2 ปีปฏิบัติการเช็กบิลรุกป่าทับลาน รีสอร์ต-บ้านพัก 434 แห่งรอสางคดี

12 พ.ย. 2556 เวลา 16:35:01 น. ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

อุทยานแห่งชาติทับลาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ประมาณ 1,397,375 ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศให้เป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติ” จากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ดงพญาเย็น-เขาใหญ่” พื้นที่แห่งนี้จึงถูกหมายปองและถูกจับตาเป็นกรณีพิเศษ

ทั้งนี้กว่า 2 ขวบปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมป่าไม้ อุทยานแห่งชาติทับลาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าปฏิบัติการ “เช็กบิล” ครั้งใหญ่ ธุรกิจรีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศที่เข้าข่ายบุกรุกพื้นที่อุทยาน ทำให้เกิดคดีฟ้องร้องระหว่าง

เอกชนและหน่วยงานของรัฐในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดขึ้นกว่า 434 คดี ในพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย วังน้ำเขียว เสิงสาง ครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

“สังวาลย์ แสงสวัสดิ” ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คดีบุกรุกที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 434 คดี มีจุดเริ่ม

มาตั้งแต่ปี 2543 และมีปฏิบัติการกวาดล้างครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของฝ่ายบริหารในขณะนั้น

 

คดีความที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการบุกรุกเปิดรีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศแบบมีสิ่งปลูกสร้างถาวร รวมถึงการบุกรุกเข้าไปปลูกพืชผลทางการเกษตร โดยพื้นที่ที่มีการบุกรุกมากเป็นอันดับ 1 อยู่ที่อำเภอวังน้ำเขียว จำนวน 313 คดี

คิดเป็นสัดส่วน 72% รองลงมาเป็นอำเภอนาดี 94 คดี สัดส่วน 22% อันดับ 3 อำเภอครบุรี 17 คดี สัดส่วน 4% และอันดับ 4 อำเภอเสิงสาง 10 คดี สัดส่วน 2%

ทั้งนี้คดีความที่สั่งฟ้องทั้งหมด 52 คดี ที่ได้ดำเนินงานตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานสั่งให้ผู้กระทำผิดทำลายหรือรื้อถอนสิ่งนั้น ๆ ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ หากผู้กระทำผิดไม่ปฏิบัติตาม ให้เจ้าพนักงานดำเนินการด้วยตัวเอง พร้อมกับเรียกให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

ในกรณีนี้ อุทยานฯทับลานได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเรียบร้อยแล้ว 25 คดี และทำการรื้อถอนแล้วบางส่วนอีก 18 คดี มีอีก 27 คดี ยังไม่ได้ดำเนินการรื้อถอน เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง จำนวน 25 คดี และอยู่ระหว่างอุทธรณ์ตามมาตรา 22 อีก 2 คดี

นอกจากนี้ยังมีคดีที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 22 จำนวน 382 คดี แบ่งเป็น 1)ผู้กระทำความผิดได้ออกจากพื้นที่แล้ว ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง และพืชผลอาสิน จำนวน 37 คดี 2)อยู่ระหว่างชั้นพนักงานสอบสวน สืบหาผู้กระทำความผิด 308 คดี และ 3)อยู่ระหว่างฟ้องคดีแพ่ง พร้อมกับฟ้องขับไล่และให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และพืชผลอาสิน จำนวน 37 คดี

 

“ช่วงนี้ดูเหมือนการปฏิบัติหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติทับลานจะนิ่ง ๆ ไป แต่ขบวนการทางกฎหมายเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เราไม่ได้นิ่งเฉยนะ ยังคงเดินหน้าตลอดเวลา ที่ผ่านมามีการตั้งรองปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมป่าไม้ขึ้นมาเป็นกรรมการพิจารณาคดีบุกรุกพื้นที่อุทยาน เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จ มีเป้าหมายเคลียร์คดีอย่าให้หยุดนิ่ง บางคดีกว่าจะสิ้นสุดใช้เวลาเป็น 10 ปี”

“สังวาลย์” ยอมรับว่า หากจะให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯทับลานเดินหน้าจัดการกับผู้ที่เข้าข่ายบุกรุกตามมาตรา 22 เพื่อเข้าไปรื้อถอนก็สามารถดำเนินการได้ทันที แต่ฝ่ายบริหารเกรงว่าจะเกิดปัญหาการฟ้องร้องตามมาภายหลัง นโยบายตอนนี้คือรอให้คดีความถึงที่สุดก่อน พร้อมยกตัวอย่าง กรณีบ้านทะเลหมอกรีสอร์ท ที่ดำเนินคดีมาตั้งแต่ปี 2543 มีการบุกรุกพื้นที่อุทยาน เนื้อที่ 62 ไร่เศษ มีสิ่งปลูกสร้างกว่า 20 หลัง คดีความถึงที่สุดแล้ว เจ้าหน้าที่อุทยานฯทับลานได้เข้าทำการรื้อถอนตามมาตรา 22 แต่ทางเจ้าของโครงการได้ฟ้องกลับในข้อหาบุกรุก

กรณีบ้านผางามรีสอร์ท มีการบุกรุกพื้นที่อุทยานกว่า 122 ไร่เศษ มีสิ่งปลูกสร้างถาวร 21 หลัง โครงการนี้โดนจับข้อหาบุกรุกในเวลาใกล้เคียงกัน ตั้งแต่มีการก่อสร้างใหม่ ๆ แต่การดำเนินการทางกฎหมายกว่าจะรู้แพ้ รู้ชนะ ต้องต่อสู้กันหลายศาล ขณะเดียวกันก็มีการก่อสร้างไปเรื่อย ๆ จนแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการมาถึงปัจจุบัน ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาลปกครอง

“กรณีบ้านทะเลหมอกรีสอร์ท เจ้าของโครงการเห็นว่าผิดจริงก็เลยยอมรับความผิด เพราะมีความหวังว่าจะเปลี่ยนมาเป็นเช่าแทน ตามนโยบายของผู้ใหญ่ขณะนั้น เมื่อสู้มาได้ครึ่งทางก็มีการตีความทางกฎหมายกันไปทุกกระบวนการแล้ว ปรากฏว่าแนวทางให้เช่าไม่สามารถทำได้ทั้งในพื้นที่ทางทะเลและบนบก เมื่อบุกรุกไปแล้วถือว่าทำผิดกฎหมาย ก็ต้องมีการรื้อถอนเกิดขึ้น”

“สิ่งที่ค่อนข้างหนักใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯทับลานในขณะนี้คือ ขั้นตอนการต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมใช้เวลานาน มีหลายรายที่ส่งคดีถึงมืออัยการแล้วสั่งไม่ฟ้อง รวมถึงมีการฟ้องกลับเจ้าหน้าที่”

อีกปัญหาใหญ่ของอุทยานฯทับลาน ก็คือภาระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นจึงมีการฟ้องร้องกลับผู้กระทำความผิดคืนเพื่อให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แน่นอนว่ากระบวนการเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร

การเอาผิดต่อผู้กระทำความผิดบุกรุกป่า แม้จะยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งหมด แต่การลุกขึ้นมาเอาจริงของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้ ก็ทำให้ขบวนการรุกป่าทำได้ยากขึ้น…!