หญิงแกร่ง ผู้พิทักษ์ผืนป่าตะวันตก “วีรยา โอชะกุล”

 โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช เรื่อง

วีรยา โอชะกุล

วีรยา โอชะกุล ภาพจาก มุลนิธิสืบ นาคะเสถียร

กระแสของเขื่อนแม่วงก์งวดเข้ามาทุกขณะ 

เป็นอีกก้าวสำคัญ เพราะการจะสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วมซ้ำซากนั้น ไม่เพียงต้องแลกมาด้วยการโค่นพื้นที่ป่าไม้เป็นบริเวณกว้าง ยังหมายถึงการรุกบ้านของสัตว์ป่าไม่เพียงแค่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์

แต่ยังส่งผลกระทบถึงบริเวณใกล้เคียง ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้าย ห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร

“มติชน” ลุยเข้าไปที่สำนักงาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก เพื่อพูดคุยกับ วีรยา โอชะกุล หัวหน้าเขตฯ ผู้หญิงคนเดียวที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่พิทักษ์ผืนป่า ในวันที่ประเด็นคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์กำลังร้อนแรง

“พื้นที่ใดมีเสือแสดงว่าที่นั่นมีประชากรสัตว์ป่าค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะมีเหยื่อ เสือจึงอยู่ได้ ที่แม่วงก์พบเสือเป็นจำนวนมาก เป็นการกระจายพื้นที่ไปจากห้วยขาแข้ง ถือว่าเป็นเรื่องดี ยังแปลกใจว่าทำไมจะสร้างเขื่อน….”

หัวหน้า วีรยา เล่าให้ฟังท่ามกลางแสงสว่างด้วยแรงเทียน ที่นี่ใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งในช่วงที่ฟ้าครึ้มฝนตกทั้งวัน ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะไม่พอใช้ถึงค่ำ

ก่อนหน้านี้อาทิตย์เศษๆ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันออก เจ้าหน้าที่ป่าไม้ปะทะกับผู้ลักลอบล่าสัตว์ ทำให้สูญเสียเจ้าหน้าที่ไปถึง 2 นาย

“หลังจากที่เราเดินลาดตระเวนมากขึ้น ทางฝั่งตะวันตกยังไม่พบการวางยาดักสัตว์ใหญ่ มีแต่ทางอุ้มผาง เพราะ “ตลาด” อยู่ทางโน้น ทางฝั่งนี้จะเป็นเรื่องการรุกป่า และการต่อสู้กับความยากลำบากของพื้นที่ เจ้าหน้าที่ของเราจึงเป็นกะเหรี่ยงเป็นส่วนใหญ่เพราะรู้จักและคุ้นกับพื้นที่เป็นอย่างดี” 

วีรยา เกิดที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นลูกสาวคนกลางในพี่น้อง 3 คน ของคุณพ่อ-วิสุทธิ์กับคุณแม่-วัลลีย์ โอชะกุล ครูชนบทนอกเมือง จังหวัดพิจิตร เธอจึงถูกส่งไปอยู่กับย่าเพื่อเรียนหนังสือในเมือง

ชีวิตในโรงเรียนตั้งแต่ประถมจึงย้ายไปเรื่อย ป.1-4 อยู่แปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ป.5-6 ไปเรียนโรงเรียนในชุมชน จังหวัดพิจิตร พอ ม.4 ย้ายกลับไปเรียนที่บ้านเกิด โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี ก่อนจะเข้าไปเป็นนิสิตในรั้วนนทรี คณะวนศาสตร์ ด้วยเหตุผลเดียวคือ ชอบเดินทางชอบท่องเที่ยว 

การได้ร่วมทำกิจกรรม ออกค่ายกับรุ่นพี่ โดยเฉพาะที่ภูกระดึง ทำให้ตอกย้ำสิ่งที่อยู่ในใจ กระทั่งสำเร็จการศึกษา แม้จะมีตำแหน่งงานบริษัทสบายๆ เปิดกว้างรอรับอยู่ตรงหน้า เธอกลับทอดเวลาอยู่เกือบเดือนแล้วเก็บของใส่เป้นั่งรถทัวร์ไปของานทำกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง 

“ตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว หลายๆ คนไม่เห็นด้วย พ่อแม่อยากให้เรียนพยาบาลเหมือนพี่สาว แต่ตัวเองไม่ชอบ ไม่คิดว่าจะเป็นพยาบาลที่ดีได้ เรียนไปก็ไม่มีความสุข ที่สุดพ่อแม่ก็ต้องยอม”

เริ่มจากศูนย์ให้บริการนักท่องเที่ยว จัดนิทรรศการ ทำงานด้านวิชาการ ซึ่งเธอเองก็เข้าใจว่าด้วยข้อจำกัดของ “ผู้หญิง” คงทำได้เพียงนั้น และแล้ววันหนึ่งเธอก็ได้รับโอกาสจากหัวหน้าอุทยานฯให้ติดตามชุดสายตรวจปราบปรามเข้าไปในพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล 

จากเช้าไปเย็นกลับ เริ่มเข้าไปค้างคืนกับลูกน้องชายล้วน แน่นอน ทุกคนต้องดูแลปกป้องเธอราวกับไข่ในหิน ด้วยคำขู่ของหัวหน้างานว่า ถ้าปล่อยให้เธอเป็นอะไรไปล่ะก็ มีปัญหาแน่ 

พ.ศ.2538-2539 ย้ายไปอยู่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า สำนักงานป่าไม้ จ.พิจิตร ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ทำงานป่าไม้ชุมชน แล้วบรรจุเข้าไปทำงานในกรมป่าไม้ 2 ปี ก่อนจะลงพื้นที่อย่างจริงจัง ในปี 2540-2541 เป็นหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าหน่วยทุ่งแฝก และหน่วยซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 

“ครั้งแรกที่ลงพื้นที่กับลูกน้องผู้ชาย ตอนนั้นยังเป็นเด็กจบใหม่ ไม่มีวุฒิภาวะ ตัวเองก็ยังดูแลไม่ค่อยได้ รู้สึกเป็นภาระกับคนอื่นพอสมควร ต้องใช้เวลาเป็นปี ทำให้เขาเห็นว่าเราทำได้ ลูกน้องทำอะไร เราทำด้วย ลูกน้องถึงไหน เราถึงด้วย แม้จะต้องใช้แรงเป็นสามเท่า เหนื่อยกว่าเขาแน่ ช้ากว่าเขา แต่เราต้องถึง จะไม่เป็นภาระให้เขา ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาต้องดูแลตัวเองได้”

พ.ศ.2541-2548 ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงภูทอง จ.พิษณุโลก เธอเป็นหัวหน้าหน่วยชุดปราบปรามเกี่ยวกับการกระทำผิด ต้องเดินป่าทุกวัน รู้เลยว่าแปลงไหนขยับพื้นที่ ต้นไม้ต้นไหนถูกตัด ความที่เป็นคนตงฉิน การทำงานแบบไม่ฟังหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน บนพื้นที่ที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์และความขัดแย้ง ทำให้เธอ “ถูกตั้งค่าหัว” 

ปลายปี 2548-2549 จึงย้ายไปเขตห้ามล่าสัตว์ป่าลำปาว จ.กาฬสินธุ์ แต่ก็ต้องเจอกับผู้มีอิทธิพลเหมือนเดิม อยู่ได้เพียง 1 ปี 6 เดือน ก็ถูกดึงออกจากพื้นที่ ไปเป็นหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ จ.ร้อยเอ็ด แล้วย้ายไปอยู่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 จ.พิษณุโลก

แต่แล้วต้นปี 2551 เธอกลับทิ้งงานในสำนักงาน อาสาเข้าไปทำงานในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก และขึ้นเป็นหัวหน้าในปลายปีเดียวกัน 

วันนี้ในวัย 43 ปี วีรยายังคงทำงานหนักไปพร้อมๆ กับลูกน้องบนผืนป่าที่ถือเป็นป่าสมบูรณ์ผืนสุดท้ายที่เหลืออยู่! 

– เป็นผู้หญิงคนเดียว เคยโดนลองดี?

ณ วันที่เริ่มงานปราบปราม มีคำถามเยอะมากว่าทำไมต้องให้ผู้หญิงมาเป็นหัวหน้าชุด แต่ไม่เคยเสนอตัวเองว่าทำได้ หรืออยากทำเลย มีความรู้สึกว่าถ้าหัวหน้าสั่ง เราต้องทำ แต่ก็เข้าใจว่าหัวหน้าก็เสี่ยงพอสมควร เพราะเราเป็นผู้หญิง ยิ่งเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง มีความขัดแย้งค่อนข้างมาก ก็ยังให้โอกาสเราทำ ซึ่งถ้ามีอะไรผิดพลาด หัวหน้าโดนก่อนแน่นอน 

ทีแรกหัวหน้าก็ชมว่าเก่ง แต่ตอนหลังเริ่มโดนล้อม เริ่มมี “ค่าหัว” (หัวเราะ) เริ่มมีข่าวกรองจากตำรวจตระเวนชายแดนว่า วันนี้เข้าพื้นที่ไม่ได้นะ เอาแน่ ฉะนั้นทุกอย่างผิดพลาดไม่ได้

– ถูกตั้งค่าหัวที่ไหน?

ที่ภูเมี่ยงภูทอง พิษณุโลก ชาวบ้านเป็นเผ่าม้ง ทำโดยเสรีมาตลอด พอวันหนึ่งเราเข้าไปบอกว่าคุณทำไม่ได้ เลยต่อต้านอย่างรุนแรง เราจึงใช้วิธีปีแรกบอก ปี 2 จับ คดีความเยอะมาก 40-50 คดี เสี่ยงพอสมควร และมีเสียงจากสังคมด้วยว่า เรียนมาขนาดนี้ถูกยิงตายไม่คุ้ม เอาชีวิตไปแลกทำไมกับลูกปืนไม่กี่บาท แล้วยังมีความขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพลอีก เพราะกับเราเขา “ขอ” ไม่ได้ ตอนหลังชาวบ้านจะรู้ว่า ถ้าเป็นหัวหน้าผู้หญิงจับ ไม่ต้องเสียเวลาไปพูด ไปหาหลักฐานเอกสารเตรียมไปโรงพักได้เลย 

– เลยมีคดีความเต็มไปหมด?

จริงๆ แล้วชาวบ้านบางทีก็ไม่ได้ตั้งใจทำผิด ถ้าเจ้าหน้าที่เอาจริงเอาจังอย่างสม่ำเสมอ เขาก็ไม่กล้า แต่เหตุที่เกิดเพราะเคยทำได้ มาวันดีคืนดีบอกว่าอันนี้ผิด ผมจะจับจะยึด เขาก็รับไม่ได้ แต่ถ้าจัดการทุกอย่างสม่ำเสมอเหมือนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยง-ภูทอง ตอนแรกทำงานยากมาก แต่หลังจากนั้น 3 ปี ไม่มีใครกล้า เพราะเราจับหมด ถือว่าเราพูดแล้ว เราให้โอกาสแล้ว เขาก็ยอมรับกฎหมายโดยปริยาย

– ไม่กลัว?

ไม่ได้นึกถึงค่ะ เสี่ยงก็หลายครั้ง สิ่งที่เราได้คือ ต้องรอบคอบ วางแผนเอง ประมาทไม่ได้ แต่บางทีเรามองว่าเราเซฟสุดแล้ว แต่ก็ยังโดน

 ลงพื้นที่แต่ละครั้งไปกันกี่คน?

ถ้าในสถานการณ์ที่ภูเมี่ยง-ภูทองไป 15 คน อาวุธครบมือ ลูกปืนต้องเต็มแม็ก 2 แม็ก แต่ถ้าที่อื่นไปสำรวจดูพื้นที่ ประมาณ 7-9 คน 

– คุณพ่อคุณแม่ว่าอย่างไร?

ก็ต้องทำใจ จะมีคุณน้าคอยฟังข่าวตลอดเวลา เพราะป่าไม้โดนยิงจะดังมาก คุณน้าก็จะไปโรงพยาบาลยืนชะเง้อดูแล้วว่าใช่เรามั้ย โชคดีที่บ้านให้โอกาส อย่างมาที่นี่ก็ขอ 2 ปี เพราะรู้สึกว่าพ่อแม่แก่แล้ว เราน่าจะอยู่บ้านกับเขา แต่ไม่เคยเลยตั้งแต่เรียนจบก็ได้แต่ตะลอนๆ ก่อนหน้านี้มีโอกาสได้ทำงานสบายนั่งอยู่ในออฟฟิศ วันหนึ่งเซ็นชื่อไม่กี่ชื่อ แต่รู้สึกว่าไม่คุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับ พอดีหัวหน้า (วิทยา วีระสัมพันธ์) ที่ให้โอกาสเรามาตลอด หาคนช่วยงานไม่ได้ เลยขอมาเป็นผู้ช่วย 

– อาสามาเอง?

ค่ะ ชอบป่าที่นี่ ป่าสวย สัตว์ป่าอยู่เยอะ ทำงานแล้วเห็นผล อย่างที่พิษณุโลกทำงานอยู่ 6 ปี เราเห็นป่าโดนทำลายไป เดินป่าไม่เห็นสัตว์ป่าเลย มีแต่วัวควาย มีความรู้สึกว่าผลของการกระทำของเราไม่ได้ให้อะไรที่ชื่นใจขึ้นมาเลย แต่กับที่นี่เราเหนื่อยกลับมาจากไปประชุมไปต่อสู้ ยังได้ยินเสียงชะนี เข้าป่ายังมีรอยเสือ รอยกระทิง ซึ่งมันเป็นกำลังใจให้กลับออกไปสู้อีกครั้ง

– มาเป็นผู้ช่วยก่อน? 

ค่ะ รับผิดชอบการจัดการชุมชน ที่นี่มีชุมชนกะเหรี่ยง 7 ชุมชน เราก็ไปดูการใช้พื้นที่ทำกินของเขา ครั้งแรกก็ทำใจไม่ได้ว่าทำไมเขาเผาไร่ขนาดนี้ แต่ถ้ามองย้อนกลับไป 50 ปี 100 กว่าปีก่อน เขาก็ทำอยู่แค่นี้ เลยคิดว่าน่าจะมีคำตอบ แต่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าป่าที่เขาตัดเขาเผามันมีวัฒนธรรมอย่างไร เลยคิดเรื่องการเดินสำรวจไร่หมุนเวียนเพื่อดูว่าเขามีกรอบการทำมาหากินตรงไหนบ้าง เป็นการคิดโดยใช้เวทีของคณะกรรมการที่ปรึกษา ซึ่งเป็นคนในชุมชน (กะเหรี่ยง)

– เข้าไปคลุกคลีเรียนรู้วิถีชีวิต?

ไม่ถึงกับเรียนรู้ เราใช้การหาข้อมูลและประชุมสอบถาม อย่างปีแรกที่ทำจะบอกเขาว่าจะฟันพื้นที่ตรงไหนให้มาบอกเจ้าหน้าที่ ซึ่งถ้าเป็นพื้นที่อื่นทำได้ แต่กับที่นี่เขาบอกไม่ได้ เพราะเขายังไม่ได้เสี่ยงทาย ซึ่งที่ที่เขาอยู่ อีก 5 ปีไม่ใช่ว่าเขาจะเวียนมาทำตรงนี้อีก เพราะถ้าคนอื่นเสี่ยงทายได้ก็เป็นคนอื่นทำ เหล่านี้จะได้จากการประชุมเรียนรู้ไปกับเขาเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหา

– มีปัญหายาเสพติด?

มีแค่ยาเส้นที่สูบกันมาตั้งแต่เด็ก ข้อดีของที่นี่คือ ทำพอกินแค่อิ่ม แต่ถ้าเป็นไร่เลื่อนลอยคือทำขาย ที่นี่ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ฉะนั้นไม่คิดขยายพื้นที่ แต่ถ้าเป็นนอกพื้นที่วิถีเปลี่ยนไปแล้ว ที่ไหนก็ตามถ้าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน วิถีเปลี่ยนทันที พอลงหลักปูน ข้าวโพดมา มันสำปะหลังมา ยาฆ่าหญ้ามา ปุ๋ยมา มันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมาก แต่ในทุ่งใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ ถ้ามีปัญหาเราใช้กระบวนการชุมชนเข้าจัดการ จึงไม่มีข้อขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่

 ผืนป่ากว้างใหญ่มากทำงานกันอย่างไร?

ในพื้นที่ 1.3 ล้านกว่าไร่ เรามีเจ้าหน้าที่ 150 คน แบ่งเป็น 17 ชุดลาดตระเวน เดินกันเดือนละ 1,000 กว่ากิโลเมตร จะมีการกำหนดว่าถ้าเกิดเหตุตรงไหน ชุดลาดตระเวนไหนต้องเข้าไปดู พอสิ้นเดือนจะมาประชุมพูดคุยปรึกษากัน มาแบ่งปันข้อมูลกันหมด คือพอเป็นระบบ เขาก็ทำงานอย่างสนุก อย่างเป้าหมายปีนี้ ในพื้นที่ 1.3 ล้านกว่าไร่ ต้องเดินให้ได้ 80% ซึ่งน่าจะทำได้

– บริเวณไหนที่เป็นปัญหา?

ส่วนที่ติดแนวเขต เมื่อก่อนเป็นป่าทึบมาก แต่ตอนนี้มีการขยับขยาย ซึ่งเจ้าหน้าที่เราต้องทำงานหนักขึ้น นี่คือการรุกพื้นที่ ส่วนการทำไม้ อย่างนอกเขตถ้าตรงไหนที่เห็นว่าโดนประชิด เราก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลด้วย 

 ถ้าคณะวนศาสตร์จะไม่รับนิสิตหญิง มีความเห็นอย่างไร?

ถ้าไม่รับไม่เห็นด้วย แต่เห็นด้วยกับการจำกัดจำนวน เพราะ ณ วันนี้ ม.เกษตรฯรับนิสิตแบบโควต้า แล้วเด็กนักเรียนหญิง ม.ปลาย เรียนเก่ง พอคัดเลือกเข้ามาเด็กโควต้าเป็นผู้หญิงหมด ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เป็นผู้หญิง แต่ต้องยอมรับว่าผู้หญิงไม่ใช่ว่าทำได้ทุกอย่าง ที่สำคัญคือ คุณต้องรักป่า ต้องอยู่กับมันได้ เพราะมัน “เหนื่อยมาก” แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้ ผู้หญิงทำได้แน่นอน 

– ทุกวันนี้ยังต้องลงพื้นที่ตลอด?

ถ้าที่นี่ไม่ค่อย เพราะต้องเดินทางไปประชุม แก้เอกสาร ถูกเรียกไปที่นั่นที่นี่ แต่เสาร์-อาทิตย์-จันทร์ จะกลับมาเยี่ยมลูกน้องตามหน่วยเท่าที่เวลามี เพราะถ้าเราอยากให้เขาดูแลอย่างเข้มแข็ง เราต้องดูแลเขาด้วย ในอดีตพื้นที่ห้วยขาแข้ง มีคนช่วยเยอะ แต่กับหน่วยข้างๆ เขตฯ ห้วยคือ ต้องนั่งเรือไปอีก 15 นาที ลูกน้องถามว่าทำไมเราไม่ได้รับแจกเปล ไม่ได้รับแจกข้าวสาร เพราะในขณะที่เราบอกว่าคุณต้องลาดตระเวน ต้องทำงานให้เป็นระบบ ให้เข้มแข็งเหมือนที่อื่น แต่เขาขาดไปเสียทุกอย่าง 

ยกตัวอย่าง ในอดีตรถวิ่งไม่ได้ ก็ต้องทำให้มันวิ่งได้ เพราะอย่างน้อยเวลาประชุมระยะทาง 80 กิโลเมตร ต้องเดินเท้า 3 คืน 4 วัน ประชุมเสร็จต้องเดินป่าอีก มันโหดร้ายเกินไป แล้วถ้าเจ็บป่วย เราหามเขาออกมาไม่ไหว ก็ต้องทำเรื่องขอรถติดวินซ์

– งบประมาณสนับสนุน?

เราได้ค่าซ่อมบำรุงรถปีละ 40,000 บาท เท่าที่อื่น แต่สภาพพื้นที่ไม่เหมือนกัน ซ่อมครั้งเดียวเงินหมดแล้ว แล้วอีก 11 เดือนล่ะ อยากให้จัดสรรงบประมาณตามความยากลำบากของพื้นที่ เพราะเป็นปัญหามาก งบประมาณส่วนใหญ่จัดเพื่อการแก้ไขปัญหา เราทำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แต่เขาเห็นว่าพื้นที่เราไม่มีปัญหา ไม่ต้องใช้งบฯ ซึ่งไม่ใช่ 

“เหตุผลที่เราไม่มีปัญหาเพราะเราทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แต่เราหยุดไม่ได้ ถ้าหยุด พื้นที่มีปัญหาแน่ แม้ว่าเงินไม่พอ เราก็ต้องพยายามทำงานให้ได้ เพราะมันไม่เหลือพื้นที่ให้เสียอีกแล้ว”

หน้า 13 มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2556