เสือโคร่ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

เสือโคร่ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

เสือโคร่ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ภาพตัวอย่าง เสือโคร่งที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งแต่ปี 2006 – 2009

ภาพตัวอย่าง เสือโคร่งที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งแต่ปี 2006 - 2009

ภาพตัวอย่าง เสือโคร่งที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งแต่ปี 2006 – 2009

ขอขอบคุณภาพและเรื่อง จาก www.huaikhakhaeng.net

เสือในประเทศไทยมี 9 ชนิด โดยแบ่งเป็น

เสือขนาดใหญ่ มี 2 ชนิดคือ เสือโคร่งและเสือดาว เสือทั้ง 2 ชนิดนี้จะมีกล่องเสียงที่สามารถทำให้คำรามได้
เสือขนาดกลาง มี 4 ชนิด คือ เสือลายเมฆ มีลายตามลำตัวเหมือนเมฆ ขนนุ่มเหมือนกระต่าย เสือไฟ มีขนาดเท่าหมาไทย มีสีเทา น้ำตาลแดง เสือปลา ขนาดใกล้เคียงหมาไทย ที่ตีนจะมีรยางค์ใช้สำหรับว่ายน้ำจับปลา เสือกระต่าย ลักษณะคล้ายเสือไฟ มีหูยาว
เสือขนาดเล็ก มี 3 ชนิด คือ แมวป่าหัวแบน ลักษณะคล้ายเสือปลา ลำตัวสีเทา แมวดาว ตัวเทาแมวบ้านธรรมดา แมวลายหินอ่อน มีหางยาวและใหญ่ กินนกและกระรอกเป็นอาหาร

เสือโคร่งเป็นสัตว์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ทำหน้าที่ในการควบคุมประชากร ช่วยในการคัดเลือกพันธุ์และมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์ที่เป็นเหยื่อ ดังจะเห็นได้ว่าเสือโคร่งอยู่บนที่สุดของปิรามิดอาหาร ดังนั้นเมื่อสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งและสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง เสือโคร่งจึงได้รับผลต่อการเปลี่ยนแปลงโดยตรง ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าประชากรและพื้นที่การกระจายพันธุ์ของเสือโคร่งอินโดจีน (Panthera tigris corbetti) ในประเทศไทยลดลงอย่างน่าเป็นห่วง เนื่องจากสัตว์ที่เป็นเหยื่อหลักของเสือโคร่ง ได้แก่ วัวแดง กระทิง กวางป่า ถูกล่าเป็นจำนวนมาก อีกทั้งพื้นที่อาศัยที่เป็นที่ราบใกล้แหล่งน้ำถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และยังมีการล่าเสือโคร่งเพื่อเอาหนังและกระดูก ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการลดลงของเสือโคร่ง ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับเสือโคร่งในประเทศไทยมียังมีอยู่น้อยมาก ซึ่งแนวทางในการจัดการเพื่อฟื้นฟูประชากรของเสือโคร่งในธรรมชาติ จำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับประชากรเสือโคร่งที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการจัดการที่ถูกต้อง

ในอดีตเสือโคร่ง (Panthera tigris) มีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางในทวีปเอเชีย ตั้งแต่ไซบีเรีย เอเชียตะวันตก คาบสมุทรอินเดีย คาบสมุทรเกาหลี จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกใต้ ชวา สุมาตราและบาหลี โดยแบ่งออกเป็น 8 สายพันธุ์ย่อย ดังนี้
1. เสือโคร่งเบงกอล (P.t.tigris) พบกระจายตามคาบสมุทรอินเดีย ได้แก่ อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ จีน และบางส่วนของเมียร์ม่า
2. เสือโคร่งไซบีเรีย (P.t. altiaica) พบในรัสเซีย จีน และเกาหลีเหนือ
3. เสือโคร่งแคสเปียน (P.t.virgat) พบในตุรกี และประเทศในแถบเอเชียตะวันตก
4. เสือโคร่งจีนตอนใต้ (P.t.amoyensis) พบในจีนตอนใต้
5. เสือโคร่งสุมาตรา (P.t.sumatrae) พบบนเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย
6. เสือโคร่งชวา (P.t. sondaica) พบบนเกาะชวา
7. เสือโคร่งบาหลี (P.t.balica) พบบนเกาะบาหลี อินโดนีเซีย
8. เสือโคร่งอินโดจีน (P.t.corbetti) พบในประเทศไทย ลาว เขมร เมียนม่า เวียดนาม ยูนาน
ปัจจุบันเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์และปรากฏว่าเสือโคร่งจำนวน 3 ชนิดสายพันธุ์ย่อย ได้แก่ เสือโคร่งแคสเปียน เสือโคร่งชวา และเสือโคร่งบาหลี เป็นชนิดย่อยที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

ลักษณะโดยทั่วไป

เสือโคร่งอินโดจีนจัดเป็นสัตว์กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดพบในเมืองไทย โดยพบว่าเสือเพศผู้มีน้ำหนักอยู่ในช่วง 150-195 กิโลกรัม ความยาวจากปลายจมูกถึงปลายหาง 255-285 เซนติเมตร ขณะที่เสือโคร่งเพศเมียมีน้ำหนัก 100-130 กิโลกรัม ความยาวจากปลายจมูกถึงปลายหาง 230-255 เซนติเมตร เสือโคร่งมีสีตามลำตัวพื้นสีเหลืองอ่อนเหลืองเข้มถึงน้ำตาลแดง ตามลำตัวและใบหน้าจะมีลวดลายที่เป็นแถบสีดำแบบต่างๆ โดยที่ตามลำตัวจะมีแถบสีดำขวางลำตัว บริเวณใต้ตัวและลำคอมีสีขาวเหลือง ใบหูทั้งสองข้างจะมีจุดสีขาวขนาดใหญ่ เสือโคร่งมีกรงเล็บที่แข็งแรงสามารถยืดหดกรงเล็บได้ตามต้องการ มีประโยชน์ต่อการล่า โดยช่วยยึดเกาะกับพื้นดินทำให้วิ่งได้เร็วขึ้นและการทรงตัวดี ช่วยในการตะปบเหยื่อ ในขณะที่เหยื่อขนาดใหญ่ เช่น กระทิง วัวแดง เสือโคร่งจะใช้กรงเล็บตะปบบริเวณสะโพก ทำให้เหยื่อเคลื่อนที่ได้ช้าลง ขณะเดียวกันเสือก็ติดไปกับเหยื่อด้วย หลังจากนั้นจะใช้กรงเล็บค่อยขยับมาที่บริเวณด้านหลัง แล้วกัดบริเวณคอและคอหอย
เสือเป็นสัตว์ที่มีหน้าสั้นเมื่อเทียบกับสัตว์กินเนื้อชนิดอื่นๆ เนื่องจากจำนวนฟันได้ลดลง มีผลทำให้แรงกดที่เขี้ยวมากขึ้นรวมทั้งกรามได้พัฒนาให้แข็งแรง มีผลทำให้เสือโคร่งกัดได้อย่างหนักหน่วงรุนแรง โครงสร้างของฟันเสือโคร่งถูกพัฒนาให้เหมาะสมกับชนิดอาหารที่กิน โดยเน้นเกี่ยวกับการจับและตัดชิ้นเนื้อมากกว่าการบดและเคี้ยว โดยปกติแล้วเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่หากินอย่างโดดเดี่ยว ยกเว้นในช่วงผสมพันธุ์และเสือตัวเมียที่หากินอยู่กับลูก แต่บางครั้งก็พบว่าเสือโคร่งเพศผู้เข้ามาร่วมกินอาหาร และเข้ามาพักกับเสือโคร่งเพศเมียและลูก อย่างไรก็ตามเสือโคร่งเพศผู้มักจะฆ่าลูกของเสือโคร่งตัวอื่นที่ไม่ใช่ลูกของตัวเอง เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ชอบน้ำซึ่งแตกต่างจากสัตว์ในกลุ่มเสือด้วยกัน และสามารถว่ายน้ำได้ในระยะทางไกลๆ

ชีววิทยาของเสือโคร่ง

เสือโคร่งสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี มีการศึกษาในประเทศเนปาลที่อุทยานแห่งชาติจิตวัน พบว่าสามารถพบลูกเสือโคร่งได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงพฤษภาคมถึงมิถุนายนจะพบลูกเสือโคร่งมากที่สุด เสือโคร่งมีค่าเฉลี่ยในการเป็นสัด 7 วัน และมีการเป็นสัดซ้ำทุกๆ 15-20 วัน ส่วนกรณีที่แม่เสือโคร่งสูญเสียลูกไปมักจะเป็นสัดอีกครั้งในระยะเวลาอันสั้น แม่เสือโคร่งตั้งท้องนานประมาณ 103 วัน ที่ประเทศเนปาลพบว่าเสือโคร่งออกลูกแต่ละครั้งอยู่ในช่วง 2-5 ตัว แต่เสือโคร่งส่วนใหญ่ออกลูกอยู่ในช่วง 2-3 ตัว ลูกเสือมักหากินอิสระจากแม่เมื่ออายุ 18-28 เดือน อัตราการตายของลูกพบว่าในปีแรกเกิดมีอัตราการตายสูงที่สุดถึงร้อยละ 34 ในปีที่สองมีอัตราการตายร้อยละ 17 ในสภาพธรรมชาติพบว่าเสือเพศเมียผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่ออายุ 3.4 ปี แต่เสือเพศผู้ผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่ออายุ 4.8 ปี ระยะห่างระหว่างลูกคอกแรกกับลูกคอกสองห่างกัน 20-24 เดือน

ถิ่นที่อยู่อาศัยและการกระจายพันธุ์

เสือโคร่งอาศัยอยู่ในถิ่นที่อยู่อาศัยหลายรูปแบบ ตั้งแต่ป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ ป่าสน ป่าชายเลน และป่าหญ้า อย่างไรก็ตามถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับเสือโคร่ง ประกอบด้วยสิ่งปกคลุมที่เป็นพืชพรรณและ เหยื่อที่เป็นสัตว์กีบขนาดใหญ่ และแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ได้
เสือโคร่งชอบออกล่าเหยื่อในช่วงรุ่งสางและพลบค่ำ แต่ในพื้นที่ที่มีความปลอดภัยเสือโคร่งจะออกล่าในช่วงกลางวัน สัตว์ในกลุ่มกวางและหมูป่าเป็นอาหารที่เสือโคร่งกินเป็นมาก แต่จากการศึกษาของ Karanth ในอุทยานแห่งชาติ Nagarahole ที่ประเทศอินเดีย พบว่า อาหารหลักของเสือโคร่งได้แก่ กระทิง บางครั้งพบว่าเสือโคร่งล่ากระทิงโตเต็มวัยเพศผู้หนักกว่า 1,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังพบเห็นเสือโคร่งโจมตีลูกช้างและลูกแรดอีกด้วย ที่ประเทศเนปาลเสือโคร่งล่าพวกกวางเป็นอาหารในสัดส่วนที่สูงกว่าสัตว์กีบอื่นๆ (Seidensticker and McDougal, 1993) ส่วนที่ประเทศไทย จากการศึกษาชนิดอาหารของเสือโคร่ง ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งพบว่าสัตว์กีบ ได้แก่ วัวแดง กวางป่า เก้ง กระทิง และหมูป่าเป็นอาหารหลักของเสือโคร่ง โดยจะกินเหยื่อที่มีอายุในช่วงโตเต็มวัยมากกว่า (อัจฉรา, 2543) ซึ่งชนิดอาหารที่ซ้อนทับกับเสือดาวนั้น เสือดาวจะเลือกกินเหยื่อที่อยู่ในช่วงก่อนโตเต็มวัยมากกว่า (ศักดิ์สิทธิ์และอัจฉรา, 2546)
โดยปกติแล้วเสือโคร่งมักจะสุ่มล่าเหยื่อขนาดใหญ่ เสือโคร่งโตเต็มวัยที่มีประสบการณ์มักจะมีความระมัดระวังในการล่า และโจมตีเหยื่อตัวที่คิดว่าการล่ามีผลทำให้รับบาดเจ็บน้อยที่สุด(Schaller, 1976) ในการจับเหยื่อมักพบว่าเสือโคร่งมักจะจับและกัดที่บริเวณต้นคอ ปาก และคอหอย โดยขั้นตอนหลังจากเหยื่อล้มลง เสือโคร่งจะกัดบริเวณคอหอยแล้วงับเหยื่อจนกระทั่งเหยื่อขาดใจตาย การกัดบริเวณลำคอจะช่วยให้เสือปลอดภัยจากการเขาและตีนของเหยื่อ Karanth (1995) กล่าวว่า เสือโคร่งชอบกัดที่บริเวณต้นคอ โดยเฉพาะบริเวณกระดูกคอที่ต่อกับกะโหลกทำให้กระดูกแตกร้าว และเส้นประสาทฉีกขาด อย่างไรก็ตาม แต่พวกสัตว์ขนาดใหญ่เช่น กระทิง กวาง จำนวน 181 ตัวอย่างพบว่าเสือโคร่งกัดบริเวณลำคอ และมักจะลากเหยื่อที่ฆ่าเพื่อหาสิ่งปกคลุม ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเสือโคร่งกินสัตว์กีบมากที่สุด ประกอบด้วย วัวแดง กวางป่า เก้ง กระทิงและหมูป่าตามลำดับ (อัจฉรา,2543) จากการศึกษาของศักดิ์สิทธิ์และอัจฉรา (2546) พบว่าสัตว์กีบเป็นอาหารหลักทั้งเสือโคร่ง และเสือดาว ในเหยื่อชนิดเดียวกัน เสือโคร่งมักกินเหยื่อที่มีอายุอยู่ในช่วงโตเต็มวัยซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า ขณะที่เสือดาวกินเหยื่อที่ตัวเล็กกว่าที่มีอายุในช่วงวัยเด็กหรือก่อนโตเต็มวัย
เสือโคร่งกินเหยื่อแต่ละครั้งประมาณ 18-40 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นจากบริเวณสะโพก และถ้าไม่มีอะไรมารบกวนจะใช้เวลา 3-6 วัน กินเหยื่อจนหมด Sunquist (1981) ประเมินว่าเสือโคร่งเพศเมียที่ไม่มีลูกจะออกล่าเหยื่อทุก 8-8.5 วัน ที่อุทยานแห่งชาติจิตวันประเทศอินเดีย ถึงแม้ว่าเสือโคร่งที่มีความเชี่ยวชาญในการล่าจะพบว่าบ่อยครั้งที่ไม่สามารถล่าได้ จากการศึกษาของ Schaller (1967) พบว่าจากการเฝ้าสังเกตในธรรมชาติ 12 ครั้ง เสือโคร่งประสบผลสำเร็จเพียง 1 ครั้ง เท่านั้น เขาจึงเสนอว่ามีความเป็นไปได้ว่าเสือโคร่งจะประสบผลสำเร็จในการล่า 1 ครั้ง จะต้องออกล่าเหยื่อถึง 20 ครั้ง การร่วมมือในการล่าจะไม่ปรากฏเด่นชัดน่าจะเป็นเสือที่มีความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น เป็นแม่ เป็นพี่น้องครอกเดียวกัน เสือกินคนเกิดจากความไร้สามารถที่จะล่าเหยื่อปกติได้ มักเกิดขึ้นกับเสือที่แก่หรือบาดเจ็บ โอกาสในการเผชิญหน้าการล่าของเสือโคร่ง ที่เป็นการป้องกันตัวและการกินชิ้นส่วนของมนุษย์ นับเป็นตัวชักนำไปสู่การล่ามนุษย์เป็นเหยื่อซึ่งเป็นเรื่องง่าย

ประชากรเสือโคร่ง

เสือโคร่งเป็นกลุ่มสัตว์ที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ถึงแม้ว่าปัจจุบันการศึกษากระจายพันธุ์เสือโคร่งในภูมิภาคต่างๆ ในทวีปเอเชียและมีการจัดทำแผนที่ที่ถูกต้องและมีการแก้ไขปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ขณะที่การศึกษาเรื่องประชากรให้เป็นที่น่าเชื่อถือกลับเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่เร้นลับ หากินอย่างโดดเดี่ยวในตอนกลางคืน อีกทั้งสีสันและลวดลายกลมกลืนกับธรรมชาติ จึงยากมากที่จะเห็นตัว พบเพียงร่อยรอยและการทำเครื่องหมายตามถนน ตามเส้นทางด่าน และบริเวณซากเหยื่อที่เสือฆ่า ในประเทศอินเดีย บังคลาเทศ มีการประเมินประชากรเสือโคร่งโดยการวัดขนาด ลักษณะและนับรอยตีนเสือโคร่งเช่นเดียวกับในประเทศไทย Rabinowizt(1989) ประเมินว่าความหนาแน่นเสือโคร่งในประเทศไทย คือ 1 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร โดยการวัดขนาดรอยตีน อย่างไรก็ตาม Dr.Ullus Karanth และ James Nichols แนะนำว่าการประเมินประชากรเสือโคร่งด้วยวิธีการวัดขนาด ลักษณะและนับรอยตีนเสือโคร่ง ยังไม่น่าเชื่อถือ เช่นเดียวกับ Dr.Dave Smith ไม่เห็นด้วยกับการประเมินประชากรเสือโคร่งด้วยวิธีการนับรอยตีนเช่นกัน แต่หลังจากมีการนำกล้องถ่ายภาพอัตโนมัติมาใช้ในการสำรวจ และศึกษาสัตว์ป่า รวมถึงการศึกษาเสือโคร่งเพื่อใช้ประเมินประชากรซึ่งผลการศึกษาเป็นที่น่าพอใจ ปี 1995 ที่ประเทศอินเดีย ในอุทยานแห่งชาติ นาการาโฮ ได้นำภาพถ่ายเสือโคร่งจาก กล้องถ่ายภาพอัตโนมัติ เพื่อเป็นข้อมูล และใช้โปรแกรม Capture-Recapture สำหรับการประเมินประชากรเสือโคร่ง (Karanth, 1995) หลังจากนั้นมีการนำกล้องถ่ายภาพอัตโนมัติ มาใช้ประเมินประชากรเสือโคร่งในภูมิภาคอื่นๆ (Karanth and Nichols1998 ; O’Brien et al. ,2003 ; Kawanishi and sunquist, 2004) และเสือจาร์กัว(Wallace et al 2004) ที่ประเทศไทยก็มีการนำกล้องถ่ายภาพอัตโนมัติมาใช้ในศึกษา เช่นการศึกษาการใช้ประโยชน์พื้นที่และเหยื่อของเสือโคร่ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก (ปรีชา, 2546) เนื่องจากสัตว์ต่างๆ เหล่านี้มีลวดลายเฉพาะตัวซึ่งเหมือนกับการทำเครื่องหมายโดยธรรมชาติ เช่นเดียวกับต้องการศึกษาประชากรด้วยวิธีการจับซ้ำ(Capture-Recapture method) โดย ทำเครื่องหมายกับสัตว์ที่จับได้ และปล่อยสัตว์ที่ทำเครื่องหมายเพื่อจับซ้ำอีกครั้ง ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมใช้สำหรับประเมินประชากรสัตว์ ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติและยากที่จะนับตัวโดยตรง
ประเทศไทยมีการประเมินประชากรเสือโคร่ง ปี 2536 โดย Dr.Alan Rabinowitz ทำการสำรวจพื้นที่อนุรักษ์ 38 แห่ง ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 25 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 13 แห่ง ปรากฏว่าพบเสือโคร่งเพียงร้อยละ 58 ของพื้นที่สำรวจเท่านั้น จากการประเมินความหนาแน่นเสือโคร่ง 1 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ดังนั้นจึงประเมินประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยว่าควรจะมีปริมาณ 250 ตัว (Rabinowtz,1993) ขณะที่ Tunhikorn (1995) กล่าวว่าเสือโคร่งกระจายอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ 42 แห่ง และมีการประเมินความหนาแน่น 1 ตัวต่อ 74 – 100 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจการกระจายพันธุ์ของเสือโคร่งอีกครั้งในพื้นที่อนุรักษ์ 155 แห่งพบว่า 93 พื้นที่ไม่พบเสือโคร่ง 52 แห่งปรากฏร่องรอยของเสือโคร่ง 6 แห่ง ไม่ทราบสถานภาพ จากพื้นที่พบร่องรอยของเสือโคร่งพบเพียง 7 พื้นที่เท่านั้นที่เสือโคร่งมากกว่าพื้นที่อื่น ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกและตะวันออก อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติบางลาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา – บาลา (Tunhikorn, 2004)