ผู้พิทักษ์ป่า…ผู้ปิดทองหลังพระ

สำนักข่าวอิศรา เขียนวันที่ วันอาทิตย์ ที่ 23 กรกฎาคม 2560 เวลา 18:23 น.เขียนโดยสุจิตรา ไล้ทองคำ

“ผมอยากให้มีองค์กรใหญ่ๆ เล็งเห็นถึงความสำคัญของอนุรักษ์ป่า เนื่องจากกำลังคน 2 หมื่นกว่าคนไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษากว่า 73 ล้านไร่ หรือตีคร่าวๆ เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า 1 คน ต้องดูแลพื้นที่ป่าเกือบ 5,000 ไร่ นับว่าควรจะมีองค์กรมาสนับสนุน “ผู้พิทักษ์ป่า” ให้มากกว่านี้ เพื่อให้เขารู้สึกว่ามีคนเห็นสิ่งที่พวกเขาทำ” 

scg2371

“ในสายตาของคนอื่นพ่ออาจจะเป็นแค่ผู้พิทักษ์ป่า แต่ในสายตาของหนูพ่อคือฮีโร่ที่คอยปกป้องพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศไทย แม้บางครั้งพ่อจะไม่ได้ไปประชุมผู้ปกครองทุกครั้ง ไม่ได้ไปส่งหนูไปโรงเรียนทุกวัน…แต่หนูก็รักพ่อ”

หนึ่งเสียงแทนความในใจจาก “น้องดอย” นางสาวชุติมณฑน์ ถาปนา 1 ใน ตัวแทนบุตรสาวผู้พิทักษ์ป่า ที่ขึ้นมาอ่านจดหมายบนเวทีที่เขียนถึงพ่อ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2560 ณ ห้อง Grand Hall ชั้น 10 อเนกประสงค์ มูลนิธิเอสซีจี ซึ่งเอสซีจีจัดงานมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรผู้พิทักษ์ป่า กว่า 150 ครอบครัว  ส่วนหนึ่งในโครงการ “SCG Sharing The Dream   ตอบแทนความเสียสละปกป้องพื้นที่สีเขียวและสัตว์ป่าทั่วประเทศไทย

ผู้พิทักษ์ป่า นอกจากภาระหน้าที่ในการลาดตะเวนเข้าไปในป่าลึก ใช้เวลาร่วมเดือน หรือนานกว่า 3 เดือนเพื่อแกะรอยตามกระบวนการลอบลักตัดป่าไม้ส่งออกนอกประเทศแล้ว พวกเขาเหล่านี้ยังช่วยปกป้องสัตว์ป่าให้พ้นเงื้อมมือของกลุ่มบุคคลลักลอบค้าเนื้อและอวัยวะสัตว์ป่าด้วย บางครั้งเสร็จจากการปฏิบัติหน้าที่แม้จะมีโอกาสกลับบ้านเพื่อไปหาครอบครัว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความอันตราย บางคนกลับบ้านมาด้วยสภาพร่างกายที่บาดเจ็บ หรือผ่านช่วงชีวิตที่เสี่ยงต่อการปะทะและถูกกดดันจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล 

นี่คือสิ่งที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้รู้ แต่เหล่า “ผู้พิทักษ์ป่า” รู้ดี และพร้อมปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถเนื่องจากได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไว้ว่าจะปกป้องและรักษาผืนป่าเท่าชีวิต

ขณะที่ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ปัจจุบัน แบ่งเป็น 

– ข้าราชการและลูกจ้างประจำ เช่น หัวหน้าอุทยาน ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยาน นักวิชาการ  ส่วนลูกจ้างประจำ จะอยู่ในตำแหน่งของหัวหน้าหน่วย หัวหน้าชุดลาดตะเวณ หรือนักวิชาการ ได้รับเงินเดือนประจำ และสวัสดิการเหมือนข้าราชการ แต่ไม่มีซี (Common Level)

–  พนักงานราชการ เป็นตำแหน่งที่ปรับมาจากตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว พนักงานจ้างเหมา (TOR) รายวัน รายเดือน และการจ้างค่าตอบแทนภายนอก พนักงานราชการได้รับเงินเดือนประจำ 11,280 – 24,930 บาท กับสิทธิประกันสังคมเมื่อเกิดอันตราย โดยมีการต่อสัญญาจ้างทุก 4 ปี หากผลงานดีสามารถปรับขึ้นเงินเดือนได้จนถึง 24,930 บาท สำหรับวันหยุด วันลากำหนดให้ทำงาน 24 วัน ลาหยุดได้ 6 วันต่อเดือน หากมีการลาหยุดเกินกำหนดไม่มีการหักเงินเดือน แต่จะถูกสอบสวน หากผิดระเบียบสามารถพิจารณาเลิกจ้างได้

–  และพนักงานจ้างเหมาบริการ การจ้างค่าตอบแทนบุคคลภายนอก เช่น งานอนุรักษ์ป้องกันรักษาป่า งานควบคุมไฟป่า งานตรวจปราบปรามการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ เป็นตำแหน่งที่ปรับมาจากตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ได้ค่าตอบแทนเป็นรายวัน ปัจจุบันอยู่ที่ 7,000 – 9,000 บาทต่อเดือน ไม่มีสวัสดิการ ใช้สิทธิบัตรทอง มีการต่อสัญญาจ้างทุกปี  โดยงานอนุรักษ์ป้องกันรักษาป่า กำหนดการทำงาน 25 วัน ลาหยุดได้ 5 วันต่อเดือน หยุดเกินกำหนดหักเงินเป็นรายวัน หรือวันละ 300 บาท 

หนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ ที่เล็งเห็นภาระตรงจุดนี้ โดยได้เข้ามาแบ่งเบาภาระหน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่า นั่นก็คือ มูลนิธิเอสซีจี กับโครงการมอบทุนการศึกษาแก่บุตร “ผู้พิทักษ์ป่า” ติดต่อมาเป็นปีที่ 3  แล้ว

scg23712

“ขจรเดช แสงสุพรรณ” กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี ระบุว่า การให้ทุนการศึกษาเด็ก เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเยาวชนของมูลนิธิเอสซีจี อยากเห็นเด็กมีโอกาสได้เรียนหนังสือโดยปราศจากอุปสรรคเรื่องฐานะและความเป็นอยู่ทางสังคม จึงพยายามผลักดันและส่งเสริมกลุ่มบุคคลที่เสียสละเพื่อประเทศชาติเป็นอันดับแรกๆ ด้วยมองว่า กลุ่ม “ผู้พิทักษ์ป่า” เป็นกลุ่มที่มีรายได้จากภาครัฐไม่มากนัก เมื่อเทียบกับภารกิจที่ปฏิบัติอยู่  

“มูลนิธิเอสซีจีจึงต้องยื่นมือไปช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่โดยการส่งเสียบุตรหลานจนจบปริญญาตรี เพื่อไม่ให้ “กลุ่มผู้พิทักษ์ป่า” อยู่ในภาวะ “ห่วงหน้า พะวงหลัง”

ในปี 2560 มูลนิธิเอสซีจี ได้มอบทุนฯ เพิ่มอีก 150 ทุน พร้อมกับหวังว่ามูลนิธิจะเป็นโครงการนำร่องให้องค์กรใหญ่ต่างๆ ตระหนักถึงความความสำคัญของกลุ่มผู้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศ

“นี่คือเครื่องยืนยันว่า ท่านไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเดียวดาย ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ให้ความสำคัญ ขอให้พวกท่านปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อลูกและต่อประเทศไทยต่อไป”

 “ธัญญา เนติธรรมกุล”  อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับปากกับ “ผู้พิทักษ์ป่า” ถึงการดำเนินงานในอนาคตว่า จะพยายามอำนวยความสะดวกและปรึกษาทุกภาคส่วนเกี่ยวกับการปรับพนักงานราชการให้บรรจุเป็นข้าราชการเพื่อให้มีสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  

ด้าน “ศศิน เฉลิมลาภ” ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุถึงสถานการณ์ปัจจุบันของผืนป่าในประเทศไทยว่า ดีขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อน เนื่องจากประเทศไทยตั้งเป้าหมายจะมีผืนป่าทั่วประเทศไทย 40 เปอร์เซ็นต์เพื่อให้สภาพอากาศเข้าสู่ภาวะปกติ โดย 25 เปอร์เซ็นต์เป็นป่าที่รักษาไว้เพื่อการอนุรักษ์  

“ผมอยากให้มีองค์กรใหญ่ๆ เล็งเห็นถึงความสำคัญของอนุรักษ์ป่า เนื่องจากกำลังคน 2 หมื่นกว่าคนไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษากว่า 73 ล้านไร่ หรือตีคร่าวๆ เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า 1 คน ต้องดูแลพื้นที่ป่าเกือบ 5,000 ไร่ นับว่าควรจะมีองค์กรมาสนับสนุน “ผู้พิทักษ์ป่า” ให้มากกว่านี้ เพื่อให้เขารู้สึกว่ามีคนเห็นสิ่งที่พวกเขาทำ”  ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุ และเห็นว่า นี่คือความเสียสละบนความความสมัครใจ เราจึงต้องเรียกบุคคลพวกนี้ว่าเป็น ผู้ปิดทองหลังพระ

อีกหนึ่งตัวแทนในฐานะสื่อทางสังคม “สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ” ผู้บริหารบริษัททีวีบูรพา พิธีกรชื่อดังในรายการ  คนค้นคน  เป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่อยากให้ทุกคนหันมาสนใจกับทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า พร้อมกับเห็นว่า หากไม่มีการสนับสนุนจากองค์กรใหญ่ๆ คงเป็นเรื่องที่บกพร่องมาก ถ้าผู้คนหันไปให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทันสมัยจนลืมไปว่ามีสมบัติที่งดงามทางธรรมชาติอยู่ในมือ

“ภิรมย์ พวงสุมาลย์” หนึ่งในตัวแทนเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า กล่าวขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่มอบโอกาสให้ลูกได้เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี ซึ่งจะนำรางวัลเป็นอีกหนึ่งกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ แม้ภารกิจที่ทำอยู่จะมีความเสี่ยงแต่ไม่เคยคิดจะท้อถอย  งานลาดตะเวนเป็นงานที่หนักและเหนื่อย ใช้เวลาในการออกลาดตะเวน 5 – 6 วัน มีเพียงมาม่า ปลากระป๋อง เป็นอาหารหลัก ส่วนผักหาได้ตามป่า หากเสบียงหมดต้องเจาะหาน้ำจากกระบอกไม้ไผ่กิน แต่ที่ทำทั้งหมดนี้เพียงเพราะอยากทำให้ผืนป่าในประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ยั่งยืนสืบไปจนชั่วลูกชั่วหลาน

ทั้งนี้ ภายในงาน   “มอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรผู้พิทักษ์ป่า”  ยังมีกิจกรรมให้บรรดาบุตรของ “ผู้พิทักษ์ป่า” มอบพวงมาลัยแสดงความความกตัญญูและภาคภูมิใจต่อพ่อผู้พิทักษ์ป่า พร้อมอ่านการ์ดที่เขียนแทนความในใจให้ฮีโร่  “พ่อ” ผู้พิทักษ์ป่า ถือเป็นการปลูกฝังให้เด็กหวงแหนที่จะรักษาป่าไม้เพื่อตอบแทนประเทศได้อีกทางหนึ่ง