LAW

การดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายป่าไม้

ขอขอบคุณบทความจาก

ท่านอัยการปรเมศวร์  อินทรชุมนุม

อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด

เจตจำนง 

       การดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายป่าไม้ของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ถือได้ว่ามาตรการเบื้องต้นที่ดำรงรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรของชาติซึ่งนับวันมีแต่ลดน้อยถอยลง แม้กรมป่าไม้เองจะพยายามผลักดันให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เอื้อต่อการรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ ตรงกันข้ามบางครั้งการดำเนินการทางกฎหมายยังมีช่องทางให้มีการหลีกเลี่ยง จนดูประหนึ่งว่ากฎหมายมีปัญหา  แต่หากได้ศึกษาอย่างถ่องแท้แล้วจะพบอุปสรรคที่สำคัญเป็นประการแรกว่า การดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดตามกฎหมายป่าไม้นั้น เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ยังขาดทักษะความสามารถในการนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเจตนารมณ์ของกฎหมายป่าไม้  นอกจากนั้นกรมป่าไม้เองก็ยังไม่เคยประมวลระเบียบการดำเนินคดีให้เป็นหมวดหมู่และสอดประสานกับระบบการดำเนินคดีอาญาของรัฐอย่างจริงจัง จึงทำให้ขาดความชัดเจนในทางปฏิบัติ

ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายนี้  ทางหนึ่งที่กรมป่าไม้ได้ดำเนินการมาตลอด คือการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งมุ่งเน้นไปที่ความรู้ความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันเป็นกฎหมายสารบัญญัติเป็นสำคัญ  แต่ก็หาได้ละเลยที่จะเพิ่มเติมขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ในฐานะที่เป็น “เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ” โดยการเพิ่มทักษะในการใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้เกิดมาตรฐานในทางปฏิบัติ เกิดความชัดเจนรอบคอบและรัดกุม ตั้งแต่ชั้นจับกุมไปจนถึงขั้นตอนการติดตามผลการดำเนินคดี รวมทั้งให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ ตลอดจนการได้รับความคุ้มครองจากรัฐและกฎหมายในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ

ด้วยเหตุที่ผู้เขียนได้รับความไว้วางใจจากกรมป่าไม้ให้เป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการดำเนินคดีให้แก่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้มาตั้งแต่ปี 2528 ในหลายหลักสูตร จึงทำให้เกิดความเข้าใจในความคิดของคนป่าไม้ว่าคิดอย่างไร ขาดตกบกพร่องหรือมีส่วนเกินตรงไหนที่ไม่สอดคล้องกับปรัชญาทางกฎหมาย และมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์รวมตลอดถึงการร่วมคิดร่วมปรับปรุงเทคนิคการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ให้ “รู้เขารู้เรา” และ “รู้อย่างเท่าเทียม” กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเท่าที่ผ่านมาประเมินผลได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ในเมื่อกรมป่าไม้ยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดระเบียบการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าที่สามารถให้เป็นระเบียบกลางในลักษณะระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปราบปราม ฝ่ายสอบสวน ฝ่ายฟ้องร้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมได้พึงถือปฏิบัติร่วมกันอย่างมีมาตรฐาน มิใช่ต่างฝ่ายต่างมีระเบียบของตนเองไปคนละทิศคนละทางดังเช่นปัจจุบัน  ผู้เขียนมีหนทางที่จะสนับสนุนได้ในขณะนี้ก็เพียง ช่วยประมวลและจัดระบบวิธีคิด รวมทั้งเสริมสร้างปรับปรุงแนวทางปฏิบัติการตามกฎหมายที่มีอยู่เดิมให้เป็นมรรควิธีไปสู่ผลแห่งความสำเร็จของพันธกิจองค์กรอย่างกรมป่าไม้ และเป้าหมายของชาติในการคงไว้ซึ่งทรัพยากรที่มิใช่แต่เพียงเป็นของชนชาวไทยเท่านั้น แต่เป็นทรัพยากรของมวลมนุษย์ชาติทั้งโลกที่คนทุกคนต้องร่วมกันรักษาไว้  จึงได้จัดทำคู่มือฉบับนี้ขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ใช้เป็นกรอบนำไปสู่ภาคปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด   หากคู่มือฉบับนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ในการรักษาทรัพยากรของชาติ  ผู้เขียนขอยกให้เป็นความดีของกรมป่าไม้  ข้าราชการในกรมป่าไม้ทุกคน  โดยเฉพาะกองฝึกอบรมที่ตั้งใจทำเรื่องนี้มานานแสนนาน  นอกจากนั้นผู้เขียนขอขอบคุณ พี่ ๆ  เพื่อน ๆ ป่าไม้ทุกคนที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกันมาตลอดนับสิบปี  อย่างเช่นพี่ปราณีต พี่ประชา และพี่วนิดา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับ  คุณก้อน สุรัตน์  หอมสุด  และคณะเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฝึกอบรมการป่าไม้ตาก จังหวัดตาก โดยขอมอบคู่มือเล่มนี้ให้เป็นสิทธิของศูนย์ฝึกอบรมการป่าไม้ตาก  จังหวัดตาก  ที่จะนำไปใช้ประกอบการฝึกอบรม หรือปรับปรุงแต่งเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หรือเพื่อการเผยแพร่ในโอกาสต่อไปตามแต่จะเห็นสมควร

ปรเมศวร์    อินทรชุมนุม

14            พฤศจิกายน  2543

 

บทที่ 1

ความคิดและความเข้าใจเบื้องต้น

 

กล่าวนำ

จากอดีตที่ผ่านมาการรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าเพื่อให้เป็นสมบัติของชนในชาติบางยุคบางสมัยก็มุ่งเน้นการอนุรักษ์ บางยุคก็มุ่งเน้นการสร้างเสริม บางยุคก็มุ่งเน้นการปราบปราม  จริงอยู่การรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าอาจมีหลายวิธี ทั้งการอนุรักษ์ การสร้างเสริม การเพิ่มเติมสิ่งกำลังจะขาดหาย เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่า แต่หนทางเหล่านี้ไม่อาจสำเร็จได้หากละเลยการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างจริงจังควบคู่กันไป   อย่างไรก็ตามการดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอย่างจริงจังจะประสบผลสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้มีบทบาทเบื้องต้นในการปราบปรามจะต้องมีศักยภาพในการดำเนินการ ทั้งในด้านความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของป่าไม้และสัตว์ป่า  กฎหมายเพื่อการจัดการทรัพยากร  และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันเป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนั้นยังต้องมีทักษะและวิธีคิดทางกฎหมายอย่างเป็นระบบ จะทำอย่างที่เคยทำเคยปฏิบัติโดยไม่ถ่องแท้และถี่ถ้วนในที่มาที่ไปเป้าหมายและวัตถุประสงค์ดังเช่นแต่ก่อนนั้นหาได้ไม่ เพราะในแง่มุมของนิติศาสตร์นั้นทุกเรื่องทุกอย่างมีเหตุและผลทั้งสิ้น ไม่มีกฎหมายฉบับใดบัญญัติโดยไร้เหตุผล  แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางครั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายป่าไม้ของฝ่ายนิติบัญญัติเองก็ขาดหลักนิติปรัชญา เช่น กรณีการบัญญัติให้ริบของกลางโดยไม่ใส่ใจหรือคำนึงว่าเป็นของผู้ใดในกฎหมายป่าไม้หลายฉบับ เป็นการทำลายและล่วงละเมิดสิทธิการถือครองทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ไปโดยปริยาย ในขณะเดียวกันก็กลับเป็นช่องทางให้ผู้กระทำความผิดหลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมาย

ดังนั้น ในประการแรกเจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้องกับการปราบปรามผู้กระทำความผิดทุกประเภทไม่เฉพาะแต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เท่านั้น จะได้ทำความเข้าใจกับแก่นแท้และเนื้อหาของกฎหมายที่ตนถือปฏิบัติอยู่ให้ละเอียดรอบคอบเพราะจะได้ทราบถึงวิธีคิดในกฎหมายแต่ละฉบับอย่างแท้จริงว่ากฎหมายหลายฉบับต้องการอะไร เป้าหมายของการบังคับใช้อยู่ที่ใด ประการที่สองต้องทำความเข้าใจในวิธีการและตรรกะแห่งกระบวนการค้นหาความจริง เพื่อการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของบุคคล เพราะนักกฎหมายนั้นจะไม่ยอมให้ผู้บริสุทธิ์แม้เพียงคนเดียวต้องรับโทษที่เขาไม่ได้กระทำขึ้นดังหลักที่ว่า “ปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว”  และโดยเฉพาะหากผู้บริสุทธิ์คนนั้นเป็นตัวเราหรือญาติพี่น้องของเราแล้ว เราจะรับรู้ได้ถึงความเจ็บปวดที่ได้รับดังจะเห็นได้จากกรณีข้าราชตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือแม้แต่นักการเมืองบางคนที่มีหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมมักจะเรียกร้องขอความเป็นธรรมเมื่อตนเองถูกดำเนินคดีเสมอ ถ้าเข้าใจในความรู้สึกนี้แล้วเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะมีความมั่นคงสุขุมและรอบคอบมากขึ้น สามารถปฏิบัติงานโดยปราศจากความกลัว กล้าทำในสิ่งที่พึงกระทำตามที่กฎหมายกำหนดและสามารถนำผู้กระทำผิดมารับโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทบาทและสถานะ

ข้าราชการกรมป่าไม้ผู้ใดบ้างที่ต้องปฏิบัติงานในการป้องกันปราบปรามความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และสัตว์ป่า และมีสถานะอย่างไรในการบังคับใช้กฎหมาย  เป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพราะนี่คือบทบาทหลักของการปราบปรามผู้กระทำความผิดของข้าราชการกรมป่าไม้

ในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484[1] นั้น กำหนดให้ “เจ้าพนักงานป่าไม้” และ “พนักงานป่าไม้” เป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ในกรมป่าไม้หรือบุคคลภายนอกนั้นจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสียก่อนจึงจะมีหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติป่าไม้ แต่ในกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องคือ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504[2]  พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507[3] พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503[4] และพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535[5] หาได้กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ไว้เป็นการเฉพาะเช่นพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ไม่ เพียงแต่บัญญัติว่าผู้ใดจะเป็นผู้มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายแต่ละฉบับนั้น ต้องเป็นไปตามประกาศแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่งการกำหนดให้มีการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวดำเนินการหรือปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติแต่ละฉบับนั้น (ยกเว้นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535) ต้องเข้าใจว่ามีอำนาจและหน้าที่มากกว่า “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ”[6] เพราะพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะมีหน้าที่หลักเฉพาะเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและการจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายเท่านั้น แต่เจ้าพนักงานป่าไม้ พนักงานป่าไม้ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งนั้น นอกจากจะมีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติแต่ละฉบับแล้ว ยังมีอำนาจและหน้าที่อื่น เช่น การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ  ซึ่งในส่วนนี้พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจไม่อาจมีอำนาจได้เลย  เช่น การอนุญาตเกี่ยวกับการทำไม้  การสั่งให้ออกจากป่าสงวน  เป็นต้น

ในทางกลับกัน ในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484[7] พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504[8]  พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507[9] พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503[10] ได้กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติแต่ละฉบับ ยกเว้นพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535 เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งจะต้องมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจทั่วไป

ส่วนตามพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535[11]  นั้น  ถือว่าพนักงานเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนตามกฎหมายสวนป่า เป็นเจ้าพนักงานโดยอัตโนมัติเพราะเป็นข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการของฝ่ายบริหารโดยตรง การบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาไว้อย่างชัดแจ้งย่อมตัดปัญหาข้อโต้เถียงต่าง ๆ ออกไปได้  และเนื่องจากกฎหมายมิได้บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียนเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย  พนักงานเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนจึงเป็นเพียงเจ้าพนักงานทั่วไป มิได้เป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและไม่มีอำนาจจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด    แต่การเป็นเจ้าพนักงานทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา  ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 136-146  และถูกควบคุมตามมาตรา 147-166 ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าพนักงานทั้งหลายย่อมจะต้องสนใจศึกษาบทบัญญัติดังกล่าวเป็นอย่างดี  อย่างไรก็ตามกฎหมายคุ้มครองและควบคุมเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น  ถ้ามิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือนอกเหนือหน้าที่ก็ไม่อยู่ในความคุ้มครองหรือควบคุมของประมวลกฎหมายอาญาแต่อย่างใด  ส่วนจะอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยระเบียบวินัยข้าราชการหรือไม่จะต้องพิจารณาถึงกฎหมายดังกล่าวโดยตรง  สำหรับการเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรม เป็นผลให้ได้รับความคุ้มครองมีมากขึ้นกว่าปกติ  เช่น  การแจ้งข้อความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญามีโทษหนักกว่าแจ้งความเท็จทั่ว ๆ ไป  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172,  173,  174,  181  เป็นต้น แต่ก็ต้องพึงระลึกเสมอว่า เมื่อใดที่มีการคุ้มครองมากขึ้น  ความรับผิดทางกฎหมายก็ ย่อมมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

 

อำนาจและหน้าที่

ก่อนอื่นเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจว่าอำนาจต่างกับหน้าที่อย่างไร จะได้ไม่สับสนในบทบาทของแต่ละฝ่ายแต่ละหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับป่าไม้ เพราะความเข้าในใจเรื่องอำนาจหน้าที่ค่อนข้างเป็นปัญหาในการปฏิบัติในฐานะเจ้าพนักงานในการยุติธรรม  จึงขอเทียบเคียงให้เห็นอย่างชัดเจนเสียก่อน กล่าวคือ “อำนาจ” คือ การมีดุลยพินิจในการตัดสินใจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายของเจ้าพนักงาน เช่น ผู้บังคับบัญชามีอำนาจที่จะอนุมัติให้ผู้ใต้บังคับบัญชาลาพักผ่อนประจำปีหรือไม่ก็ได้ซึ่งเป็นการใช้ดุลยพินิจตัดสินใจของผู้บังคับบัญชานั้นเอง ในทำนองเดียวกับประชาชนเองก็มีดุลยพินิจในการตัดสินใจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเช่นเดียวกัน จะต่างกันตรงที่ดุลยพินิจของประชาชนเราจะเรียกว่า “สิทธิ” เช่น สิทธิในทรัพย์สินของตน คือประชาชนย่อมที่จะมีดุลยพินิจในการตัดสินใจที่จะใช้ทรัพย์นั้นหรือไม่ใช้ทรัพย์สินนั้นก็ได้  ต่างกับ “หน้าที่” ไม่ว่าจะเป็นของเจ้าพนักงานหรือของประชาชนก็จะเรียกว่า “หน้าที่” เหมือนกันเพราะผู้มีหน้าที่จะต้องกระทำการตามหน้าที่นั้นไม่อาจใช้ดุลยพินิจเพื่อการตัดสินใจได้เลย เช่น หน้าที่ของพนักงานขับรถของกรมป่าไม้ก็ต้องขับรถราชการไม่มีดุลพินิจที่จะตัดสินใจไม่ขับรถตามที่ได้รับมอบหมายเพราะจะมีความผิดในการขัดคำสั่งทางราชการ  หรือกรณีชายไทยมีหน้าที่ต้องเข้ารับการคัดเลือกรับราชการทหารกองเกินก็ไม่มีดุลพินิจตัดสินใจที่ไม่เข้ารับการคัดเลือกเพราะเป็นความผิดทางอาญาที่ทำให้ต้องรับโทษได้  เป็นต้น

การเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น  ย่อมก่อให้เกิดหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติและอำนาจในการสั่งการตามที่กฎหมายกำหนด  ส่วนหน้าที่และอำนาจเป็นอย่างไรนั้น ในความเห็นผู้เขียนขอแบ่งแยกได้เป็น 2 ลักษณะ  ดังนี้

 

  1. 1.       ว่าด้วยหน้าที่

1.1   หน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน[12]  อย่างไรจะเรียกว่าเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อย  ในกฎหมายทุกฉบับไม่มีคำจำกัดความของคำว่า “การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน” แต่เป็นที่เข้าใจกันว่าการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนหมายรวมถึง การดำเนินการต่าง  ๆ  ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อมิให้เกิดการละเมิดต่อกฎหมาย  มิได้หมายถึงความสับสนวุ่นวายของสภาพสังคม  เช่น  การเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิที่พึงมีของประชาชนมิใช่เป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย  เว้นเสียแต่ การเดินขบวนดังกล่าวก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น อาจเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยได้  ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ควรจะปฎิบัติอย่างไรเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อย ในแง่มุมของกฎหมายนั้น เมื่อใดที่กฎหมายให้หน้าที่แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ  กฎหมายก็จะบัญญัติอำนาจควบคู่กันไปด้วย  ฉะนั้นการรักษาความสงบเรียบร้อยในแง่มุมของกฎหมายในทางหนึ่งก็คือ  การสืบสวน[13]  เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน  ซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่ในอันที่จะป้องกันมิให้เกิดการกระทำความผิดขึ้น  ในอีกทางหนึ่งคือ การตรวจค้น[14]  เพื่อหาสิ่งของที่จะใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งก็เพื่อการป้องปรามเช่นเดียวกัน  นอกจากนั้นยังอาจจะต้องดำเนินการอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควรเพื่อเป็นการป้องกันการกระทำความผิด เช่น เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ผู้มีหน้าที่ดูแลป่าไม้หรือดูแลอุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวนหรือรับผิดชอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามแต่กฎหมายแต่ละฉบับกำหนด อาจดำเนินการสำรวจตรวจสอบแนวเขตพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบดูแลเป็นประจำทุกปี เพื่อทราบข้อเท็จจริงว่ามีการบุกรุกแนวเขตพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด หรือเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลง และเพื่อการป้องปรามมิให้มีผู้บุกรุกเข้าไปเพราะการสำรวจแนวเขตดังกล่าวเท่ากับเป็นการแสดงอาณาเขตในความรับผิดชอบและอำนาจรัฐอย่างชัดแจ้ง  แต่เท่าที่ผ่านมาจะพบว่าไม่ได้ทำการสำรวจแนวเขตพื้นที่ในความดูแลในแต่ละปีเลย มาทราบอีกครั้งก็ต่อเมื่อเกิดปัญหามีการบุกรุกเป็นจำนวนมาก และผู้บุกรุกเหล่านั้นก็จะอ้างสิทธิเรียกร้องในที่ดินดังกล่าวเพื่อตนเอง ทั้งที่ความจริงแล้วไม่อาจได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวเลย ครั้นเมื่อมีการหาพยานหลักฐานมาสนับสนุนความแท้จริงที่กรมป่าไม้ยืนยัน ซึ่งบางครั้งก็สูญหายไปบ้างจนทำให้ขาดความน่าเชื่อถือจากสังคมไม่น้อย สาเหตุแห่งปัญหานี้จึงมีที่มาจากการที่เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ยังไม่ได้ทำหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนให้สมบูรณ์แบบตามที่ควรจะเป็น  อย่างไรก็ตามผู้เขียนมิได้หมายความว่า การไม่ดำเนินการดังกล่าวเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากดังที่กล่าวมาแล้วว่าการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดได้ชัดเจนว่ามีขอบเขตเพียงใด เพราะหน้าที่นั้นต้องมีการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนไม่อาจโต้แย้งได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสำนึกของผู้ปฏิบัติและแนวนโยบายของผู้บริหารโดยเฉพาะฝ่ายการเมือง  ผู้เขียนเห็นแนวทางหนึ่งที่แก้ปัญหานี้ได้ ก็โดยที่กรมป่าไม้ต้องกำหนดการระวังและสำรวจแนวเขตพื้นที่ในความรับผิด ไม่ว่าจะเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตอุทยานแห่งชาติ ให้เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบในการดูแลเขตพื้นที่ดังกล่าวแต่ละแห่งจะต้องดำเนินการสำรวจเป็นประจำทุกปี เพื่อทราบความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ หลักเขต และอื่น ๆ โดยการจัดทำแผนที่และถ่ายภาพประกอบไว้ด้วย ซึ่งหากพบการกระทำความผิดอาญาก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที  หรือหากจะเป็นความผิดทางแพ่งที่จะต้องดำเนินคดีในการขับไล่หรือเพิกถอนเอกสารสิทธิที่เกิดขึ้นในบริเวณที่มีการบุกรุก  ต้องยอมรับและเข้าใจไว้ด้วยว่าผลของการสำรวจระวังแนวเขตนี้คือพยานหลักฐานชั้นเยี่ยมนั่นเอง  และหากจัดเก็บเป็นระบบจะกลายเป็นข้อมูลเพื่อการศึกษาความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและอาจจะนำไปสู่การวิจัยเพื่อการพัฒนาได้ด้วย

1.2      หน้าที่ในการปราบปรามและจับกุมผู้กระทำความผิด โดยทั่วไปแล้วมักมีความเข้าใจกันว่า การปราบปรามก็ดี และการจับกุมผู้กระทำความผิดเป็นอำนาจ   แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่า การปราบปรามและการจับกุมผู้กระทำความผิดเป็นหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยแท้  เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาระบุไว้ในมาตรา 2(16)[15] กำหนดไว้ว่า “ในเมื่อทำการอันเกี่ยวกับการปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมาย  ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องจับกุมหรือปราบปราม  ดังนั้นในการปฏิบัติการตามกฎหมายป่าไม้ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าว ซึ่งกำหนดสถานะให้เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจนั้น หากพบการกระทำความผิดแล้วไม่ดำเนินการปราบปรามและจับกุมก็จะเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157[16] ทันที ตรงกันข้ามถ้าแกล้งจับโดยที่ผู้ถูกจับไม่ได้กระทำความผิดก็จะเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 วรรคสอง[17] เช่นเดียวกัน  ซึ่งจะแตกต่างกับ “อำนาจ” เพราะอำนาจนั้นย่อมทำให้เจ้าหน้าที่มีดุลยพินิจที่จะใช้อำนาจหรือไม่ใช้อำนาจก็ได้ แต่หากได้มีการใช้อำนาจโดยชอบตามดุลยพินิจไปแล้วกลับละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ เช่น ตำรวจมีอำนาจในการตรวจค้นเพื่อทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ได้พบบุคคลท่าทางน่าสงสัยและมีพิรุธจึงเข้าทำการตรวจค้นบุคคลดังกล่าว และปรากฏว่าพบยาเสพติดในความครอบครองของบุคคลนั้น ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายที่ตำรวจนายนั้นจะต้องทำการจับกุม  แต่กลับเรียกร้องทรัพย์สินเพื่อให้บุคคลนั้นไม่ต้องถูกจับกุม ดังนี้ตำรวจนายนั้นก็จะมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ด้วยการละเว้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 150[18]  กรณีมิใช่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตน ผิดกับกรณีการใช้อำนาจโดยมิชอบ เช่น สถานบริการแห่งหนึ่งเปิดบริการถูกต้องตามกฎหมาย มีตำรวจนายหนึ่งใช้อำนาจในการตรวจค้นสถานบริการเป็นประจำเพื่อข่มขู่ให้เจ้าของสถานบริการจ่ายเงิน หรือยอมให้ตำรวจนายนั้นใช้บริการโดยตนไม่ต้องเสียค่าตอบแทน เป็นเหตุให้ผู้ใช้บริการเกิดความรำคาญไม่มาใช้สถานบริการดังกล่าว เจ้าของสถานบริการจึงจ่ายเงินและยอมให้ตำรวจนายนั้นใช้บริการโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน กรณีเช่นนี้เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  หรือในกรณีตำรวจผู้หนึ่งรู้อยู่ว่าบ้านหลังหนึ่งมีการลักลอบเปิดบ่อนเล่นการพนันเป็นประจำ ซึ่งนายบ่อนได้จ่ายค่าตอบแทนให้ตำรวจผู้นั้นเป็นรายเดือนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการไม่ใช้อำนาจเข้าตรวจค้น และพื่อละเว้นไม่ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่จับกุมผู้เล่นและนายบ่อน กรณีนี้จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบควบคู่ไปกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าวเป็นความผิดฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148[19]  ซึ่งมีโทษหนักกว่าการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ

 

2.  ว่าด้วยอำนาจ

2.1       อำนาจในการสืบสวนคดีอาญา[20]  ดังกล่าวมาบ้างแล้วว่าการสืบสวนเป็นอำนาจที่มีมาจากหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดการกระทำความผิด[21]  ในส่วนของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติวิธีการสืบสวนควรจะดำเนินการอย่างไร เช่น จะต้องไปซุ่มดูหรือแอบดูหรือสะกดรอยผู้กระทำความผิด หรือควรจะซักถามใครอย่างใด กฎหมายเพียงแต่ระบุว่าให้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ซึ่งแตกต่างกับการสอบสวน[22] ของพนักงานสอบสวนที่กฎหมายกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจที่จะเรียกบุคคลทั้งที่เป็นพยานหรือผู้ต้องหาให้มาพบพนักงานสอบสวนเนื่องในการสอบสวน[23] นอกจากนั้นยังระบุขอบเขตของการสอบสวนไว้ชัดเจนว่าทำได้เพียงใด ทั้งนี้เนื่องจากว่า การสอบสวนกระบวนการพิสูจน์ความผิดที่ได้เกิดขึ้นแล้วเป็นสำคัญ และยังถือว่าการสืบสวนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสอบสวนด้วย เพราะการสืบสวนส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิดนั่นเอง  ดังนั้นในส่วนของการใช้อำนาจในการสืบสวนคดีอาญาของพนักงานเจ้าหน้าที่ในสี่พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องดังกล่าว จำเป็นต้องศึกษาแยกต่างหากเป็นกรณีพิเศษ

2.2 อำนาจในการตรวจค้น  การให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการตรวจค้นนี้นอกจากจะเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังกล่าวมาแล้ว ยังเป็นอำนาจเพื่อการจับกุมรวมตลอดเพื่อการค้นหาสิ่งของด้วย ดังนั้นอาจแยกออกเป็นการค้นหาบุคคลผู้กระทำความผิด กับการค้นหาสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด หรือจะได้ใช้หรือใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด หรือสิ่งของที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ด้วย โดยในส่วนของการดำเนินการตรวจค้นของพนักงานเจ้าหน้าที่นี้ จะต้องเป็นการใช้อำนาจให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเคร่งครัด ซึ่งรายละเอียดจะได้กล่าวในส่วนการปฏิบัติในบทต่อ ๆ ไป

2.3 อำนาจในการยึดสิ่งของ  การยึดสิ่งของเป็นผลมาจากการทำหน้าที่ในการจับกุมและใช้อำนาจการตรวจค้นดังกล่าวมาแล้ว และสิ่งที่จะยึดจะต้องเป็นสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด หรือจะได้ใช้หรือใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด หรือสิ่งของที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ด้วย โดยในส่วนของการยึดสิ่งของนี้ นอกจากจะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นบทบัญญัติในหลักเบื้องต้นแล้ว จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับที่เกี่ยวข้องด้วย

 

สรุป ดังที่กล่าวมาทั้งหมดในบทที่ 1 นี้ ก็เพียงเพื่อให้เกิดความเข้าใจในสถานะ บทบาทหน้าที่ และอำนาจของความเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการหรือปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแต่ละฉบับที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ยังมิได้ลงรายละเอียดของวิธีปฏิบัติและเทคนิคการบังคับใช้กฎหมาย เพราะสิ่งเหล่านี้คือความคิดพื้นฐานของผู้ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการยุติธรรม  หากยังไม่สามารถทำความเข้าใจกับบทบาทหน้าที่ของตนเองได้อย่างถูกต้อง  ก็อย่าหวังเลยว่าจะประสบความสำเร็จในการดูแลคุ้มครองทรัพยากรของชาติได้

 

บทที่ 2

วิถีแห่งมรรควิธี

 

การจับ

โดยเหตุที่การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคลเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้กระทำมีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย[24] ดังนั้นในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าวจึงต้องกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสถานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดังกล่าวมาแล้วในบทที่ 1 ก็เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีอำนาจและหน้าที่ที่จะกระทำการจับหรือค้นตัวผู้กระทำผิดได้ และถึงแม้จะมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้วก็ตามแต่ในคดีอาญานั้น การจับและคุมขังบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ[25]

จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงสรุปได้ว่าประเด็นแรกที่ต้องพิจารณาคือผู้ที่จะดำเนินการได้ต้องมีอำนาจและหน้าที่ การจะพิจารณาว่าผู้ใดมีอำนาจและหน้าที่นั้นก็ต้องเป็นไปตามประกาศแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติแต่ละฉบับ ประเด็นต่อมาจะดำเนินการจับผู้กระทำผิดได้เมื่อใด และจับอย่างไรจึงจะไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะหากดำเนินการไม่ชอบต่อกฎหมายอาจทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่อาจต้องรับผิดตามกฎหมายด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพึงระมัดระวังอย่างมาก

หลัก : การจับจะดำเนินการต่อเมื่อมีหมายจับ[26]  ยกเว้นในกรณีดังต่อไปนี้

  1. เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และที่ว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า[27]  ได้แก่ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำ  หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ
  2. เมื่อพบบุคคลนั้นกำลังกระทำความผิด หรือพบโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะกระทำความผิด โดยมีเครื่องมือ  อาวุธ  หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าว
  3. เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าวมาแล้ว และกำลังจะหลบหนี
  4. เมื่อมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าว และแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้ว ซึ่งโดยสภาพการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าว กรณีนี้น่าจะไม่มีทางเกิดขึ้น

อย่างไรที่เรียกว่า “จับ”

ในการจับ[28]นั้นกฎหมายได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการในการจับบุคคลไว้เป็นลำดับเพื่อให้การดำเนินการกระทบกระเทือนเสรีภาพผู้ถูกจับน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ที่จะต้องดำเนินการควรเข้าใจในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับความคุ้มครองในการปฏิบัติหน้าที่อันเกี่ยวด้วยสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วยเช่นกัน  ซึ่งแยกได้ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1  ผู้จับกุมจะต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับกุมนั้นว่าเขาต้องถูกจับ  แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจพร้อมด้วยผู้จับ ในขั้นตอนนี้ให้พึงสังเกตว่ากฎหมายกำหนดเฉพาะการแจ้งให้ผู้ถูกจับว่า “เขาต้องถูกจับ” เท่านั้น  กรณีจึงไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา

ขั้นตอนที่ 2  ถ้าจำเป็นก็ให้จับตัวไป ในขั้นตอนนี้เป็นดุลยพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับจะพิจารณาตัดสินใจว่าจะจับตัว ซึ่งหมายถึงการแตะเนื้อต้องตัวของผู้ถูกจับเพื่อพาไปยังที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้  ส่วนอย่างไรจะถือว่าเป็นความจำเป็นนั้นน่าจะหมายความถึงการชักช้าหรือถ่วงเวลาหรือขัดขืนไม่ยอมไปตามที่ผู้จับสั่ง

ขั้นตอนที่ 3  แต่ถึงขนาดบุคคลที่จะถูกจับขัดขวางหรือจะขัดขวางการจับ  หรือหลบหนี หรือพยายามหลบหนี  ผู้ทำการจับก็มีอำนาจใช้วิธีหรือความป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับผู้นั้น ในขั้นตอนนี้ก็ทำนองเดียวกันกับขั้นตอนที่สองกล่าวคืออย่างไรจะเป็นการขัดขวางหรือจะขัดขวาง หลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้จับสามารถใช้ดุลยพินิจตัดสินใจได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าดุลยพินิจนั้นต้องมีเหตุผลจากข้อเท็จจริง มิใช่ความรู้สึกนึกคิดเอาเอง  เพราะการดำเนินการในขั้นตอนนี้พนักงานเจ้าหน้าที่อาจต้องใช้กำลังและมีอำนาจที่จะป้องกันตัวได้ถ้าบุคคลนั้นจะทำร้ายผู้จับ

ขั้นตอนที่ 4 เมื่อจับตัวได้แล้วผู้จับจะต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจทันที  และเมื่อถึงที่นั้นแล้ว ก็ให้แจ้งเหตุที่จับนั้นด้วย[29]  ในขั้นตอนนี้ระยะเวลาในการเดินทางจากสถานที่ที่ถูกจับจนถึงที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจนั้นกฎหมายไม่กำหนด เพียงแต่ให้ดำเนินการโดยทันทีเท่านั้น ในระหว่างนี้ผู้จับมีอำนาจที่จะควบคุมผู้ถูกจับไว้โดยใช้วิธีควบคุมเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เขาหนีเท่านั้น แต่เวลาควบคุมนั้นจำกัดเฉพาะเท่าที่จะพาผู้ถูกจับไปมอบให้พนักงานสอบสวนเท่านั้น  จะสั้นยาวแค่ไหนก็แล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นราย ๆ ไป แต่ในกรณีที่จำเป็น ผู้จับกุมจะจัดการพยาบาลผู้ถูกจับกุมเสียก่อน  ก่อนนำตัวไปยังที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจก็ได้   ส่วนการแจ้งเหตุที่ถูกจับให้ผู้ถูกจับทราบ หมายความว่าแต่เพียงบอกให้ผู้ถูกจับทราบว่าเขาถูกจับในเรื่องอะไร หรือฐานความผิดใดเท่านั้น มิใช่เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาเพราะการแจ้งข้อกล่าวหานั้นคือแจ้งให้เขาทราบว่าเขากระทำผิดอย่างไรเมื่อใดและต้องครบถ้วนให้เขาเข้าใจข้อกล่าวหาได้ซึ่งการแจ้งข้อกล่าวหานี้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน[30]  มิใช่ผู้จับ

แต่อย่างไรก็ตาม  การจับกุมนี้ห้ามมิให้กระทำในที่รโหฐาน  เว้นแต่จะเข้ากรณีมีอำนาจดังกล่าวมาแล้วในเรื่องการค้น[31]

โดยสรุปแล้วการจับจึงยังคงเป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่   แต่การที่จะให้ตัวผู้ถูกจับมายังที่ทำการฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นเรื่องอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะตัดสินใจดำเนินการ

 

การค้น

การค้นเป็นอำนาจของเจ้าพนักงาน นอกจากจะเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังกล่าวมาแล้วในบทที่ 1 ซึ่งโดยหลักการทั่วไปก็มีลักษณะทำนองเดียวกับการจับคือต้องคำนึงถึงสิทธิประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นนี้จะกล่าวเฉพาะหลักการค้นที่เป็นอำนาจที่สืบเนื่องมาจากการทำหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน กับกรณีการจับผู้กระทำความผิดกฎหมายในอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าวเพราะการค้นเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยจำเป็นต้องมีหมายค้น ซึ่งโอกาสที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าวจะเริ่มต้นดำเนินการด้วยตนเองในการขอหมายค้นยังเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและต้องกำหนดเป็นระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนเสียก่อน

การค้นเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทั้งสี่จะกระทำได้ในกรณีเมื่อพบเห็นบุคคลผู้ต้องสงสัยในสาธารณสถานซึ่งเป็นที่ที่ประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ การค้นตัวบุคคลในที่สาธารณสถานนี้ต้องได้ความว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของไว้ในครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดหรืออาจมีสิ่งของซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือมีสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าว[32]

สำหรับการค้นในที่รโหฐานหรือสถานที่ส่วนบุคคลนั้นต้องมีหมายค้นเสมอ เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้[33]

(ก)    เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้าอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าวกำลังกระทำลงในที่รโหฐาน  ซึ่งว่าโดยความเป็นจริงแล้วก็คงเป็นไปได้ยาก

(ข)    เมื่อบุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้าอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าว  ขณะที่ถูกไล่จับได้หนีเข้าไปในที่รโหฐานนั้นหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้นควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น

(ค)    เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าสิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าวได้ซ่อนอยู่ในที่รโหฐานนั้น  แต่ต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่า ถ้าเนิ่นช้าไปกว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน

(ง)     เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้ถูกจับเป็นเจ้าบ้านและมีหมายจับไปด้วยในข้อหาว่าบุคคลนั้นกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าว  หรือแม้ไม่มีหมายจับ แต่เป็นกรณีที่จะจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ

ในการค้นในที่รโหฐานดังกล่าวนี้ ผู้ค้นมีอำนาจที่จะสั่งให้เจ้าบ้านหรือคนที่อยู่รักษาที่รโหฐานนั้น ให้ยอมเข้าไปโดยมิหวงห้าม  และให้อำนวยความสะดวกตามสมควรในการค้นนั้น  ทั้งนี้ผู้ค้นจะต้องแสดงชื่อและตำแหน่งให้เขาทราบก่อนด้วย  ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ยอมให้เข้าไปผู้ค้นมีอำนาจที่จะใช้กำลังเพื่อเข้าไปได้  และถ้าจำเป็นก็อาจจะเปิดหรือทำลายประตูบ้าน  ประตูเรือน  หน้าต่าง  รั้ว  หรือสิ่งกีดขวางอย่างอื่นทำนองเดียวกันได้[34]

การค้นในที่รโหฐานนั้น  ก่อนลงมือค้นให้ผู้ค้นแสดงความบริสุทธิ์เสียก่อน  และให้ค้นต่อหน้าผู้ปกครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้น  หรือถ้าหาบุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งได้ขอร้องมาให้เป็นพยาน  แต่ทั้งนี้เท่าที่จะทำได้เท่านั้น  ถ้าไม่สามารถจะทำได้ ก็อาจค้นไปโดยไม่มีใครอยู่ในขณะที่ค้นก็ได้ [35]

ในการค้นดังกล่าวข้างต้น  ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลซึ่งอยู่ในที่ซึ่งค้นหรือจะถูกค้นจะขัดขวางถึงกับทำให้การค้นไร้ผล  ผู้ค้นมีอำนาจเอาตัวผู้นั้นควบคุมไว้  หรือให้อยู่ในความดูแลในขณะที่ทำการค้นเท่าที่จำเป็น  เพื่อมิให้ขัดขวางถึงกับทำให้การค้นนั้นไร้ผล  และถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นได้เอาของที่ต้องการพบซุกซ่อนในร่างกาย  ผู้ค้นก็อาจมีอำนาจค้นตามร่างกายได้ด้วย  แม้จะมิใช่การค้นในที่สาธารณสถานก็ตาม[36]

ในการค้นนี้  ผู้ค้นจะต้องพยายามมิให้มีการเสียหาย  และกระจัดกระจายเท่าที่จะทำได้เฉพาะระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตกเท่านั้น  เว้นแต่ว่าได้ค้นตั้งแต่เวลากลางวัน  ถ้าค้นไม่เสร็จจะค้นต่อไปในเวลากลางคืนก็ได้  หรือในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง  จะค้นในเวลากลางคืนก็ได้ [37]

สิ่งของใดที่ยึดได้จากการค้น ผู้ค้นจะต้องให้ผู้ครอบครองสถานที่ บุคคลในครอบครัวผู้ต้องหาจำเลย  ผู้แทนหรือพยานดู  เพื่อให้รับรองว่าถูกต้อง  ถ้าบุคคลนั้นรับรองก็ให้บันทึกไว้  ถ้าไม่รับรองก็ให้บันทึกไว้เช่นกัน[38]   สิ่งของดังกล่าวนี้ให้ห่อหรือบรรจุหีบห่อตีตราไว้ หรือให้ทำเครื่องหมายไว้เป็นสำคัญ[39]

ให้ผู้ค้นบันทึกรายละเอียดแห่งการค้นและทำบัญชีสิ่งของที่ค้นได้โดยละเอียด และให้อ่านบันทึกและบัญชีดังกล่าวให้ผู้ครอบครองสถานที่  บุคคลในครอบครัว  ผู้ต้องหา  จำเลย  ผู้แทนหรือพยานฟังแล้วแต่กรณี  แล้วให้ผู้นั้นลงลายมือชื่อรับรองไว้ แล้วให้รีบส่งบันทึกและบัญชีดังกล่าวนี้ไปยังพนักงานสอบสวน[40]

ส่วนการค้นโดยมีหมายค้นของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่นั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าวก็อาจทำการค้นได้ ถ้าในหมายค้นระบุให้ผู้ค้นมีอำนาจและหน้าที่  สำหรับการค้นในกรณีนี้ ก็เป็นทำนองเดียวกับการค้นโดยไม่มีหมายค้นดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น[41]

 

การยึด

การยึดสิ่งของเป็นอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการตามหน้าที่เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยแล้วใช้อำนาจในการค้นหรือตรวจค้น เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด[42]  หรือดำเนินการจับกุมแล้วใช้อำนาจค้นตัวผู้ต้องหาและยึดสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้[43]  นอกจากนั้นกฎหมายยังบัญญัติไว้เป็นพิเศษสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ในการยึดทรัพย์สินบางอย่าง[44] โดยให้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้ใช้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา 11 มาตรา 48 มาตรา 54 หรือมาตรา 69 ไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐานในคดีได้

จึงสรุปได้ว่าสิ่งของที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการยึดนั้นประกอบไปด้วย

  1. สิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด
  2. สิ่งของที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย
  3. สิ่งของที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด
  4. สิ่งของที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้

ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการแรกคือสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยผิดกฎหมายจะเป็นไปตามพระราชบัญญัติในสี่ฉบับดังกล่าว ซึ่งจะมีความชัดเจนอยู่ในตัวว่าเป็นสิ่งใดบ้าง แต่สิ่งของที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิดหรือสิ่งของที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้นั้น ค่อนข้างกว้างขวางไม่อาจจำกัดได้ว่าเป็นสิ่งใดบ้าง แต่มีหลักกฎหมายอยู่ว่า พยานวัตถุหรือพยานเอกสารซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น[45]

สำหรับข้อสังเกตประการที่สอง เห็นจะได้แก่การใช้อำนาจในการยึดสิ่งของเป็นของกลางนั้น ต้องแยกออกเป็นอำนาจตามกฎหมายสองฉบับ คือ กรณีที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504  พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 และพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535  นั้นเป็นการยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 85   สำหรับการยึดสิ่งของเป็นของกลางในความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 หรือในกรณีที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอื่นควบคู่ไปกับพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 นั้น มีทั้งกรณีที่ยึดสิ่งของตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 85  และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 64 ทวิ เท่าที่ปรากฏในบันทึกการจับกุมก็ดี บัญชีของกลางก็ดี หรือแม้แต่คำให้การของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับหรือผู้ยึด ต่างไม่เคยระบุว่ายึดโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด นับเป็นช่องว่างที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องกลับไปทบทวนเสียใหม่  ทั้งนี้เนื่องจากผลแห่งการยึดสิ่งของตามกฎหมายแต่ละฉบับมีความแตกต่างกันมาก  ในคดีเกี่ยวกับป่าไม้นั้น บุคคลผู้กระทำความผิดมีความสำคัญน้อยกว่าเครื่องมือเครื่องใช้ในการกระทำความผิด เพราะส่วนหนึ่งของผู้กระทำความผิดจะเป็นผู้รับจ้างมาให้กระทำความผิด ซึ่งหากผู้นั้นถูกจับกุมก็จะมีการจ้างบุคคลอื่นมาทำแทน แต่เครื่องมือนั้นมักเป็นของนายทุนผู้ว่าจ้างผู้อื่นให้มากระทำผิดกฎหมาย และเครื่องมือดังกล่าวจะมีราคาสูงหรือหายาก ฉะนั้นการดำเนินการโดยมิชอบเพื่อให้ได้เครื่องมือเครื่องใช้คืนจึงเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ได้โดยง่าย

สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งของที่ยึดมานั้น ได้กล่าวไว้แล้วในส่วนการตรวจค้นจึงไม่ขอกล่าวซ้ำอีก แต่จะได้กล่าวถึงอีกครั้งในบทต่อไปที่ว่าด้วยเทคนิคและวิธีการ

 

บทที่ 3

ทักษะพลวัตร

 

สาเหตุแห่งความล้มเหลว

ในการดำเนินการหรือปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504  พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 และพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535 ในส่วนที่เป็นความผิดทางอาญาซึ่งเมื่อพบผู้กระทำความผิดต้องดำเนินการจับกุมนั้น ซึ่งต้องดำเนินการโดยละม่อมเว้นแต่มีความจำเป็นอาจใช้กำลังได้ตามความเหมาะสมแห่งพฤติการณ์ เมื่อจับเสร็จแล้วก็ต้องดำเนินการตรวจค้นและยึดสิ่งดังกล่าวมาแล้วในบทที่ 2  แต่เพื่อให้การลงทุนลงแรงในปฎิบัติการจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ให้ได้รับโทษในความผิดที่เขาได้กระทำอย่างยุติธรรม และเพื่อเป็นการปราบปรามกลุ่มนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังให้ได้ผล โดยอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่พนักงานเจ้าที่ตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับ จะต้องเรียนรู้เทคนิคและเข้าใจในวิธีการทางกฎหมายทั้งที่เกี่ยวกับเอกสารและวิธีการประสานงานในกระบวนยุติธรรมทั้งระบบ

ความผิดที่ผู้ถูกจับได้กระทำลงไปนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความผิดที่เกิดขึ้นซึ่งหน้า จึงเป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่จับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ  ในลำดับถัดมาพยานหลักฐานที่ดีที่สุดคือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมทำการจับกุมผู้กระทำความผิด  รวมตลอดทั้งสิ่งของที่ยึดเป็นของกลางในคดีนั้นเอง จึงเห็นได้ว่าการที่ควบคุมให้มีการดำเนินคดีเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายขึ้นอยู่กับ “พนักงานเจ้าหน้าที่” ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฎิบัติการตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าวเป็นสำคัญ  ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเหตุใดผลการดำเนินคดีจึงไม่เป็นไปอย่างที่คิดมีความผิดพลาดหรือบกพร่องในขั้นตอนใด หรือกระบวนใด  ในความเห็นของผู้เขียนนั้นเห็นว่าไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องไปหวาดระแวงหน่วยงานอื่น หากพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการจับกุมมีความสามารถเพียงพอที่จะดำเนินการทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามกฎหมายประการหนึ่ง และทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏชัดโดยเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง มีเหตุมีผลสนับสนุนเป็นตรรกะ ย่อมยากที่จะถูกเบี่ยงเบนหรือเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะจากฝ่ายใดก็ตาม

นอกจากนั้นต้องยอมรับอีกประการหนึ่งว่า ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผลการดำเนินคดีไม่ประสบความสำเร็จ  การสมาคมเพื่อการประสานงานก็ดี การพัฒนาความรู้ให้เท่าเทียมกันในเรื่องที่รู้อย่างเดียวกันก็ดี เป็นสิ่งเสริมสร้างศักยภาพของความเคารพและความเชื่อถือซึ่งกันและกัน ซึ่งในส่วนพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องพลวัตรไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันเป็นการเรียนรู้ตลอดชีพ นอกสถานการศึกษา และไร้รูปแบบ  ผู้มีความรู้หรือมีข้อมูลมากย่อมเป็นผู้มีอำนาจสำหรับสภาพสังคมปัจจุบัน

การจัดทำบันทึกการจับกุม

ว่ากันโดยความเป็นจริงแล้วก็ไม่มีบทบัญญัติใดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ทำการจับกุมทำบันทึกการจับกุม  แต่หากการจับกุมนั้นดำเนินการโดยราษฎร ให้บันทึกชื่อ อาชีพ ที่อยู่ของผู้จับอีกทั้งข้อความและพฤติการณ์แห่งการจับนั้นไว้ แล้วให้ผู้จับลงลายมือชื่อกำกับไว้เป็นสำคัญ[46]  แต่การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับได้จัดทำบันทึกแห่งการจับกุมนั้น นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินคดีเพราะเอกสารฉบับแรกที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดหรือบริสุทธิ์ของผู้ถูกจับได้เป็นอย่างดี

บันทึกต้องระบุสถานที่ วันเดือนปีที่ทำ นามและตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้ทำ และเจ้าพนักงานผู้ทำบันทึกลงลายมือชื่อของตนในบันทึกนั้น[47]  แล้วต้องอ่านให้ผู้ให้ถ้อยคำฟัง ถ้ามีข้อความแก้ไข ทักท้วง หรือเพิ่มเติม ให้แก้ไขให้ถูกต้องหรือมิฉะนั้นก็ให้บันทึกไว้ และให้ผู้ให้ถ้อยคำลงลายมือรับรองว่าถูกต้องแล้ว ถ้าบุคคลที่ต้องลงลายมือชื่อในบันทึกไม่สามารถหรือไม่ยอมลง ให้บันทึกหรือรายงานเหตุนั้นไว้[48]  และเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานเป็นผู้ทำต้องเขียนด้วยน้ำหมึกหรือพิมพ์ดีดหรือพิมพ์ ถ้ามีผิดที่ใดห้ามมิให้ลบออก ให้เพียงแต่ขีดฆ่าคำผิดนั้นแล้วเขียนใหม่ เจ้าพนักงานหรือบุคคลผู้ขอแก้ไขเช่นนั้นต้องลงนามย่อรับรองไว้ข้างกระดาษ ถ้อยคำที่ตกเติมในเอกสารก็ให้ลงนามกำกับไว้ด้วยเช่นกัน[49]   ดังนั้นในการเขียนบันทึกการจับกุมก็ใช้วิธีการอย่างเดียวกัน ข้อที่ควรระวังก็คือปากกาที่ใช้ควรเป็นด้ามเดียวกัน สีเดียวกัน การแก้ไขหรือตกเติมทำเสียก่อนที่จะมีการลงนาม เมื่อลงนามแล้วไม่ควรตกเติมแก้ไขอีก เพราะจะทำให้ความน่าเชื่อถือหายไป เนื่องจากโดยปกติแล้วเอกสารจะไม่โกหกเช่นมนุษย์ปุถุชน ระบุไว้อย่างไรก็เป็นอย่างนั้น และนี่คือพยานหลักฐานชิ้นแรกซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่ดีที่สุดในคดีเกี่ยวด้วยป่าที่พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำเอง

สำหรับเนื้อหาของบันทึกการจับกุมก็เป็นเพียงการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเท่านั้น เห็นอย่างไร เป็นอย่างไรก็ระบุไปอย่างนั้น อย่าได้แต่งเติมเสริมต่อเป็นอันขาดเพราะข้อเท็จจริงจะไม่เป็นไปตามธรรมชาติ จดจำก็ลำบาก เบิกความก็จะตอบไม่ถูก ส่วนในกรณีการแจ้งข้อกล่าวหาตามรูปแบบนั้นได้กล่าวไว้แล้วว่าไม่จำเป็น ระบุแต่เพียงฐานความผิดก็เพียงพอแล้ว ผู้ต้องหาจะให้การรับสารภาพหรือไม่ก็ใช่สาระ  ตรงกันข้ามหากผู้ต้องหารับว่าเป็นข้อเท็จจริงที่บันทึกเรื่องราวแห่งการจับกุมนั้นถูกต้องแล้ว และยอมลงนามรับรองไว้ด้วยจะดียิ่งกว่าการระบุว่า  “รับสารภาพ” เสียอีก อย่างไรก็ตามเพื่อให้เป็นไปตามหลักรู้เขารู้เรา พนักงานเจ้าหน้าที่ควรซักถามผู้ต้องหาด้วยว่า เหตุใดจึงเข้ามากระทำความผิด เช่น มาได้อย่างไร ใครจ้างมา ค่าจ้างเท่าไร ทำมานานหรือยัง รถยนต์ของกลางมาได้อย่างไร เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้คือสาระที่จำเป็นอย่างยิ่ง ป้องกันการตกแต่งและแต่งเติมของผู้เกี่ยวข้องเพื่อผลคดีในโอกาสต่อไป

การเขียนบันทึกจับกุมที่ดีควรเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องว่า ในวันนั้นใครเป็นหัวหน้าชุดในการปฏิบัติการตามกฎหมายป่าไม้  นำกำลังอันประกอบไปด้วยผู้ใดบ้าง  จำนวนกี่คนไปปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่เท่าไรและพบเห็นใคร รู้จักหรือไม่ จำนวนกี่คน แต่ละคนกำลังทำอะไร  อย่างไร  ในวันใด  และ ณ จุดใด  ในขั้นตอนนี้หากไม่รู้จักชื่อ หรือรู้จักตัวก็ระบุแต่เพียงว่าชายไทยไม่ทราบชื่อ และต่อมาได้แสดงตนเข้าทำการจับกุมจึงทราบว่าชายไทยนั้นชื่ออะไรกำหนดให้เป็นผู้ต้องหาที่เท่าไร  การระบุชื่อผู้ต้องหาในบันทึกจับกุมควรระบุให้ชัดว่าชื่อ นามสกุลใด  อายุเท่าไร  อยู่บ้านเลขที่  ตำบล  อำเภอ จังหวัด อะไร  และที่สำคัญกว่านั้นต้องระบุต่อไปอีกว่าผู้ต้องหานี้เป็นชายไทยคนที่ทำอะไรก่อนการจับกุม  เมื่อจับกุมแล้วได้ยึดสิ่งของใดเป็นของกลาง  การระบุของกลางต้องระบุทั้งปริมาตรและจำนวน  หรือขนาดของสิ่งของที่ยึดเป็นของกลางในกรณีที่ไม่ทราบปริมาตรชัดเจน  สำหรับสิ่งชองใดที่มีหมายเลขกำกับ  เช่น  หมายเลขในอาวุธปืน  หมายเลขเครื่องยนต์  หมายเลขเลื่อยยนต์  เป็นต้น  และหากเป็นไปได้น่าจะระบุด้วยว่ายึดสิ่งของนั้นมาจากใคร หรือจาก ณ ที่แห่งใดในบริเวณที่เกิดเหตุ  จากนั้นจึงจะเป็นการบันทึกว่าผู้ต้องหาบอกว่าอย่างไร  หรือจะพูดว่าผู้ต้องหาให้การอย่างไรนั่นเอง  จุดนี้จะมีความสำคัญไม่น้อยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  แต่ที่ผ่านมาผู้จับมักมองข้ามว่าก่อนผู้ต้องหามากระทำความผิดเป็นมาอย่างไร และกระทำผิดแล้วจะนำทรัพย์สินที่ได้กระทำความผิดไปให้ใครที่ไหนอย่างไร  เพราะอย่างน้อยก็จะเป็นประโยชน์ในการป้องปรามในโอกาสต่อไป  แต่ประโยชน์เฉพาะหน้าก็คือประสิทธิภาพของการดำเนินคดี  เนื่องจากในขณะที่ทำการจับกุมผู้ต้องหานั้น  เจ้าพนักงานผู้จับมีโอกาสทำหน้าที่บางส่วนของพนักงานสอบสวนก่อนพนักงานสอบสวนเสียอีก  การให้การครั้งแรกของผู้ต้องหาโดยทั่วไปจะเป็นการให้การไปตามสัตย์จริงไม่ตกเติมเหมือนกับคำแนะนำที่ได้รับเมื่อพบผู้รู้ในภายหลัง

ประเด็นสำคัญที่ต้องการในบันทึกจับกุมนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ การบันทึกเกี่ยวกับของกลางที่ยึดมานั้น ต้องระบุด้วยว่ายึดมาตามบทบัญญัติกฎหมายใด  อย่างน้อยควรระบุว่าได้ยึดสิ่งของใดบ้างตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484  ส่วนที่ไม่ระบุก็พอเข้าใจอยู่แล้วว่ายึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 85  ซึ่งผลแห่งการยึดมีความแตกต่างกันมากดังกล่าวมาแล้วเช่นกัน ซึ่งจะได้กล่าวในบทต่อไป ในกรณีของกลางมีจำนวนมากก็น่าที่จะแยกบัญชีของกลางออกต่างหากซึ่งจะเหมาะสมกว่า  แต่เหนืออื่นใดต้องไม่ลืมว่าจะต้องถามผู้ครอบครองทรัพย์ที่ยึดเป็นของกลางให้ได้ว่า  สิ่งของที่ใช้ในการกระทำความผิดทั้งเครื่องมือหรือยานพาหนะเหล่านั้นท่านได้แต่ใดมา  เพราะนี่คือประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง  ดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าของกลางในคดีป่าไม้โดยเฉพาะเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือก่อให้เกิดผลในการกระทำความผิดคือหัวใจของทุจริตชนในคดีป่าไม้  หากยึดไว้หรือตกเป็นของแผ่นดินได้จะกระทบกระเทือนต่อนายทุนผู้ทำลายทรัพยากรของชาติได้เป็นอย่างดี  เพราะคนที่รับจ้างไปกระทำความผิดเป็นเพียงชาวบ้านผู้ยากไร้  เมื่อถูกจับก็หมดความสำคัญกับนายทุนมีคนใหม่เข้ามาทดแทน และทดแทนในราคาที่ค่อนข้างต่ำ  ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้เป็นอุปกรณ์ที่มีราคาสูง  บางชนิดไม่อาจสั่งเข้ามาได้  การทำลายหรือการสกัดกั้นการนำอุปกรณ์มาใช้ในการกระทำความผิดในกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเป็นเสมือนหนึ่งการใช้มาตรการรายงานหรือแสดงตนในการทำธุรกรรมทางการเงินในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

 

การจัดทำแผนที่สถานที่เกิดเหตุ

การจัดทำแผนที่สถานที่เกิดเหตุ เป็นการจัดทำรายละเอียดที่จะทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น อันจะเป็นพยานหลักฐานฉบับที่สองที่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับเป็นผู้จัดทำขึ้น โดยปกติแล้ว หากการกระทำความผิดเกิดขึ้นในเขตป่าสงวนแห่งชาติก็ดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็ดี หรืออุทยานแห่งชาติก็ดี แผนที่เกิดเหตุควรมีสองฉบับ ฉบับแรกเป็นแผนที่ตามประกาศหรือตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งเป็นภาพใหญ่ของเขตรับผิดชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ ในแผนที่ฉบับนี้เพียงกำหนดจุดที่เกิดการกระทำความผิดเท่านั้น  ส่วนในแผนที่ฉบับที่สองนั้นเป็นแผนที่แสดงรายละเอียดเฉพาะบริเวณที่เกิดว่า พบผู้ต้องหาจุดใด ของกลางที่ยึดอยู่ตรงไหน เป็นต้น ทั้งหมดก็เพื่อป้องกันการโต้เถียงในชั้นพิจารณาของศาล อีกทั้งในการจัดทำแผนที่เกิดเหตุดังกล่าวให้ถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการทำ “บันทึก” ดังที่กฎหมายกำหนด นั่นคือต้องให้ผู้ต้องหาลงนามรับรองความถูกต้องของการจัดทำบันทึกนั่นเอง สำหรับในคดีสำคัญถ้าเป็นไปได้จะถ่ายภาพหรือถ่ายวีดีโอไว้ด้วยก็จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดีอย่างยิ่ง

 

สรุป การเพิ่มรายละเอียดเพียงเล็กน้อยรวมกับการใช้เทคนิคและวิธีคิดตามหลักที่กฎหมายกำหนดในการจัดทำบันทึกทุกชนิดที่พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้จัดทำขึ้น คือหัวใจสำคัญในการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับทรัพยากรของชาติ  เพราะพยานเอกสารเหล่านี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่โดยแท้ และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ว่ามานี้ คือคนของกรมป่าไม้ทั้งสิ้น ผู้เขียนจึงกล่าวเสมอว่าประสิทธิภาพจะมีมากน้อยเพียงใดในการดำเนินคดีอาญาอันเกี่ยวกับป่าไม้และสัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับดังกล่าวนั้น ล้วนขึ้นอยู่กับกรมป่าไม้แต่โดยลำพัง เพราะจะไม่มีคนนอกหรือผู้ที่ไม่มีส่วนรู้เห็นมาเกี่ยวข้องในฐานะพยานได้เลย หากคนของกรมป่าไม้มีความสามารถเพียงพอที่ใช้โอกาสและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อการควบคุมการดำเนินคดีอาญาในความผิดตามพระราชบัญญัติที่อยู่ในความรับผิดชอบได้ทั้งระบบและเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้โดยชอบ

 

บทที่  4

แง่มุมแห่งความสำเร็จ

 

ควบคุมการสอบสวน

ดังกล่าวมาในบทที่ 3 แล้วว่า ความสำคัญของการดำเนินคดีป่าไม้อยู่ที่การจับกุมและการบันทึกการจับกุมของเจ้าพนักงานป่าไม้  เพราะเป็นเอกสารฉบับแรกที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จัดทำขึ้น นอกจากนั้นเอกสารบันทึกการจับกุมนี้เปรียบเสมือนหนึ่งแผนแม่บทที่พนักงานสอบสวนจะใช้หรือยึดเป็นกรอบแนวทางในการสอบสวนขยายผลและรวบรวมพยานหลักฐานต่อไป  ฉะนั้นข้อเท็จจริงที่ถูกเรียบเรียงและบันทึกไว้ในบันทึกจับกุมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะเป็นการบันทึกครั้งแรกหลังเกิดเหตุและเรียกว่าแทบจะทันทีทันใด  การรวบรวมพยานหลักฐานในภายหลังที่กระทำโดยพนักงานสอบสวน หากจะมีการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือโดยไม่ตั้งใจ  หรือเกิดจากคำให้การชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาหรือผู้อื่นจึงต้องมีเหตุผลและความน่าเชื่อถือที่จะลบล้างข้อเท็จจริงเดิม  ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานป่าไม้ผู้ทำการจับกุมบันทึกข้อเท็จจริงโดยละเอียดของการพบเห็นการกระทำผิด  หรือคำให้การของผู้ถูกจับว่าเป็นมาอย่างไรจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความละเอียดละออของผู้บันทึก  เมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นตัวกำหนดให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานให้เกิดความชัดเจน  จึงเท่ากับว่าบันทึกการจับกุมคือเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการควบคุมการสอบสวนนั่นเอง  แต่อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจะต้องเป็นข้อจริงแท้ที่ได้พบเห็น  เพราะข้อเท็จจริงนี้เจ้าพนักงานป่าไม้จะต้องให้การยืนยันในชั้นสอบสวนอีกครั้ง หรือในกรณีที่ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาคดีเจ้าพนักงานป่าไม่ก็ต้องเบิกความในข้อเท็จจริงนี้เช่นเดียวกัน  ถ้าข้อเท็จจริงเป็นข้อจริงแท้ที่ได้พบเห็นก็ยากที่จะหลงลืม  แต่หากเป็นข้อเท็จและข้อจริงที่ตกเติมเสริมแต่ง  แม้จะบันทึกไว้ในบันทึกจับกุมก็ง่ายที่จะหลงลืม  และบางครั้งจะทำให้ขาดเหตุผลทางตรรกวิทยาในความเป็นไปได้ของความมีอยู่จริง  เพราะโดยหลักของการพิจารณาคดีของนักกฎหมายนั้นอย่างน้อยต้องมุ่งเน้นความเป็นธรรมชาติของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ  โอกาสที่ข้อเท็จจริงจะวิจิตรพิสดารเกินความเป็นจริงดังเช่นในคดีความผิดเกี่ยวกับชีวิตของอาชญากรอาชีพมักจะไม่มี  จึงต้องพึงระลึกเสมอว่าข้อเท็จจริงในบันทึกการจับกุมต้องมีมากพอและละเอียดจนเข้าใจได้ไม่ขัดสนและคลุมเครือ เพราะสิ่งนี้คือการควบคุมการสอบสวนนั่นเอง

ประเด็นสำคัญของการควบคุมการสอบสวนที่ต้องการ  ควรให้น้ำหนักไปที่ของกลางในคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดสิ่งของเป็นของกลางนั้นหากเป็นกรณียึดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ตามมาตรา 64 ทวิ วรรคหนึ่ง[50]จำเป็นต้องระบุให้ชัดเจน  เพราะผลการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางตามกฎหมายป่าไม้แตกต่างจากการยึดสิ่งของเป็นของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 ซึ่งเป็นหลักโดยทั่วไป กล่าวคือ สิ่งของใดที่เจ้าพนักงานยึดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85  เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด  เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่นที่มีสิทธิเรียกร้องขอคืนของกลาง เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น  ดังนั้นการสั่งเป็นอย่างอื่นจึงหมายถึงการสั่งริบนั่นเอง และการริบทรัพย์สินซึ่งโทษตามกฎหมายอาญานั้น โดยปกติจะริบได้ทรัพย์สินได้ก็ต่อเมื่อได้ความว่าทรัพยสินนั้นกฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่[51] และนอกจากศาลจะมีอำนาจริบทรัพย์สินของกลางตามกฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะได้ แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด ศาลก็ยังมีอำนาจริบทรัพย์สินเหล่านั้นได้ เว้นแต่ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด[52]  ซึ่งทรัพย์สินที่ไม่ได้ริบนี้หากเจ้าของไม่เรียกร้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้ส่งไว้ในความรักษาของกรมในรัฐบาล หรือถ้าได้ฟ้องคดีอาญาต่อศาลแล้ว นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่ถ้าไม่ทราบตัวเจ้าของท่านให้ผ่อนเวลาออกไปห้าปี[53] แต่หากพนักงานสอบสวนหรือพนักอัยการเห็นว่าของกลางดังกล่าวไม่มีความจำเป็นต้องใช้เป็นพยานหลักฐานและเป็นทรัพย์สินที่ไม่ริบได้ตามกฎหมาย จะคืนให้แก่เจ้าของก่อนคดีถึงที่สุดก็ย่อมทำได้เพราะกฎหมายให้อำนาจว่ายึดไว้จนคดีถึงที่สุด  ส่วนการยึดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 64 ทวิ เป็นข้อยกเว้นที่ไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327  จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดและใช้บังคับเฉพาะกรณีการยึดเครื่องมือเครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใดๆ ที่บุคคลได้ใช้หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด  หรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 11 ความผิดฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 48 ความผิดฐานแผ้วถางป่าโดยฝ่าฝืนกฎหมายตามมาตรา 54  หรือความผิดฐานมีไม้ซึ่งยังมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามมาตรา 69 เพื่อเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้จนกว่าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด อย่างไรก็ตามมิใช่ว่าการยึดดังกล่าวนี้เพื่อเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีเพียงเดียว แต่อาจต้องยึดเพื่อบังคับคดีในภายหลัง หากได้ความว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ต้องริบตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 74 ทวิ[54]  แต่การจะคืนทรัพย์สินที่ยึดไว้ดังกล่าวก่อนเวลาที่กำหนดในมาตรา 64 ทวิ คือก่อนที่พนักงานอัยการจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือคดีถึงที่สุดได้นั้นต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา  64 ตรี[55]  เท่านั้น  จึงเป็นกรณีพิเศษที่พนักงานสอบสวนไม่อาจคืนของกลางดังกล่าวก่อนถึงระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดดังเช่นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 85  และการขอคืนก่อนถึงระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวตามมาตรา 64 ตรี ในทางปฏิบัติแล้วแทบเป็นไปไม่ได้เพราะเงื่อนไขในประการแรกคดีนั้นพนักงานอัยการจะต้องสั่งไม่ฟ้อง  คำถามจึงอยู่ที่ว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าพนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง  โดยปกติพนักงานอัยการไม่อาจตอบคำถามในส่วนนี้ได้จนกว่าจะมีคำสั่งไม่ฟ้องและผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นชอบด้วยแล้วเท่านั้น  หรือในกรณีที่ศาลไม่พิพากษาให้ริบ  ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าศาลจะพิพากษาริบหรือไม่ริบของกลางดังกล่าว  ซึ่งในกรณีนี้อย่างน้อยก็จะมีแนวพื้นฐานว่าพนักงานอัยการจะต้องขอริบ  สำหรับในเงื่อนไขประเด็นที่สองที่ว่า ผู้ขอคืนจะต้องมีหลักฐานยืนยันว่าของกลางดังกล่าวไปอยู่ในความครอบครองของผู้ต้องหาเพราะผู้ต้องหากระทำความผิดในลักษณะทรัพย์ต่อเจ้าของ  การแสดงพยานหลักฐานตรงนี้ก็จำเป็นต้องมีการแจ้งความร้องทุกข์หรือการกล่าวโทษ  และหากสามารถแสดงหลักฐานดังกล่าวได้ผู้ต้องหาหรือผู้ที่ได้กระทำความผิดในคดีป่าไม้ดังกล่าวก็จะต้องถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์อีกกระทงหนึ่ง  และที่สำคัญที่สุดผู้มีอำนาจในการอนุมัติคืนคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   มิใช่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ หรือเจ้าพนักงานป่าไม้

 

สวนทางอำนาจรัฐ

                                ในความหมายที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อ หมายถึง ความชัดเจนของคำสั่งโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องของกลาง  สำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานกฤษฎีกามีความเห็นอย่างเดียวกันว่า ในกรณีที่พนักงานอัยการแจ้งให้พนักงานสอบสวนจัดการของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 นั้น เป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น มิใช่คำสั่ง  เจ้าพนักงานผู้ครอบครองของกลางจึงมีอำนาจที่จะคืนแก่เจ้าของได้  ในประเด็นนี้ผู้เขียนยังไม่เห็นพ้องด้วยเพราะเห็นว่า  คำสั่งฟ้องของพนักงานอัยการเป็นการออกคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายต่อตัวบุคคลเพื่อให้ต้องรับโทษทางอาญา  และโทษทางอาญานั้นนอกจากจะลงแก่เนื้อตัวร่างกายบุคคลคือประหารชีวิตและกักขังแล้วยังมีโทษที่จะบังคับแก่ทรัพย์สินของบุคคลด้วย  ฉะนั้นเมื่อสั่งฟ้องอันเป็นการกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายและทรัพย์สินได้  การคืนทรัพย์สินก็น่าที่จะเป็นการออกคำสั่งในทำนองเดียวกับการออกคำสั่งไม่ฟ้องเพราะเป็นการไม่บังคับแก่เนื้อตัวร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลเช่นเดียวกัน  ไม่ควรจะเป็นเพียงคำแนะนำอันจะทำให้เข้าใจไปว่าพนักงานอัยการไม่รับผิดชอบต่อการสั่งคืนของกลาง  และไม่สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามพันธกิจองค์กร  ส่วนการจะสั่งคืนแก่ใครก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าในสำนวนการสอบสวนบ่งชี้หรือไม่ว่าเป็นของผู้ใด  หากเป็นของบุคคลใดชัดเจนก็ต้องสั่งคืนแก่บุคคลนั้น  หากไม่ปรากฏแน่ชัดก็ต้องบังคับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1327

เมื่อเจ้าพนักงานป่าไม้ผู้เก็บรักษาของกลางได้รับสำเนาการแจ้งผลคดีเกี่ยวกับของกลางของพนักงานอัยการซึ่งมักจะระบุแต่เพียงว่า  “ ของกลางให้จัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 ” นั้น  โดยปกติพนักงานสอบสวนจะเป็นผู้ถ่ายสำเนาส่งให้หรือมิฉะนั้นพนักงานสอบสวนก็จะมอบให้ผู้อ้างตนเป็นเจ้าของมาแสดงเพื่อขอรับคืน  เจ้าพนักงานป่าไม้ผู้เก็บรักษาของกลางจะต้องแน่ใจว่าจะต้องคืนของกลางนั้นได้ให้แก่เจ้าของผู้มีสิทธิเรียกร้องอย่างแท้จริง  ดังนั้นก่อนการคืนของกลางทุกครั้งน่าจะมีหนังสือสอบถามไปยังพนักงานอัยการ และ/หรือพนักงานสอบสวนด้วยว่าจะคืนของกลางให้แก่ผู้ใด   โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ขอคืนไม่ตรงกับคำให้การของผู้ต้องหาตามที่ระบุไว้ใน บันทึกจับกุมที่เจ้าพนักงานป่าไม้ผู้จับกุมได้จดบันทึกไว้ในขณะที่ทำการจับกุม

การที่พนักงานอัยการมีความเห็นเกี่ยวกับของกลางว่าให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 นั้น มีกรณีน่าสังเกตว่า พนักงานอัยการไม่น่าจะแนะนำอย่างนั้นได้ หากได้ความว่าทรัพย์สินนั้นถูกยึดไว้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 64 ทวิ  ดังนั้นเฉพาะในกรณีนี้หากได้รับคำแนะนำว่าให้จัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85  เจ้าพนักงานป่าไม้ผู้เก็บรักษาของกลางควรต้องทักท้วงไปว่าคำแนะนำดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้อง และหารือต่อไปอีกว่าของกลางที่จะคืนนั้นควรดำเนินการตามพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 64 ทวิ ใช่หรือไม่  อย่างไรก็ตามหากเป็นกรณีที่ร้องขอคืนของกลางเกินหกเดือนนับแต่วันรับทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือคำพิพากษาถึงที่สุดที่ไม่พิพากษาให้ริบ  เจ้าพนักงานป่าไม้ต้องปฏิเสธที่จะคืนทันทีเพราะทรัพย์สินนั้นตกเป็นของกรมป่าไม้ไปแล้ว  เป็นการตกเป็นทรัพย์สินของกรมป่าไม้โดยผลของกฎหมายซึ่งเป็นการบัญญัติไว้เป็นพิเศษ

 

ปฏิบัติอย่างมีเงื่อนไข

เมื่อได้คำตอบจากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนที่ชัดเจนก็ปฏิบัติไปตามนั้น แต่ในกรณีที่ขาดความชัดเจนหรือขาดเหตุผลที่สอดคล้องกับกฎหมาย  เจ้าพนักงานป่าไม้ผู้เก็บรักษาของกลางจะคืนของกลางให้แก่ผู้ร้องขอหรือไม่นั้น อย่างน้อยถ้าไม่มั่นใจควรจะหารือเป็นทางการกับกรมป่าไม้เสียก่อน  แต่ในการดำเนินการตามขั้นตอนนี้ควรอย่างยิ่งที่จะต้องแจ้งให้ผู้ร้องขอทราบ  และควรให้ผู้ร้องขอลงลายมือชื่อรับทราบอย่างน้อยก็เพื่อเป็นการแสดงเจตนาบริสุทธิ์ว่าเพื่อเป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด  มิใช่ดำเนินการถ่วงเวลาให้ชักช้าหรือเพราะเหตุผลอื่น  อันจะเป็นการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

การปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวซึ่งประกอบไปด้วยทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรอบคอบในการบังคับใช้กฎหมาย  แม้จะขัดหูขัดตาพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการบ้าง  หรือแม้จะสร้างความหงุดหงิดให้กับเจ้าของที่แท้จริงบ้าง  ก็ต้องถือว่าเป็นมาตรการทางกฎหมายเท่าที่จะทำได้เพื่อป้องปรามรักษาทรัพยากรของชาติไว้เท่านั้น  การจะรักษาทรัพยากรของชาติไว้ได้นั้น  หาใช่ของเจ้าพนักงานป่าไม้แต่โดยลำพัง  พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนก็ต้องถี่ถ้วนกับการบังคับใช้ ในขณะเดียวกันประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินต่าง ๆ ที่อาจใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ก็ต้องพึงระมัดระวังการให้บุคคลอื่นใช้ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นด้วย  มิใช่ละเลยต่อหน้าที่ความเป็นพลเมืองดีของตน

 

บทที่  5

อวสานทุจริตชน

 

บทสรุป

ตั้งแต่บทบาท  อำนาจและหน้าที่  วิถีแห่งมรรควิธี  ทักษะพลวัตร  และแง่มุมแห่งความสำเร็จ ดังกล่าวมาแล้วคือ หัวใจของกรมป่าไม้ในการที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติในความดูแลรับผิดชอบให้คงอยู่ตลอดไป  ที่ผ่านมาแม้กรมป่าไม้จะมุ่งเน้นการปราบปรามมากเพียงใด แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือความร่อยหรอของทรัพยากรลงมากเท่านั้น  แต่เมื่อกรมป่าไม้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์มุ่งเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูควบคู่ไปกับการปราบปรามก็เป็นผลให้การถอดถอยของทรัพยากรลดน้อยลงและมีแนวโน้มที่น่าจะเพิ่มขึ้น  มาตรการที่สำคัญนอกจากจะเป็นมาตรการทางด้านรัฐศาสตร์แล้ว  มาตรการทางด้านกฎหมายก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพได้  ความเข้าใจในแง่มุมของกฎหมายของเจ้าพนักงานป่าไม้ต้องเปิดกว้างมากกว่าเดิม  เพราะภารกิจตามหน้าที่คือการป้องกันเป็นอันดับที่หนึ่ง และปราบปรามเป็นอันดับที่สอง  โดยต้องทำความเข้าใจว่าการใช้มาตรการป้องกันหมายรวมถึงการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าต้องกระทำความผิด และการตรวจค้นเพื่อหาสิ่งของที่ผิดกฎหมายโดยใช้เหตุตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้เป็นสำคัญ  ในลำดับถัดมาต้องพึงระลึกเสมอว่าเมื่อมีเหตุให้ค้นหรือมีเหตุให้จับ  และเหตุนั้นมีมูลเพียงพอก็ต้องดำเนินการจับหรือค้นไปตามหน้าที่  ส่วนการจะดำเนินคดีได้มากน้อยเพียงใด  ฟ้องหรือไม่ฟ้อง เป็นเรื่องของพยานหลักฐานและความสามารถของเจ้าพนักงานผู้ทำการจับกุม  การที่เข้าใจว่าถ้าจับกุมแล้วต้องฟ้องและถ้าไม่ฟ้องเจ้าพนักงานจะต้องถูกดำเนินคดีนับเป็นความคิดที่ทำลายความตั้งใจของเจ้าพนักงานป่าไม้ไม่น้อย  ต้องแยกให้ออกว่าการจับ หรือการค้นคนละเรื่องกับการฟ้อง  และการฟ้องคดีก็เป็นคนละเรื่องกับการพิพากษาคดี  การริบหรือไม่ริบทรัพย์สินอื่นใดต้องเข้าใจว่าแต่ละฝ่ายล้วนมีเหตุผล  แต่เหตุผลฝ่ายใดจะดีกว่ากันก็สุดแท้แต่ความเชี่ยวชาญในการบังคับใช้กฎหมาย  ฉะนั้นเพื่อให้ได้ผลอย่างจริงจังเจ้าพนักงานป่าไม้ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดทั้งสี่ฉบับจะต้องทำความเข้าใจและศึกษาขอบเขตความผิดและอำนาจตามที่กฎหมายแต่ละฉบับกำหนด  และต้องเชี่ยวชาญในวิธีปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความ  เพราะเป็นกฎกติกาที่จำเป็นต้องล่วงละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลเมื่อต้องดำเนินคดี  หากได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของนิติปรัชญาของกฎหมายแต่ละเรื่องจะทำให้มองเห็นภาพกว้างในทางปฏิบัติ  ไม่วิตกจริตอยู่กับการที่ตนเองจะต้องถูกดำเนินคดี  อย่างไรก็ตามการปฏิบัติงานตามกฎหมายนั้นมีสองคมสองด้าน  ด้านหนึ่งจะเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม  อีกด้านหนึ่งจะซ่อนเร้นและแอบแฝงไปด้วยผลประโยชน์  การเลือกด้านใดด้านหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับสำนึกและจริยธรรมของความเป็นเจ้าพนักงาน

นายวีระกร  คำประกอบ  รองประธานกรรมาธิการร่วมสองสภาที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. …..  ได้ตอบคำถามนายอดิศร  เพียงเกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2542  ว่าเหตุที่ไม่ได้นำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเข้าไปกำหนดเป็นความผิดมูลฐานในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. …..  เนื่องจากว่า ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติมีกฎหมายหลักเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงใช้บังคับอยู่แล้ว  เพียงแต่เจ้าหน้าที่ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังประกอบกับมีเจ้าหน้าที่เข้ามีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วย  ดังนั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ปราบปรามอย่างจริงจังก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดให้เป็นความผิดมูลฐานไว้ในร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. …..และพยานหลักฐานในคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาตินั้นจะปรากฏให้เจ้าหน้าที่เห็นได้อย่างชัดเจนเพราะมีลักษณะใหญ่โต  มีจำนวนมากและเคลื่อนย้ายหลบหนียากมาก  เช่น  ท่อนซุง  หิน  แร่

ที่ยกมากล่าวไว้ข้างบนนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความรู้สึกทางสังคมที่มีต่อเจ้าพนักงานป่าไม้  ดังนั้นการที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติหมดสิ้นไปได้  จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับแนวความคิดในการดำเนินคดีโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมากกว่าการใช้ความรู้สึกนึกคิดของตนเองเป็นที่ตั้ง  ซึ่งจะทำให้ผลการดำเนินคดีบรรลุเป้าหมายได้ตามต้องการ

 

นวัตกรรมใหม่

ปัญหาที่สำคัญอันเป็นตัวทำลายความรู้สึกในการอยากปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานป่าไม้  แม้กรมป่าไม้จะพยายามพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องไปอย่างไรก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อผิดพลาดทางนิติวิธีอยู่เสมอนั่นก็คือความต้องการที่จะยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด  โดยเริ่มตั้งแต่เพิ่มอำนาจตามมาตรา 64 ทวิให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  หรือกำหนดให้ทรัพย์สินจะต้องถูกริบเสียทั้งสิ้นตามมาตรา 74 ทวิ  โดยแก้ไขเมื่อปี พ.ศ. 2522  ซึ่งผ่านการบังคับใช้มานานพอสมควรและมีการตีความโดยศาลฎีกา  คณะกรรมการกฤษฎีกา  หรือพนักงานอัยการ  ว่าการบัญญัติกฎหมายดังกล่าวไม่สมประสงค์อย่างที่กรมป่าไม้ต้องการ เพราะการริบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดยังคงบังคับตามบทบัญญัตทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา  เป็นที่เข้าใจอยู่ว่าพระราชบัญญัติป่าไม้พยายามจะลอกเลียนวิธีการยึดและริบทรัพย์สินมาจากกฎหมายอื่น  แต่ก็หยิบยกมาไม่ทั้งหมด  ในขณะเดียวกันมีกฎหมายอื่นที่ได้รับการพัฒนาไปแล้ว และสามารถใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการนำข้อบกพร่องของการบัญญัติกฎหมายในเรื่องการริบมาปรับปรุงใหม่  ดังจะเห็นได้จากการริบของกลางตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510  โดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510  (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528  ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่  14  กุมภาพันธ์ 2528  โดยแก้ไขในมาตรา 154  วรรคสอง  ที่แก้ไขใหม่มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และเมื่อพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกัน เพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทั้งนี้ไม่ว่าในคดีดังกล่าวจะปรากฏตัวบุคคลซึ่งอาจเชื่อว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และตามมาตรา 154 วรรคสาม กำหนดว่า ในกรณีไม่มีผู้ใดอ้างตัวเป็นเจ้าของก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวได้ เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันแรกของวันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันตามวรรคสอง และในกรณีนี้มิให้นำมาตรา 36 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ

อีกตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนากฎหมาย คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542  ที่นำมาใช้บังคับโดยเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามผู้กระทำความผิดในความผิดต่าง ๆ เช่น  ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด  ความผิดเกี่ยวกับการค้าหญิงและเด็ก   ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน  ความผิดเกี่ยวกับสถาบันการเงิน  ความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ  ความผิดเกี่ยวกับศุลกากร  เป็นต้น  โดยใช้มาตรการทำลายหรือยับยั้งผลประโยชน์ที่เกิดจากการกระทำความผิดเหล่านั้น  เริ่มต้นจากตัวทรัพย์สินไปหาคนแทนที่จะเริ่มต้นจากคนไปหาตัวทรัพย์สิน  และปรับเปลี่ยนแนวคิดการใช้มาตรการริบทรัพย์สินทางอาญามาเป็นการริบทรัพย์สินทางแพ่งเพราะเห็นว่ามาตรการริบทรัพย์สินทางอาญาเป็นการริบทรัพย์สินที่เน้นว่าต้องมีตัวผู้ต้องหาว่าต้องกระทำความผิดก่อน  จึงจะสามารถริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดได้ และตัวผู้กระทำความผิดนั้นต้องถูกลงโทษในความผิดที่ได้กระทำด้วย  โดยภาระการพิสูจน์ตกเป็นของพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์  แต่มาตรการริบทรัพย์สินทางแพ่ง  เป็นการริบทรัพย์สินที่เน้นตัวทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเป็นหลัก  ส่วนจะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้หรือไม่นั้นไม่สำคัญ  เพราะถือว่าเป็นส่วนที่แยกออกไปต่างหาก  โดยจะใช้การดำเนินการทางอาญาต่อตัวผู้กระทำผิดอีกทางหนึ่ง  และในมาตรการริบทรัพย์สินทางแพ่งนี้ได้ผลักภาระการพิสูจน์เกี่ยวกับทรัพย์สินให้ตกเป็นของจำเลยหรือเจ้าของทรัพย์สินที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าทรัพย์สินนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตามที่พนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ได้พิสูจน์ต่อศาลว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เข้าข้อสันนิษฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริตซึ่งจะต้องถูกริบ  นับเป็นการเปลี่ยนภาระการ พิสูจน์  (Reverse Burden of Proof)  มาใช้เต็มรูปแบบ

หลักการริบทรัพย์สินทางแพ่ง  (Civil Forfeiture)  เป็นการดำเนินการทางแพ่งต่อทรัพย์สิน  (In Rem)  และเป็นคนละส่วนกับการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคล  (In Personam)  จึงไม่ต้องอ้างอิงความผิดทางอาญาเพื่อเป็นเงื่อนไขในการริบทรัพย์ เพียงแค่มีเหตุอันควรสงสัย  (Probable Cause)  ก็เพียงพอที่จะเริ่มกระบวนการริบทรัพย์สินแล้ว  โดยไม่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย  ลำพัง  “เหตุอันควรสงสัย”  คือพื้นฐานความเชื่ออย่างสมเหตุสมผลว่ามีความผิดโดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ และพยานแวดล้อมเท่าที่เจ้าหน้าที่มีอยู่ ซึ่งอาจจะมาจากคำรับสารภาพของเจ้าของทรัพย์สินหรือจากผู้รับผิดชอบดูแลทรัพย์สินที่ถูกยึด หรือคำให้การของผู้ร่วมสมคบ  เมื่อมีการนำเหตุอันควรสงสัยมาแสดง  เจ้าของทรัพย์สินจะต้องแสดงตัวและพิสูจน์ว่าทรัพย์สินของตนไม่ควรถูกริบ

แนวความคิดเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะพบเห็นในกฎหมายอีกหลายฉบับ เพราะการทำลายและยับยั่งทุนหรือรายได้ของผู้กระทำความผิดจะทำให้เกิดความชั่งใจก่อนลงมือกระทำความผิดได้มากกว่า ซึ่งบางคราวเมื่อเกิดเหตุอันควรสงสัยขึ้นแก่กลุ่มนายทุน ก็จะสร้างความเดือรอนให้แก่กลุ่มนายทุนได้มากกว่าการดำเนินคดีแก่ลูกน้องนายทุนที่มักจะไม่สามารถดำเนินการให้ถึงตัวกลุ่มนายทุนเหล่านั้น เพราะมีการตัดทอนอยู่เสมอ

ดังนั้น โดยสรุปแล้วหากจะให้เกิดผลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในการป้องกันและปราบปราม ทรัพยากรธรรมชาติเกี่ยวกับป่าไม้ กรมป่าไม้ หรือ ผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองนี้ที่ตั้งใจจริงจะรักษาป่าไม้และสัตว์ป่าเอาไว้ให้ได้ มิใช่เพียงการแสดงเพื่อให้เกิดความศรัทธาหรือว่ากล่าวไปตามกระแสน่าจะต้องทบทวนและปรับเปลี่ยนแก้ไขเครื่องมือที่ใช้ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติป่าไม้ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ซึ่งอาจใช้แนวทางการริบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติแร่ หรือมิฉะนั้น ก็ผลักดันให้ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเป็นความผิดหนึ่งในความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  เป็นต้น  ทั้งสองแนวทางนี้น่าจะเป็นมาตรการที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันได้มากที่สุด  และเชื่อว่าน่าจะเห็นแนวความคิดนี้ปรากฏเป็นรูปธรรมได้ในเร็ววัน  หากว่ากรมป่าไม้ในยุคปัจจุบันซึ่งมีผู้นำที่มีศักยภาพและอิทธิพลทางสังคมเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้น  ส่วนจะทำได้ขนาดไหนหรือเพียงใดก็สุดแท้แต่คุณภาพของรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย

õõõõõõõõõõõõ

 

 


[1] มาตรา 4 (16) “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า เจ้าพนักงานป่าไม้ พนักงานป่าไม้ หรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

[2] มาตรา 4 “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

[3] มาตรา 3 “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

[4] มาตรา 4  “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

[5] มาตรา 3 “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

[6] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (16) “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ” หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้รวมทั้งพัศดี เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า พนักงานตรวจคนเข้าเมือง และพนักงานอื่นๆ  ในเมื่อทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมาย ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องจับกุมหรือปราบปราม

[7] มาตรา 64  ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้  ที่เกี่ยวกับความผิดอาญา ให้ถือว่าพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

[8] มาตรา 20  ในการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่าย

  ปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

[9] มาตรา 26  ในการจับกุม  ปราบปรามผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่าย  ปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

[10] มาตรา 45   ในการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

[11] มาตรา 22  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้  ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

[12]  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (16)  อ้างแล้ว ลำดับ 6 หน้า 2

[13]  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(10) “การสืบสวน”  หมายความถึง การแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน  ซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด

[14]  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 69 (2)  เพื่อพบและยึดสิ่งของมีไว้เป็นความผิด  หรือได้มาโดยผิดกฎหมาย  หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด

[15]ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (16)  อ้างแล้ว ลำดับ 6 หน้า 2

[16] มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[17] มาตรา 200 วรรคสอง  ถ้าการกระทำหรือไม่กระทำนั้น เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

[18] มาตรา 150 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งโดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนจะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

[19] มาตรา 148 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต

[20] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจทำการสืบสวนคดี อาญาได้

[21] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(10) อ้างแล้วลำดับที่ 13 หน้า 5

[22] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(11) “การสอบสวน” หมายถึงการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิด และเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

[23] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 52 วรรคแรก  การที่จะให้บุคคลใดมาที่พนักงานสอบสวนหรือมาที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือมาศาล เนื่องในการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณาคดี หรือการอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ จักต้องมีหมายเรียกของพนักงานสอบสวน หรือพนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่ หรือของศาล แล้วแต่กรณี

[24] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา 30

[25] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา 237

[26] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78

[27] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 80

[28] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83

[29] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84

[30] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวน หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว สกุล ชาติ บังคับ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งข้อหาให้ทราบ และต้องบอกให้ทราบก่อนว่า ถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันเขาในการพิจารณาได้ เมื่อผู้ต้องหาให้การอย่างใด ก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลย ก็ให้บันทึกไว้

[31] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 81

[32] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93

[33] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92

[34] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 94

[35] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102 วรรคแรก

[36] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 100

[37] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96

[38] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102 วรรคสอง

[39] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 101

[40] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 104

[41] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 วรรคท้าย

 

[42] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 69 (2) อ้างแล้วลำดับที่ 14 หน้า 5

[43] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85

[44] พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา  64 ทวิ

[45] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226

[46] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคสาม

[47] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 9

[48] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 11

[49] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 12

 

[50] พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 64 ทวิ วรรคหนึ่ง  “ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้ใช้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด  หรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา 11  มาตรา 48  มาตรา 54  หรือมาตรา 69  ไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีได้  จนกว่าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือจนกว่าคดีถึงที่สุด  ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำความผิดหรือของผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่”

[51] ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 32

[52] ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 33

[53] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327

[54] พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 74 ทวิ   “บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้ใช้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด  หรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา 11  มาตรา 48  มาตรา 54  หรือมาตรา 69  ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่”

[55] พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 64 ตรี   “ในกรณียึดทรัพย์สินไว้ตามมาตรา 64 ทวิ มิใช่เป็นของผู้กระทำความผิด หรือของผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุมัติรัฐมนตรีคืนทรัพย์สินหรือเงินแล้วแต่กรณีให้แก่เจ้าของก่อนถึงกำหนดตามมาตรา 64 ทวิได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(1)    เมื่อทรัพย์สินนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีที่เป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นถูกยึด  และ

(2)  เมื่อผู้กระทำความผิด หรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดได้ทรัพย์สินนั้นมาจากผู้เป็นเจ้าของโดยการกระทำความผิดทางอาญา