เบื้องหลังงานอนุรักษ์สัตว์ป่าของสมหมาย ขันตรี

สมหมาย ขันตรี
หัวหน้าลาดตระเวนชุดที่ 2 อุทยานแห่งชาติคลองลาน

 

ขอขอบคุณภาพและเรื่อง จาก www.panda.org

สมหมาย ขันตรี หัวหน้าลาดตระเวนชุดที่ 2 อุทยานแห่งชาติคลองลาน - © WWF ประเทศไทย
© WWF ประเทศไทย

© WWF ประเทศไทย

สมหมาย ขันตรี เริ่มทำงานลาดตระเวน ที่งานอนุรักษ์สัตว์ป่า เมื่อ 22 ปีก่อน โดยทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในหน่วยพิทักษ์อุทยานจนครบทั้ง 4 หน่วย จนในที่สุดได้มาเป็นหัวหน้าลาดตระเวนชุดที่ 2 ของส่วนกลาง และทำหน้าที่นำทีมลาดตระเวนเพื่อพิทักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่เขตอุทยานฯ 

ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ
อุทยานแห่งชาติคลองลานได้ยกระดับการลาดตระเวนมาเป็นการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ตั้งแต่ปี 2550 ทำให้จากเดิมที่การลาดตระเวนเป็นเพียงการเดินเพื่อตรวจตราความเรียบร้อย ก็มีการปรับเปลี่ยนโดยเพิ่มเติมการสำรวจและเก็บข้อมูลทางธรรมชาติและสัตว์ป่า สำรวจความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาพื้นที่และบันทึกเส้นทางการเดินทางของสัตว์ป่า 

งานของสมหมายและลูกทีมจึงถูกแบ่งออกเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจนมากขึ้น มีการแบ่งเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยเพื่อกระจายกำลังให้ครอบคลุมพื้นที่อุทยานฯ แบ่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยออกเป็น 6-7 คน โดยมีผู้นำทาง บันทึกพิกัด GPS บันทึกเส้นทางการเดินในแผนที่ ถ่ายภาพ และบันทึกร่องรอยการพบเจอรอยเท้าสัตว์ป่า หรือแม้แต่ติดตามร่องรองนักล่า การลาดตระเวนแต่ละครั้งอาจใช้เวลาประมาณ 3 คืน ในระยะทาง 30-50 กิโลเมตร 

“ถ้าไม่เดิน ก็ไม่รู้” จากการคลุกคลีกับการเดินในผืนป่าคลองลานมานานกว่า 15 ปี สมหมายได้เก็บประสบการณ์หลากหลายรูปแบบ หรือแม้แต่ต้องเสี่ยงชีวิตในบางครั้ง ทั้งจากการปะทะกับพรานป่าที่เข้ามาล่าสัตว์ และจากการเดินป่า ที่แม้จะเป็นเส้นทางที่สมหมายคุ้นชินก็ตาม 

“ผมเคยพลัดตกน้ำ เพราะกิ่งไม้ที่จับไว้หักลงมาตอนกำลังเดินข้ามน้ำตก ผมเลยถูกน้ำพัดในแอ่งน้ำวน แต่โชคดีที่คนในทีมช่วยผมได้ทัน การปะทะกับพรานป่าก็เคยมี บางทีเขายิงปืนขึ้นฟ้า หรือยิงปืนขู่ เราก็ต้องรู้จักตั้งรับเพื่อเข้าจับกุม” 

“ผมไม่เคยกลัวสัตว์ป่า ผมคิดว่าถ้าเรามีเจตนาดี ตั้งใจจะปกป้องรักษา เขาก็จะไม่ทำร้ายเรา และผมเชื่อว่างานที่ผมทำอยู่เป็นผลดีทั้งต่อธรรมชาติและต่อตัวเรา เพราะเราได้เรียนรู้จากการที่ได้ลงมือทำจริงๆ เราก็ได้เห็นจริง เราจด เรามีข้อมูล และเราก็สามารถถ่ายทอดให้คนอื่นต่อได้” 

นอกจากการเดินสำรวจแล้ว สมหมายยังอาสารับหน้าที่สำคัญ ในฐานะนักร้องนำวง Big Cat ที่เล่าเรื่องราวงานอนุรักษ์ผ่านเสียงดนตรี จัดกิจกรรม ให้ความรู้เกี่ยวกับผืนป่า และสัตว์ป่า แก่โรงเรียนและหมู่บ้าน ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดวิชาชีพที่เขาสั่งสมมาให้แก่รุ่นน้องในทีมด้วยความหวังว่าคนรุ่นใหม่จะได้เข้ามาทำหน้าที่พิทักษ์ผืนป่าได้อย่างภาคภูมิ เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับจากแรงกายแรงใจที่พวกเขาได้ทุ่มเทให้กับงานที่เขารัก