PROTECTED AREA

ความหมายของพื้นที่คุ้มครอง 

ในการประชุม The World Congress on National Parks and protected Areas ครั้งที่ 4 ณ กรุง Caracas ประเทศ Venezuela เมื่อปี ค.ศ. 1992

IUCN ได้ให้คำจำกัดความของพื้นที่คุ้มครองหรือพื้นที่อนุรักษ์ (protected areas) ในลักษณะรวมว่า

เป็นพื้นที่บกและ/หรือพื้นที่ทางทะเลที่จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะเพื่อการคุ้มครองและบำรุงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ  รวมทั้งทรัพยากรทางวัฒนธรรม  พร้อมมีระบบการจัดการที่ตั้งอยู่บนฐานของกฎหมายหรือวิธีการอื่นใดที่มีประสิทธิภาพ

อ้างอิง: IUCN, 1994. Guidelines for Protected Area Management Categories.

มาตรา 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ให้ความหมายของ พื้นที่คุ้มครองว่า หมายถึง “พื้นที่ซึ่งได้รับการกำหนดขอบเขตทางภูมิศาสตร์    ซึ่งถูกระบุให้หรือวางระเบียบให้และจัดการให้บรรลุวัตถุประสงค์พิเศษเฉพาะการอนุรักษ์”

อ้างอิง: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.2544.อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

www.chm-thai.onep.go.th

 

แนวความคิดพื้นที่คุ้มครอง

 แนวความคิดสมัยโบราณ

แนวความคิดเกี่ยวกับพื้นที่คุ้มครอง(Protected Area) สมัยโบราณเกิดขึ้นในแหล่งด้วยกัน คือ

ในอินเดีย เมื่อปี 291

พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียมีพระราชโองการให้จัดตั้ง“เขตอภัยทาน”เพื่อเป็นพื้นที่หวงห้ามหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาหรือเขตสงวนสำหรับล่าสัตว์ป่า เพื่อคุ้มครองสัตว์ ปลา และป่า นับได้ว่าเป็นวิธีการคุ้มครองสัตว์ป่ายุคแรกเริ่มและเป็นประเพณีสืบเนื่องกันมาจนถึงทุกวันนี้

ในอังกฤษ ปี 1627

กษัตริย์วิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษมีพระราชโองการให้สำรวจการถือครองที่ดิน ปศุสัตว์ ป่า แหล่งจับปลา พื้นที่เกษตรกรรม เขตสงวนสำหรับการล่าสัตว์และทรัพยากรทั่วราชอาณาจักร” (Domesday Book) ในทำนองเดียวกันกับการสำรวจสำมะโนประชากร ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดทำแผนจัดการและการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน

แนวความคิดสมัยใหม่

แนวความคิดเกี่ยวกับพื้นที่คุ้มครองสมัยใหม่ คือ “การอนุรักษ์ (Conservation)” หมายถึง การดูแลรักษาและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างฉลาด เป็นการผสมผสานแนวความคิดสมัยโบราณจากสองแหล่งข้างต้นเข้าด้วยกัน ซึ่งจะต้องมีการวางแผนจัดการทรัพยากรบนพื้นฐานจากการสำรวจที่แม่นยำ และมีการวางมาตรการปกป้องกันเพื่อให้แน่ใจได้ว่าทรัพยากรจะไม่ถูกใช้ให้หมดสิ้นไป

          บางครั้งคำว่า “การอนุรักษ์” เป็นการเก็บทรัพยากรไว้โดยชนชั้นสูงที่มีเวลาชื่นชมความงามธรรมชาติ เป็นกิจกรรมเห็นแก่ตัวที่ขาดเสียมิได้และขัดขวางการพัฒนา แต่ในทางกลับกัน เป็นที่ยอมรับกันว่าพื้นที่คุ้มครองที่มีการวางแผนและการจัดการอย่างเหมาะสมได้ให้ประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่สังคม มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมชนบท และสนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้อาศัยในเมือง      การจัดตั้งและการจัดการพื้นที่คุ้มครองเป็นวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทรัพยากรธรรมชาติของโลกจะได้รับการอนุรักษ์ไว้เพื่อสนองความต้องการทางวัตถุและทางวัฒนธรรมของมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

          เมื่อปี 2524 องค์กรด้านการอนุรักษ์ที่สำคัญของโลก 4 องค์กร ได้แก่

  • สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ(International Union for Conservation of Nature and Natural Resources – IUCN ปัจจุบันคือ Conservation Union)
  • กองทุนสัตว์ป่าโลก(World Wildlife Fund – WWF )
  • องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติ(Food and Agriculture Organisation of the United Nations – FAO) และ
  • โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาติ(United Nations Environment Programme – UNEP)ได้ร่วมกันจัดทำ “ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์โลก”(World Conservation Strategy – WCS) โดยกำหนดวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิต ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการค้ำจุนการพัฒนาไว้ดังนี้

– การบำรุงรักษากระบวนการนิเวศวิทยาและระบบเกื้อหนุนชีวิตซึ่งความอยู่รอดและการพัฒนาของมนุษยชาติต้องพึ่งพา

– การสงวนรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมซึ่งพึ่งพาโครงการเพาะพันธุ์ที่จำเป็นสำหรับการคุ้มครองและการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์เลี้ยง พร้อมกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมทางวิชาการ และความมั่นคงของอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรมีชีวิต

-การทำให้มั่นใจว่าการใช้ประโยชน์ชนิดพันธุ์พืชหรือสัตว์(species)และระบบนิเวศของมนุษย์ซึ่งเกื้อหนุนประชาชนนับล้านในชนบทพร้อมกับอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเป็นไปอย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์ดังกล่าวจะบรรลุผลสำเร็จได้ ถ้ารัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และสาธารณชน สนับสนุนยุทธศาสตร์การคุ้มครองชนิดพันธุ์และระบบนิเวศภายในโครงการพัฒนาทั้งหมด โดยทั่วไป การบำรุงรักษาชนิดพันธุ์และระบบนิเวศต้องการให้การใช้ทรัพยากรมีชีวิตภายในสิ่งแวดล้อมที่แข็งแรงต้องกระทำบนหลักความยั่งยืน
(sustainable basis) ในระหว่างการปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์การอนุรักษ์โลกที่เจาะจงมากขึ้นอื่นๆ ต้องจัดตั้งเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์และระบบนิเวศไว้ในสภาพแวดล้อมดั้งเดิม

พื้นที่ธรรมชาติที่ได้รับการคุ้มครองมีความจำเป็นต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตของประเทศ เพราะทำให้แน่ใจได้ว่า

  • ตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของภูมิภาคธรรมชาติสำคัญได้รับการรักษาไว้ตลอดไป
  • ความหลากหลายทางชีวภาพและทางกายภาพได้รับการบำรุงรักษา
  • วัตถุพันธุกรรมดั้งเดิมได้รับการเก็บรักษา

พื้นที่คุ้มครองเกื้อหนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีชีวิตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดย

  •   การบำรุงรักษาเสถียรภาพด้านสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคโดยรอบ ซึ่งเป็นการลดความรุนแรงของอุทกภัยและความแห้งแล้ง คุ้มครองดินจากการพังทลาย และจำกัดความรุนแรงของภูมิอากาศท้องถิ่น
  • การบำรุงรักษาความสามารถเชิงการผลิตของระบบนิเวศ เช่น การทำให้แน่ใจได้ว่าจะมีน้ำและผลิตผลจากพืชและสัตว์ให้ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
  • การให้โอกาสด้านการวิจัยและการติดตามชนิดพันธุ์ดั้งเดิมและระบบนิเวศและความสัมพันธ์ระหว่างชนิดพันธุ์ดั้งเดิมและระบบนิเวศกับการพัฒนาของมนุษยชาติ
  • การให้โอกาสด้านการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์แก่ประชาชนและผู้กำหนดนโยบาย
  • การให้โอกาสด้านการพัฒนาชนบทอย่างครบถ้วนและการใช้ประโยชน์พื้นที่รกร้างอย่างเหมาะสม
  • เป็นพื้นฐานสำหรับนันทนาการและการท่องเที่ยว

อ้างอิง: ชมรมเพื่อนสลักพระ

 

การจำแนกประเภทพื้นที่คุ้มครอง

ประเภทของพื้นที่อนุรักษ์ตามหลักสากล
IUCN(1994) ได้แบ่งประเภทของพื้นที่คุ้มครอง ออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้

ประเภท

นิยาม

วัตถุประสงค์ของการจัดการ

ประเภทที่ I : Strict Nature Reserve / Wilderness Area
ประเภทที่ Ia : Strict Nature Reserve (แหล่งสงวนธรรมชาติเข้มงวด) พื้นที่ทางบก และ/หรือ ทางทะเลที่มีระบบนิเวศหรือลักษณะทางธรณีวิทยาหรือลักษณะทางกายภาพ และ/หรือ ชนิดพันธุ์ที่โดดเด่นหรือสามารถเป็นตัวแทน เพื่อการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และหรือ การตรวจสอบติดตามผลด้านสภาวะแวดล้อม
  • เพื่อสงวนถิ่นที่อยู่อาศัย ระบบนิเวศ และชนิดพันธุ์ในลักษณะที่ไม่ถูกรบกวนเท่าที่จะเป็นไปได้
  • เพื่อคงไว้ซึ่งทรัพยากรพันธุกรรมเพื่อให้มีสถานะเป็นพลวัตรและวิวัฒนาการ
  • เพื่อคงไว้ซึ่งกระบวนการทางนิเวศวิทยาดั้งเดิม
  • เพื่อคุ้มครองลักษณะโครงสร้างด้านภูมิทัศน์หรือปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา
  • เพื่อเป็นตัวอย่างของสภาพแวดล้อมธรรมชาติสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การตรวจสอบติดตามผลและการศึกษาเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม
  • เพื่อให้เกิดการรบกวนน้อยที่สุดโดยการวางแผนและดำเนินการวิจัยและกิจกรรมอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาติด้วยความระมัดระวัง
  • จำกัดปริมาณการเข้าถึงของสาธารณชน
ประเภทที่ Ib : Wilderness Area (พื้นที่ธรรมชาติสันโดษ) พื้นที่ทางบกและ/หรือทางทะเลที่ไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงหรือมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากและยังคงความเป็นธรรมชาติและอิทธิพลของธรรมชาติโดยปราศจาการอยู่อาศัยของมนุษย์อย่างถาวรเพื่อคุ้มครองและจัดการให้คงสภาพความเป็นธรรมชาติตลอดไป
  • เพื่อให้ชนรุ่นต่อไปได้มีโอกาสหาประสบการณ์ด้านการเรียนรู้และความเพลิดเพลิน พื้นที่ที่ไม่เคยถูกรบกวนโดยมนุษย์มาก่อน
  • เพื่อคงไว้ซึ่งลักษณะและคุณภาพของสภาพแวดล้อมธรรมชาติชั่วกาลนาน
  • เพื่อเปิดให้สาธารณชนมีโอกาสเข้าไปใช้ในลักษณะและระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อดุลยภาพความเป็นธรรมชาติสันโดษ
  • เพื่อให้ชนเผ่าดั้งเดิมอาสัยอยู่ได้แต่ต้องไม่หนาแน่นเกินสมดุลของทรัพยากรที่ช่วยค้ำจุนวิถีชีวิต
ประเภทที่ II : National Park (อุทยานแห่งชาติ) พื้นที่ธรรมชาติทางบก และ/หรือ ทางทะเล จัดตั้งขึ้นเพื่อ ก) คุ้มครองรักษาระบบนิเวศที่ปรากฏในพื้นที่เพื่อประชาชนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ข) ไม่ให้มีการใช้ประโยชน์หรืออนุญาตเข้าครอบครองที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ และ ค) เปิดโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์ด้ายวิจัย ศึกษาหาความรู้ และนันทนาการที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น
  • เพื่อคุ้มครองพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติและมีสภาพทิวทัศน์ที่มีความสำคัญระดับชาติและระดับนานาชาติ เพื่อวัตถุประสงค์ด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษาเรียนรู้และนันทนากร/ การท่องเที่ยว
  • เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติ สภาพทางภูมิศาสตร์ตัวแทน ชุมชนสิ่งมีชีวิต ทรัพยากรพันธุกรรมและชนิดพันธุ์ เพื่อความมั่นคงและความหลากหลายทางนิเวศวิทยา
  • เพื่อควบคุมจัดการการใช้ประโยชน์ของผู้มาเยือน/ นักท่องเที่ยวด้านการศึกษา เรียนรู้ แรงบันดาลใจและนันทนาการในระดับที่สามารถคงความเป็นธรรมชาติหรือใกล้ความเป็นธรรมชาติได้
  • เพื่อกำจัดและป้องกันการใช้ประโยชน์หรือการบุกรุกครอบครองพื้นที่ที่เป็นอันตรายต่อวัตถุประสงค์ของการประกาศจัดตั้ง
  • เพื่อให้ความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรเพื่อการยังชีพที่ไม่ส่งผลกระทบในทางเสียหายต่อวัตถุประสงค์ของการจัดการข้ออื่นๆ
ประเภทที่ III : Natural Monument (อนุสาวรีย์ธรรมชาติ) พื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะทางธรรมชาติ หรือธรรมชาติ/ วัฒนธรรม หนึ่งอย่างหรือมากกว่าที่มีความโดดเด่น หรือมีความเป็นเอกลักษณ์ เพราะหายาก หรือมีความสวยงาม หรือมีความสำคัญทางวัฒนธรรม
  • เพื่อสงวนหรือคุ้มครองลักษณะโดดเด่นทางธรรมชาติ หรือมีความสำคัญในแง่อื่นๆ ให้คงอยู่ตลอดไป
  • เพื่อเปิดโอกาสให้มีการวิจัย ศึกษาหาความรู้ การสื่อความหมายและเป็นที่ชื่นชมของสาธารณชน
  • เพื่อกำจัดและป้องกันการใช้ประโยชน์และการยึดถือครอบครองที่เป็นอันตรายต่อวัตถุประสงค์ของการประกาศจัดตั้ง
  • อำนวยประโยชน์แก่คนท้องถิ่น แต่ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดการข้ออื่นๆ
ประเภทที่ IV : Habitat/Species Management Area (พื้นที่สำหรับการจัดการที่อยู่อาศัยและชนิดพันธุ์) พื้นที่ทางบก และ/หรือทางทะเล ที่ประกาศจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดการเพื่อคงไว้ซึ่งถิ่นที่อยู่อาศัยและ/หรือชนิดพันธุ์
  • เพื่อคุ้มครองรักษาสภาพถิ่นที่อยู่อาศัยซึ่งจำเป็นต่อการคุ้มครองชนิดพันธุ์ที่สำคัญ กลุ่มชนิดพันธุ์ สังคมสิ่งมีชีวิต หรือลักษณะทางกายภาพของสิ่งแวดล้อมโดยมีการจัดการในระดับที่เหมาะสม
  • เพื่ออำนวยความสะดวก การศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และการตรวจสอบติดตามผลด้านสภาวะแวดล้อมซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของพื้นที่
  • เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งสำหรับให้ประชาชนได้ศึกษาหาความรู้และชื่นชมธรรมชาติและงานจัดการสัตว์ป่า
  • เพื่อกำจัดและป้องกันการใช้ประโยชน์และการยึดถือครอบครองที่เป็นอันตรายต่อวัตถุประสงค์ของการประกาศจัดตั้งและ
  • อำนวยประโยชน์แก่คนท้องถิ่นแต่ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดการข้ออื่นๆ
ประเภทที่ V : Protected Landscape / Seascape (พื้นที่ภูมิทัศน์คุ้มครอง/ทะเลทัศน์คุ้มครอง) พื้นที่ทางบก/หรือพื้นที่ชายฝั่งรวมทะเล ที่ซึ่งมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติมาเป็นเวลานานจนก่อให้เกิดลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์พร้อมคุณค่าด้านความงาม ด้านนิเวศวิทยา และ/หรือด้านวัฒนธรรม ดังนั้น การควบคุมรักษาลักษณะการปฏิสัมพันธ์ดังกล่าว จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการคุ้มครอง การดำรงไว้และวิวัฒนาการของพื้นที่
  • เพื่อคงไว้ซึ่งการปฏิสัมพันธ์อย่างกลมกลืนระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรมโดยการคุ้มครองสภาพภูมิทัศน์ และ/หรือ ทะเลทัศน์ และการใช้ที่ดินแบบดั้งเดิม รูปแบบของสิ่งปลูกสร้างและวิถีชีวิตที่ปรากฏ
  • เพื่อสนับสนุนวิถีชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผสมกลมกลืนกับธรรมชาติและการสงวนรักษาองค์ประกอบทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน
  • เพื่อดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายของสภาพภูมิทัศน์และถิ่นที่อยู่อาศัยและความหลากหลายของชนิดพันธ์และระบบนิเวศ
  • เพื่อกำจัดและป้องกันการใช้ประโยชน์ที่ดินและกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสมทั้งขนาดและรูปแบบ
  • เพื่อเปิดโอกาสให้มีกิจกรรมนันทนาการและการท่องเที่ยวทั้งขนาดและรูปแบบที่ยังคงคุณภาพสำคัญของพื้นที่
  • เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการศึกษาหาความรู้ที่ส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนท้องถิ่นและกระตุ้นให้สาธารณชนช่วยสนับสนุนการคุ้มครองรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่
  • เพื่อนำประโยชน์ (ผลกำไร)มาสู่ชุมชนท้องถิ่นจากผลผลิตจากธรรมชาติ(ผลิตผลป่าไม้และประมง)และจากการบริการ (น้ำสะอาดหรือรายได้จากการท่องเที่ยวในรูปแบบที่ยั่งยืน)
ประเภทที่ VI : Managed Resource Protected Area (พื้นที่คุ้มครองแบบมีการจัดการทรัพยากร) พื้นที่ที่มีระบบธรรมชาติโดดเด่นไม่ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพเพื่อการคุ้มครองและบำรุงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และในขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดผลผลิตทางธรรมชาติลาการบริการสนองต่อความต้องการของชุมชนอย่างยั่งยืน
  • เพื่อคุ้มครองและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและคุณค่าของธรรมชาติอื่นๆ ในระยะยาว
  • เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการจัดการประเภทที่ให้ผลผลิตอย่างยั่งยืน
  • เพื่อคุ้มครองฐานทรัพยากรธรรมชาติจากการใช้ประโยชน์ที่ดินรูปแบบอื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่
  • เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาภูมิภาคและประเทศ

อ้างอิง: IUCN, 1994. Guidelines for Protected Area Management Categories.

 

พื้นที่คุ้มครองของประเทศไทย

พื้นที่คุ้มครองหรือพื้นที่อนุรักษ์ ในประเทศไทย สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ประเภท

อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า/เขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พื้นที่คุ้มครองสมุนไพร ที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำ และป่าสงวนแแห่งชาติ มีรายละเอียดดังนี้

อุทยานแห่งชาติ(National Park)

ประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งเป็นบริเวณที่มีการกระจายพันธุ์พืชและสัตว์ ก่อให้เกิดความหลากหลายของพืชพันธุ์และสัตว์ป่า กอปรกับในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยล้วนมีความสวยงามของแหล่งต้นน้ำลำธาร ดอยสูง ป่าไม้ชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะอันสวยงามแตกต่างกันไปสมควรที่จะได้รับการสงวนและอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานแหล่งธรรมชาติสำคัญที่กระจายกันอยู่ในภาคต่างๆ นั้น ได้รับการปกป้องคุ้มครองไว้ในรูปแบบของ “อุทยานแห่งชาติ” 

 

อุทยานแห่งชาติ (National Park)  หมายถึง ที่ดินซึ่งรวมความถึงพื้นที่ดินทั่วไป ภูเขา ห้วย หนอง คลองบึง บาง ลำน้ำทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลที่ได้รับการกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ในทางปฏิบัติอุทยานแห่งชาติ คือ พื้นที่ที่สงวนไว้เพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ธรรมชาติ ที่สวยงาม สงวนไว้เพื่อให้คงสภาพธรรมชาติดั้งเดิม เพื่อรักษาสมบัติทางธรรมชาติให้อนุชนรุ่นหลังๆ ได้ชมและ ศึกษาค้นคว้า มีลักษณะที่สำคัญ คือ

      • เป็นสถานที่ที่สภาพธรรมชาติเป็นที่โดดเด่นน่าสนใจและงดงาม
      • มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใด
      • โดยทั่วไปต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ตารางกิโลเมตร

 

ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ริเริ่มต้นแบบการจัดอุทยานแห่งชาติขึ้น โดยประกาศให้เขตเยลโลสโตน (Yellowstone) เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของโลก (พ.ศ.2415) ปัจจุบันเชื่อว่าทั่วโลกมีอุทยานแห่งชาติแล้วมากกว่า 1,392 แห่ง

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง   อัตราการเพิ่มของประชากรในประเทศไทยมีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว     เป็นเหตุให้มีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า เพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นไร่นา  และเพื่อการเพาะปลูก ประกอบกับความเจริญเติบโตทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีก็ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น   เป็นผลให้มีการ
ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เช่น  การตัดไม้ทำลายป่า
รัฐบาลจึงตระหนักเห็นถึง ความสำคัญของการสงวนและคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติ   โดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่า   จึงมีการดำเนินการจัดตั้งสวนรุกขชาติ   วนอุทยาน และอุทยานแห่งชาติขึ้น
จนกระทั่งปี พ.ศ.2502  ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ (นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น)  ให้ความสนใจในเรื่องการคุ้มครองรักษาทรัพยากร
ธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้   จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติ วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2502  เห็นชอบให้มีประกาศพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504  ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองรักษา
ทรัพยากรธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี และสระบุรี 3

      การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติในประเทศไทยเป็นการประกาศภายใต้ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ คุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เช่น พันธุ์ไม้และของป่า สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ ป่าและภูเขา ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม มิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่ออำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทรงอ้อมแก่รัฐและประชาชนสืบไป และได้มีการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับ การโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕

ปัจจุบัน มีอุทยานแห่งชาติรวมทั้งทางบกและทางทะเลทั้งสิ้น 148 แห่ง (ข้อมูลปี พ.ศ. 2550) 4 แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ อุทยานแห่งชาติทางบก จำนวน 124 แห่ง และอุทยานแห่งชาติทางทะเล จำนวน 24 แห่ง

    • รายชื่ออุทยานแห่งชาติทางบก
    • รายชื่ออุทยานแห่งชาติทางทะเล
    • แผนที่อุทยานแห่งชาติ

      จากการที่อุทยานแแห่งชาติแต่ละแห่งล้วนมีความงามและความพิเศษแตกต่างกันไปอีกทั้งในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งได้จัดให้มีกิจกกรมเพื่อตอบสนอง
      ความต้องการอันหลากหลายของนักท่องเที่ยว เพื่อใช้เป็นสื่อชักนำให้เกิดการเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจในการรักษาทรัพยากรและความงามตามธรรมชาติ ให้คงอยู่ตลอดไป
      ดังนั้น ในปี พ.ศ.2547 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้คัดเลือกอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย ซึ่งมีความเป็นที่สุดในด้านต่างๆ จำนวน 31 แห่ง เพื่อเผยแพร่ ที่สุดอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย ที่แสดงถึงความงามอันเป็นเอกลักษณ์และ แหล่งทรัพยากร ที่ทรงคุณค่าของประเทศ และเป็นการจุดประกายความสนใจในธรรมชาติต่อไป

อ้างอิง :1 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช.2547.ที่สุดอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย.กรุงเทพ

2 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

3 ธรรมชาติน่ารู้

วนอุทยาน (Forest Park)

วนอุทยาน (Forest Park) หมายถึง   พื้นที่ขนาดเล็ก   จัดตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ   โดยจะทำการปรับปรุงตกแต่ง
สถานที่เหล่านี้ให้เหมาะสม   มีความสวยงามและโดดเด่นในระดับท้องถิ่น   จุดเด่นอาจจะได้แก่  น้ำตก  หุบเหว  หน้าผา   ถ้ำ หรือ หาดทราย  เป็นต้น 1

หลักเกณฑ์การจัดตั้งวนอุทยาน คือ

    • พื้นที่นั้นจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีขนาดกว้างใหญ่เพียงพอที่จะรักษาสถานะทางนิเวศวิทยาของพื้นที่ไว้ได้ ซึ่งตามหลักสากล ได้กำหนดมาตรฐานไว้ไม่น้อยกว่า 10 ตารางกิโลเมตร แต่ทั้งนี้ก็ไม่เป็นเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับคุณค่าของพื้นที่เป็นสำคัญ
    • พื้นที่นั้นจะต้องประกอบไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า หรือมีพืช สัตว์ ที่น่าสนใจและหายาก มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม หรือมีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าสนใจ หรือมีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์หาได้ยาก หรือมีประวัติความเป็นมา ที่มีคุณค่าในด้านทางประวัติศาสตร์ หรือมีมนุษย์ศาสตร์
    • พื้นที่นั้นจะต้องเหมาะต่อการท่องเที่ยว พักผ่อน พักแรม หรือการศึกษาหาความรู้ ซึ่งจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ และวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง

วนอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย คือ วนอุทยานน้ำตกกระเปาะ จังหวัดชุมพร ประกาศจัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ.2501 2

 

วนอุทยานในประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวน 112 แห่ง (ข้อมูล ณ พฤศจิกายน. 53) กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (Wildlife Sanctuary)

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หมายถึง พื้นที่ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย เพื่อว่าสัตว์ป่าในพื้นที่ดังกล่าว จะได้มีโอกาสสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้มากขึ้น ทำให้สัตว์ป่าบางส่วนมีโอกาสกระจายจำนวนออกไปในท้องที่แหล่งอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

หลักในการเลือกพื้นที่เพื่อกำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คือ

  • เป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าชนิดที่หายากหรือใกล้จะสูญพันธุ์อาศัยอยู่
  • มีแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร เป็นที่หลบภัยสำหรับสัตว์เพียงพอ ตลอดจนเป็นแหล่งที่ห่างจากชุมชนพอสมควรและถูกรบกวนน้อย
  • เป็นพื้นที่ที่ไม่อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใด ซึ่งมิใช่ทบวงทางการเมือง

เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรกำหนดที่ดินแห่งใดให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัยเพื่อรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์ป่าก็ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฏษฏีกา และให้มีแผนที่แสดงแนวเขตแห่งบริเวณที่กำหนดนั้น แนบท้ายในพระราชกฏษฏีกาด้วย บริเวณที่กำหนดนี้เรียกว่า “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” กำหนดตามมาตรา 33 ของ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการสงวน
และคุ้มครองสัตว์ป่าที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มาตรการต่างๆที่มีอยู่ในกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถ ทำให้การสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลสมดังวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ประกอบกับจำเป็นจะต้องเร่งรัดการขยายพันธุ์สัตว์ป่าและ
ให้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าควบคู่กันไป และเนื่องจากปัจจุบันได้มีความตกลงระหว่าง ประเทศในการที่จะร่วมมือกันเพื่อสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ของท้องถิ่นอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของโลก ดังนั้น เพื่อปรับปรุงให้มาตรการในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้อง กับความตกลงระหว่างประเทศ สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเสียใหม่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ประโยชน์ที่จะได้รับ

  • เป็นการป้องกันมิให้สัตว์ป่าที่หาได้ยากต้องสูญพันธุ์
  • สัตว์ป่าที่มีอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้รับความคุ้มครองและปลอดภัยทำให้สามารถสืบพันธุ์และเพิ่มจำนวนมากขึ้น สัตว์ป่าที่เพิ่มขึ้นนี้ จะมีโอกาสกระจายไปยังป่าส่วนอื่นๆ ต่อไป
  • เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นต้นน้ำลำธาร เมื่อได้จัดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขึ้นแล้ว บรรดาต้นไม้ พรรณไม้ทุกชนิด ตลอดจนสภาพของต้นน้ำลำธาร แหล่งน้ำ ดิน หิน และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ จะได้รับการคุ้มครองป้องกันไว้เป็นอย่างดี เป็นการรักษาป่าไม้ไว้ไม่ให้ถูกทำลาย ทำให้ป่าต้นน้ำคงอยู่เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงแม่น้ำสายต่าง ๆ ให้มีน้ำไหล ตลอดปี
  • บรรดาสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะเป็นเครื่องดึงดูดให้นักทัศนาจร ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าไปเที่ยว ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และจะนำมาซึ่งรายได้ของประชาชนในท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นเสมือนห้องทดลองค้นคว้าทางวิชาการอันกว้างใหญ่สำหรับศึกษาค้นคว้า ทางวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะสาขาชีววิทยา

จึงถือได้ว่าการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าไม้ แหล่งต้นน้ำลำธาร ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ภายในเขตฯให้คงอยู่ตลอดไปได้ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมวิทยาการด้านสัตว์ป่าและชีววิทยาให้กว้างขวางก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ขณะนี้ได้ประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไปแล้ว 57 แห่ง

และเตรียมประกาศอีก 3 แห่ง

รายชื่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในประเทศไทย

 

เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (Non-Hunting Area)

เขตห้ามล่าสัตว์ป่า หมายถึง อาณาบริเวณพื้นที่ที่ทางราชการได้กำหนดไว้ให้เป็นที่ที่สัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่หายากหรือถูกคุกคามได้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นได้อย่างปลอดภัย สามารถดำรงพันธุ์ต่อไปได้ตามธรรมชาติ การจัดตั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเป็นมาตรการหนึ่งในการอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นการประกาศโดย คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ตามความในมาตรา 15 ของ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่า มีดังนี้

  • คุ้มครอง อารักขาสัตว์ป่าในพื้นที่ให้ได้รับความปลอดภัย
  • รักษาและฟื้นฟูสภาพธรรมชาติให้เหมาะสมเอิ้อต่อการดำรงชีวิตสัตว์ป่า
  • ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืนจากการอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่

 

 

ประโยชน์ที่จะได้รับ

  • เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร
  • เป็นตัวควบคุมระบบนิเวศให้คงความสมดุล
  • เป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัยทางวิชาการ
  • เป็นสื่อกลางในการสร้างจิตสำนึกและเผยแพร่ ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสู่ประชาชน
  • เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป

ขณะนี้ได้มีการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าไปแล้ว 56 แห่ง ทั่วประเทศ และอยู่ระหว่างการประกาศ อีก 7 แห่ง

รายชื่อเขตห้ามล่าสัตว์ป่าในประเทศไทย

อ้างอิง:1 มูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร

2 สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม หมายถึง พื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่กำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
โดยอาศัยความใน พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการ
ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างพอเพียงสมควรปรับปรุงใหม่

มาตรา 43 ในกรณีที่ปรากฏว่าพื้นที่ใดมีลักษณะเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารหรือมี
ระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นโดยทั่วไป หรือมีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติที่
อาจถูกทำลายหรืออาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ได้โดยง่ายหรือเป็น
พื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติหรือศิลปกรรมอันควรแก่การอนุรักษ์และพื้นที่นั้นยังมิได้ถูกประกาศ
กำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มี
อำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

มาตรา 44 ในการออกกฎกระทรวงตามมาตรา ๔๓ ให้กำหนดมาตรการ
คุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ไว้ในกฎกระทรวงด้วย
(1) กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติหรือมิให้
กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติหรือคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม
(2) ห้ามการกระทำหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิด
ผลกระทบในทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของพื้นที่นั้นจากลักษณะตามธรรมชาติหรือเกิด
ผลกระทบต่อคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม
(3) กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ
รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้างหรือดำเนินการในพื้นที่นั้น ให้มีหน้าที่ต้องเสนอ
รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
(4) กำหนดวิธีจัดการโดยเฉพาะสำหรับพื้นที่นั้นรวมทั้งการกำหนดขอบเขต
หน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการร่วมมือและ
ประสานงานให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติหรือระบบนิเวศน์
ตามธรรมชาติหรือคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมในพื้นที่นั้น
(5) กำหนดมาตรการคุ้มครองอื่นๆ ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่สภาพของพื้นที่นั้น

มาตรา 45 ในพื้นที่ใดที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ เขตผังเมืองรวม เขต
ผังเมืองเฉพาะ เขตควบคุมอาคาร เขตนิคมอุตสาหกรม ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือเขตควบคุมมลพิษตามพระราชบัญญัตินี้ไว้แล้ว แต่ปรากฏว่ามีสภาพปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
รุนแรงเข้าขั้นวิกฤตซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขโดยทันทีและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่มี
อำนาจตามกฎหมายหรือไม่สามารถที่จะทำการแก้ไขปัญหาได้ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีขออนุมัติเข้าดำเนินการเพื่อใช้มาตรการ
คุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามมาตรา ๔๔ ตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อ
ควบคุมและแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้นได้
เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รัฐมนตรีประกาศในราช
กิจจานุเบกษากำหนดเขตพื้นที่ รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองและกำหนดระยะเวลาที่จะ
ใช้มาตรการคุ้มครองดังกล่าวในพื้นที่นั้น
การขยายระยะเวลาตามประกาศในวรรคสองให้กระทำได้เมื่อได้รับความเห็นชอบ
จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี โดยทำเป็นประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 1

 

ปัจจุบัน มีพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแล้ว 7 พื้นที่ ได้แก่

  • บริเวณท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาเพื่อประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม อีก 5 พื้นที่คือ

  • บริเวณพื้นที่อำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงัน และน่านน้ำโดยรอบ
  • บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
  • บริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำแม่กลองจังหวัดสมุทรสงคราม (พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด)
  • บริเวณพื้นที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์
  • บริเวณพื้นที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน 3

1 อ้างอิง: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2 อ้างอิง : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

3.อ้างอิง: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ที่รักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ

ที่รักษาพืชพันธุ์ เป็นการประกาศจัดตั้ง ภายใต้ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ตามความในมาตรา

มาตรา 6 บรรดาที่จับสัตว์น้ำทั้งปวงให้กำหนดเป็น ๔ ประเภท คือ
(๑) ที่รักษาพืชพันธุ์
(๒) ที่ว่าประมูล
(๓) ที่อนุญาต
(๔) ที่สาธารณประโยชน์

มาตรา 7 ให้คณะกรมการจังหวัดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศ
กำหนดประเภทที่จับสัตว์น้ำภายในเขตท้องที่ของตนว่า เข้าอยู่ในประเภทที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่า
ประมูล หรือที่อนุญาต

มาตรา 8 ที่รักษาพืชพันธุ์ คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในบริเวณพระอาราม หรือปูชนียสถาน หรือติดกับเขตสถานที่ดังกล่าวแล้ว บริเวณประตูน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝาย หรือทำนบ หรือที่ซึ่งเหมาะแก่การรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ
มาตรา 9 ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมง หรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดให้

 

ป่าสงวนแห่งชาติ (Forest Reserve)

ป่าสงวนแห่งชาติ คือ ป่าที่ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ รัฐบาลมีนโยบายที่จะช่วยเหลือราษฎร ที่มีความจำเป็นในการครองชีพสามารถเข้าทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้โดยไม่เดือดร้อนและโดยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงได้แก้ไขกฎหมาย ให้ทางราชการมีอำนาจอนุญาตให้บุคคลเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้เป็นคราว ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยกำหนดว่าในระยะสั้นอันเป็นการช่วยเหลือชั่วคราวตามความจำเป็น อนุญาตได้คราวละไม่เกินห้าปี นอกจากนั้นได้แก้ไขบทบัญญัติอื่น ๆ ที่ยังไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงและ
สะดวกแก่การปฏิบัติราชการ เช่น อนุญาตให้ทางราชการและองค์การของรัฐใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นการชั่วคราวได้โดยคล่องตัวยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ประกาศว่าเป็นป่าสงวนและป่าคุ้มครอง ส่วนป่าสงวน อีกกรณีหนึ่ง เป็นป่าซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยพิจารณาจากความจำเป็นเพื่อการรักษาสภาพป่าไม้ ของป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น และในกฎ กระทรวงดังกล่าวจะต้องมีแผนที่แสดงแนวเขตของป่าสงวนไว้ด้วย อีกทั้งเมื่อประกาศแล้ว ต้องปิดประกาศสำเนากฎกระทรวงไว้ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ที่ทำการกำนัน และในหมู่บ้านในเขตที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนทราบ

การประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้น มีข้อห้ามว่าต้องไม่เป็น ที่ดินของเอกชนที่มีสิทธิครอบครองอยู่แล้วก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งโดยทั่วไป จะเป็นที่รกร้างว่างเปล่า หรือเป็นที่ที่อยู่ในความครอบครองของรัฐหรือทบวงการเมือง

 

 

แนวคิดในการอนุรักษ์ป่าสงวนแห่งชาติ

  • การสงวนและรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรป่าไม้ เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และนำผลประโยชน์จากป่าไม้มาเพื่อการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้ดีขึ้น
  • การศึกษาทางวิชาการอันจะนำไปสู่การพัฒนาทางระบบนิเวศน์ หรือการพัฒนาพันธุ์พืช 1

ประเทศไทย ได้ประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ดังนี้ 2 (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ.2552 )

ภาค
จำนวนป่าสงวน (แห่ง)
พื้นที่ (ตร.กม.)
เหนือ
257
111,875.04
ตะวันออกเฉียงเหนือ
353
55,333.40
กลางและตะวันออก
143
34,889.06
ใต้
468
28,183.14
รวม
1,221
230,280.64

 หมายเหตุ  : 1. เนื้อที่ป่าสงวนแห่งชาติในตารางนี้เป็นเนื้อที่รวมทั้งหมดตามที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยังไม่ได้หักเนื้อที่ซ้อนทับและเนื้อที่เพิกถอนเพื่อใช้ประโยชน์ออก

2. จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร และอุทัยธานี รวมอยู่ในภาคเหนือ

อ้างอิง :1 คลังปัญญาไทย

2 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช