ตชด.กับภารกิจพิทักษ์ป่าฮาลา-บาลา

ตชด.กับภารกิจพิทักษ์ป่าฮาลา-บาลา

ตชด.กับภารกิจพิทักษ์ป่าฮาลา-บาลา

ขอขอบคุณเรื่อง http://manager.co.th

หมอกยามเช้าโรยตัวไปทั่วสันกาลาคีรี ต้นน้ำสองสายเล็กๆ จากหุบเขาไหลรวมเป็นคลองฮาลา ก่อนลัดเลาะเลื้อยไปตามร่องเขาไปสุดที่คอนกรีตกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ของเขื่อน บางลางแล้วแยกเป็นแม่น้ำปัตตานี สายบุรี และสุไหงโก-ลก แม่น้ำสามสายนี้ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของชาวสามจังหวัดชายแดนใต้
       
       เสียงส่ำสัตว์ของป่าดิบชื้นร้องโหยหวนชวนวิเวกวังเวงใจแก่ผู้มาเยือน ยิ่งนัก แม้เสียงนกป่าและไก่ป่าจะเจื้อยแจ้วแทรกขึ้นมาบ้างบางครั้ง เมื่อมารวมกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่แล้วป่าผืนนี้ก็น่ากลัวสำหรับคน แปลกหน้าอยู่ดี
       
       แต่เสียงน่ากลัวดังกล่าวเปรียบเหมือนมโหรีที่คุ้นชินสำหรับ เจ้าหน้าที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 ค่ายพญาลิไท โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ชุดพิทักษ์ป่าพระนามาภิไธย 2 ใน อ.เบตง จ.ยะลา
       
       เรือท้องแบนของตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 44 พร้อมอาวุธทันสมัยครบมือพาบรรดาผู้สื่อข่าว จากกรุงเทพมหานครกว่า 30 ชีวิตตามโครงการ “สื่อมวลชนเบิกฟ้า ยะลาใต้สุดแดนสยาม” ของ นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ชมความสวยงามของเขื่อนบางลาง และสวนป่าพระนามาภิไธยส่วนที่ ๒ หรือ ฮาลา-บาลา เพื่อปลุกกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสร้างความเชื่อมั่นในด้านความ ปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว
       
       เรือขนาด 6 ที่นั่งลัดเลาะไปตามเขื่อนบางลาง เพื่อเยี่ยมชมผืนป่าฮาลาที่สมบูรณ์ สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เขียวขจี ริมตลิ่งมีวิถีชีวิตชาวแพในเขื่อนให้เห็นประปราย ส่วนท้องน้ำก็ระเกะระกะไปด้วยตอไม้ยืนต้นตาย หากคนขับไม่มีความชำนาญเส้นทางก็อาจจะชนตอเอาได้ จุดหมายของเราคือฐานฮาลา 2 หรือ “ฐานนางนวล” ของกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 อ.เบตง จ.ยะลา ด่านสกัดมอดไม้และผู้ลักลอบล่าสัตว์ป่า ที่เรียกว่าฐานนางนวลนั้นมาจากการที่ตำรวจ ตชด.ยุคแรกๆ ที่เข้ามาตั้งฐานเข้าใจผิดเห็นฝูงเหยี่ยวสีขาวว่าเป็นนกนางนวล
       
       ฐานนางนวลสร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย ที่นอน ห้องครัว ก่อเสาด้วยไม้เล็กๆ กั้นฝาและมุงหลังคาด้วยสังกะสี ส่วนรอบๆฐานเต็มไปด้วยพืชผักสวนครัว เช่น ตะไคร้ มะกรูด ข่า พริกขี้หนู มะละกอ นอกจากนี้ยังเลี้ยงเป็ดเทศ ไก่ เพื่อเอาไข่มาทำอาหาร เมื่อผู้มาเยือนลองเปิดฝาชีในโรงครัวดูพบแต่เมนูปลา ทั้งแกงส้ม ต้มยำ และทอด
       
       “ป่าฮาลา-บาลา เป็นป่าที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ครอบคลุมอำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และ อำเภอศรีสาคร อำเภอสุคีริน อำเภอ จะแนะ และ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส มีเนื้อที่ทั้งหมด 836,000 ไร่ เป็นเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าประมาณ 687,500 ไร่ ป่าที่นี่อุดมสมบูรณ์ติดอันดับต้นๆของเมืองไทย มีทั้งหลุมพอ ไม้ยาง ตะเคียน กาลอ กุหลิม ทัง เสียดช่อ สยาแดง สยาขาว จำปาป่า ตาเสือ ขนุนปาน นาคบุตร ไม้หอมกฤษณา บัวผุด ต้นสนและปาล์มหายาก ส่วนสัตว์ก็มีทั้งกระซู่ กระทิง เสือโคร่ง สมเสร็จ นกเงือก นกกาฮัง ช้างป่า ทั้งยังเป็นศูนย์กลางของการกระจายพันธุ์ของหวายในทวีปเอเชีย และเป็นที่อยู่อาศัยของเผ่าซาไก อีกด้วย” พ.ต.ท.กษิดิ์เดช พิกุลทอง รอง ผบ.ฉก.ตชด.44 ที่คอยอารักขาผู้สื่อข่าวเริ่มประโยคแรกด้วยเสียงสดชื่น
       
       พ.ต.ท.กษิดิ์เดช ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ป่าฮาลา-บาลามากว่าสิบปี เล่าถึงที่มาของภารกิจพิทักษ์ป่าฮาลา-บาลาของตำรวจตระเวนชายแดนว่า ครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้แปรพระราชฐานมาประทับ ณ ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ทรงมีรับสั่งเกี่ยวกับพื้นที่ป่าฮาลา-บาลา ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า และต้นน้ำลำธารว่าควรที่จะอนุรักษ์ไว้ และทรงรับสั่งให้หน่วยเสริมกำลังพิเศษ เข้าสำรวจพื้นที่ในเดือนกันยายน 2533 ต่อมาจึงได้มีการดำเนินการตั้ง โครงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ สวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้พื้นที่ส่วนที่ 2 ขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2535
       
       พ.ต.ท.กษิดิ์เดช พิกุลทอง เล่าต่อว่า จากการลาดตระเวนทางภูมิอากาศพบว่าพื้นที่ป่าฮาลา-บาลายังอุดมสมบูรณ์ แต่บริเวณโดยรอบพบว่ามีการบุกรุกโดยทั่วไป ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนี้ป่าไม้ผืนสำคัญซึ่งถือเป็นป่าพรหมจรรย์ของภาคใต้จะ ถูกทำลาย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและความรับผิดชอบต่อภารกิจของตำรวจตระเวนชายแดน เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2535 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 โดยกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 ได้จัดชุดปฏิบัติการขนาดเล็ก ซึ่งมีภารกิจลาดตระเวน เฝ้าตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ปฏิบัติการในลักษณะจรยุทธ์ การเคลื่อนย้ายกำลังพลเข้าที่หมายช่วงแรกๆจะใช้เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งช่วงแรกค่อนข้างลำบาก ทั้งการสื่อสาร การส่งกำลังบำรุงและสภาพอากาศ จึงได้จัดสร้างฐานปฏิบัติการกลางป่าเพื่อเป็นที่บังคับการ และสร้างสนาม ฮ. เพื่อสะดวกในการขนส่งบำรุง
       
       ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2539 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมกำลังพลพิทักษ์ป่าฮาลา ณ ฐานปฏิบัติการ ทรงรับทราบปัญหา ข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน จึงได้พระราชทานเงินในการจัดสร้างเรือไว้ลาดตระเวนและส่งกำลังบำรุง และเมื่อทราบความถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับด้านการสื่อสาร จึงได้พระราชทานเครื่องมือสื่อสารให้อีกด้วย สร้างความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณแก่ข้าราชการ ตำรวจ ตชด.เป็นล้นพ้น
       
       ภารกิจหลักของตำรวจตระเวนชายแดนเมื่อก่อนคือลาดตระเวนเทือกเขาสันกา ลาคีรี ปกป้องรั้วประเทศ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เต็มไปด้วยฐานของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) กระทั่งพวกเขากลับใจออกจากป่าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย แต่ภารกิจของตำรวจตระเวนชายแดนยังไม่จบเพียงเท่านั้น ภารกิจรักษาผืนป่าฮาลา-บาลาอันอุดมสมบูรณ์ก็เริ่มขึ้น
       
       “เมื่อก่อนจะมีการเดินลาดตระเวนในป่า ทาง ตชด.จัดชุดตรวจการณ์ระยะไกลชุดละ 7-8 นาย จำนวนหลายชุด พอตอนหลังก็สร้างฐานขึ้น เป็นฐานสกัดผู้ลักลอบเข้าไปล่าสัตว์และตัดไม้ โดยเฉพาะไม้กฤษณา จับมาแล้วหลายสิบราย ซึ่งเราจะไม่เน้นจับกุมชาวบ้านที่มาหาของป่า เช่น สมุนไพร ผักป่า หน่อไม้ และเห็ดต่างๆ แต่เราจะบอกเขาให้งาคิดเขาว่า จะอยู่ร่วมกันกับป่าอย่างไร ไม่เบียดเบียนกัน แต่ถ้าพวกล่าสัตว์ ตัดไม้เราไม่ยอม จับดำเนินคดีหมด” พ.ต.ท.กษิดิ์เดชกล่าว
       
       ด้าน ร.ต.อ.สุเทพ ชูแก้ว ผบ.ร้อย ตชด.445 ซึ่งประจำการอยู่ที่ ฐานฮาลา 2 หรือนางนวล บอกว่า ตชด.ได้ถูกปลูกฝังค่านิยมมาช้านานจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ตนมาอยู่ใหม่ๆ หลายสิบปีมาแล้ว คือ ไม่หาของป่า ไม่ล่าสัตว์ อนุญาตให้ตกปลามาทำอาหารได้เพียงเท่านั้น
       
       นอกจากการลาดตระเวนตรวจตราป้องกันปราบปรามผู้บุกรุกป่าล่าสัตว์แล้ว ทางกองร้อย ตชด.445 ยังต้องทำงานด้านอนุรักษ์ควบคู่ไปอีกด้วย โดยจะทำหน้าที่ขุดหลุมทำโป่งเทียมให้สัตว์ และเป็นผู้คุ้มกันนักวิจัยเข้าไปสำรวจพืชพรรณและสัตว์ป่าในป่าฮาลา หากพบสัตว์แปลกๆก็จะถ่ายรูปหรือเก็บตัวอย่างมาให้นักวิจัยตรวจสอบด้วย ที่ผ่านมาพบปูสายพันธุ์ใหม่หลายชนิดในป่าแห่งนี้
       
       “เสียดายถ้าหากพวกคุณมีเวลามากกว่านี้ผมจะพาไปวังปลาช่อน ไปดูฝูงกระทิงมากินน้ำ อยู่ไม่ไกลเดินราวชั่วโมงก็ถึง” ร.ต.อ.สุเทพ ชูแก้ว กล่าวทิ้งท้าย
       
       นอกจากลาดตระเวนในป่าลึกแล้ว เส้นทางน้ำในเขื่อนบางลางยังถือเป็นเส้นทางสุมเสี่ยงที่กลุ่มมอดไม้และนาย พรานจะใช้เป็นเส้นทางเข้าไปกระทำความผิด ทาง ส.ต.อ.ประดับ ขวดน้ำแก้ว หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษลาซู หรือ Long Range Surveillance (LRSU) กก.ตชด.44 ค่ายพญาลิไท ซึ่งรับผิดชอบการลาดตระเวนในเขื่อนบางลาง เล่าว่า ทุกๆ เช้าเขาและลูกน้องรวม 7 นาย พร้อมเอ็ม 16 รุ่น 203 จะใช้เรือท้องแบนขับตรวจการณ์ดูแลความเรียบร้อยภายในเขื่อนตั้งแต่ท่าเรือ บ้านตาพะเยา ต.แม่หวาด อ.ธารโต ไปจนถึงฐานนางนวล ต้นน้ำฮาลา บางครั้งปรับกำลังตามระดับน้ำเพื่อลดความเสี่ยงจากตอไม้ และจากการถูกซุ่มโจมตี
       
       เขาเล่าด้วยว่าเคยปะทะกับกลุ่มคนร้าย แต่ทางหน่วยฝึกมาดี สู้ได้ทั้งในน้ำ บนน้ำ ในป่า ในเมืองและอากาศ ช่วงหลังพวกคนร้ายก็ไม่กล้ามายุ่งกับเรา
       
       “ภารกิจของเราเสี่ยงและมีความอันตรายมาก ไหนจะเสี่ยงกับการถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม ไหนจะต้องเสี่ยงกับตอไม้ใต้เขื่อน ที่ผ่านมาทั้งชาวบ้านและทหารเสียชีวิตมาแล้วหลายราย เพราะขับเรือไปชนตอไม้” ส.ต.อ.ประดับกล่าว
       
       “ผมอยู่มาหลายปี เพื่อนๆ ที่เคยทำงานคุ้มกันผู้ว่าฯ ขอย้ายกลับบ้านไปที่ที่ปลอดภัย ผู้ว่าฯ ท่านหนึ่งเคยถามผมว่าไม่คิดย้ายไปไหนหรือ ผมบอกท่านว่าผมเกิดที่ปัตตานี ตั้งรกรากที่ยะลา มีครอบครัวที่นี่และขอตายที่นี่” ส.ต.อ.ประดับตอบด้วยความมั่นใจหลังถูกถามว่ากลัวไหมและอยากย้ายไปออกนอก พื้นที่ไหม
       
       ด้าน พ.ต.อ.ณรงค์ ธนานันทกุล ผกก.ตชด.ที่ 44 กล่าวว่า นอกจากการป้องกันปราบปรามผู้บุกรุกป่าฮาลา-บาลาแล้ว ทางเรายังได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ เพื่อให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษา ประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่มาเยี่ยมชมป่าฮาลา โดยมีเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิทักษ์ป่าเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวชมและให้ ความรู้เกี่ยวกับผืนป่า และอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์แก่ ชาวบ้านที่อยู่รอบๆ ป่าฮาลา เพื่อร่วมกันพิทักษ์ผืนป่าผืนนี้ด้วย
       
       “ผมส่งกำลังตำรวจ ตชด.เข้าไปปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านรอบๆป่าฮาลา-บาลา ไปฝึกให้เขาดูแลป่า ช่วยเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ และส่งกำลังเจ้าหน้าที่ไปลาดตระเวนเฝ้าดูแลป่าทั้งทางเท้า ทางน้ำและอากาศ เพื่อป้องกันผู้บุกรุกป่าและล่าสัตว์ ส่วนงบประมาณจะมีหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับตำรวจ ตชด.บางครั้งเราซ่อมเรือเองบ้าง เราทำหน้าที่นี้โดยไม่เรียกร้องให้ใครเห็นอกเห็นใจ เรายอมเสียสละทุกๆอย่างแม้กระทั่งชีวิต เราจะทิ้งป่าผืนนี้ไปไม่ได้ เพราะเป็นป่าของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระองค์ท่านต้องการรักษาไว้ให้เป็นมรดกแด่อนุชนรุ่นสืบไป” พ.ต.อ.ณรงค์ ธนานันทกุล กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
       
       นี่คือภารกิจของตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 44 ที่ยอมเสียสละความสุขส่วนตัว ไกลห่างผู้เป็นที่รัก เอาชีวิตมาเสี่ยงในป่าดิบชื้นที่เต็มไปด้วยอันตรายทั้งจากสัตว์ร้ายและคน ร้าย แต่เนื่องด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและความรับผิดชอบต่อภารกิจอันใหญ่หลวง ที่จะช่วยพิทักษ์รักษาป่าผืนนี้ไว้สืบไป