่อสารให้ครบถ้วนกับบุคลากรในองค์กร ดังนี้ ผู้ช่วยหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์เจ้าหน้าที่ลาดตระเวน ผู้บริหารที่อยู่เหนือผู้รับผิดชอบพื้นที่อนุรักษ์ทุกระดับ

6.4 องค์ความรู้ด้านการจัด ระบบการลาดตระเวน

ผู้บริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์จะต้องมีองค์ความรู้ในการจัดระบบการลาดตระเวนดังนี้

6.4.1 ต้องแบ่งขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์เพื่อการจัดการในรูปแบบพื้นที่ย่อย (Subunit) ที่เหมาะสมและมีศักยภาพที่จะจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6.4.2 พื้นที่ที่แบ่งเป็นพื้นที่ย่อย จะต้องจัดวางที่ตั้งหน่วยเพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสม

6.4.3 จัดกำลังหัวหน้าหน่วยย่อยและพนักงานลาดตระเวนป่าให้เหมาะสมประมาณ 6 – 15 คน/หน่วย และมีการมอบหมายหน้าที่หลัก และหน้าที่รองในการลาดตระเวน

6.4.4 จัดอุปกรณ์การปฏิบัติงานต่อหน่วยให้เหมาะสมและเพียงพอ ได้แก่ อาวุธปืน GPS กล้องถ่ายรูปแบบดิจิตอล เข็มทิศ เครื่องประมวลผล ห้องปฏิบัติการลาดตระเวน อุปกรณ์สนาม อุปกรณ์กู้ภัย และปฐมพยาบาล เป็นต้น

6.4.5 จัดระบบการบันทึกการลาดตระเวน เช่น แบบบันทึกการลาดตระเวนโปรแกรมประมวลผลการลาดตระเวนเป็นต้น

6.4.6 จัดระบบการประชุมเพื่อรายงานผลและสรุปบทเรียนการลาดตระเวนตามรอบเวลา เช่น รายสัปดาห์รายปักษ์ รายเดือน รายไตรมาส หรือตามรอบเวลาการลาดตระเวนที่ได้กำหนดไว้

6.5 องค์ความรู้เรื่องเครื่องมือและเทคโนโลยี

องค์ความรู้เรื่องเครื่องมือและเทคโนโลยี การประยุกต์ใช้งานและการใช้ประโยชน์ในการนำเสนอและรายงานผล ได้แก่ เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม (GlobalPositioning System-GPS) กล้องถ่ายรูปแบบดิจิตอล เครื่องประมวลผลโปรแกรมการประมวลผล และเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เป็นต้น

 

7. การพัฒนาบุคลากรในการลาดตระเวนแบบ SMART PATROL

เนื่องจากการการเพิ่มประสิทธิภาพการลาดตระเวนพื้นที่อนุรักษ์เป็นระบบการเพิ่มศักยภาพการจัด การพื้นที่อนุรักษ์องค์ประกอบสำคัญที่จะสามารถขับเคลื่อนการลาดตระเวรให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การจัด หาอุปกรณ์และเทคโนโลยี การจัดหางบประมาณสนับสนุนการลาดตระเวน การวางระบบการลาดตระเวน และการเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านการลาดตระเวน ซึ่งปัจจัย หรือองค์ประกอบด้านความพร้อมของบุคลากรลาดตระเวนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด บุคลากรลาดตระเวนจะต้องได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ คุณธรรมและจริยธรรมวิชาชีพ และความพร้อมด้านการใช้เครื่องมือลาดตระเวนและเทคโนโลยี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการฝึกบุคลากรด้านลาดตระเวนด้วยหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการ ลาดตระเวนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในลาดตระเวนป่าต่อไป (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, http://www.dnp.go.th )